ศาลอาชญากรรมระหว่างประเทศรับปาเลสไตน์เข้าเป็นผู้สังเกตการณ์ เทียบเท่ากับสหรัฐฯ รัสเซีย และรัฐผู้สังเกตการณ์อื่นๆ โดยการตัดสินใจดังกล่าวคาดว่าจะนำไปสู่การสอบสวนอาชญากรรมสงครามที่ก่อโดยอิสราเอลในดินแดนปาเลสไตน์
ศาลอาชญกรรมระหว่างประเทศหรือ ICC ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ รับปาเลสไตน์เข้าเป็นผู้สังเกตการณ์ของศาลเรียบร้อยแล้วเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นสถานะเดียวกับสหรัฐฯ รัสเซีย ไทย และอีกหลายประเทศที่ไม่ได้ให้สัตยาบันในธรรมนูญกรุงโรมอันเป็นกฎหมายระหว่างประเทศในการก่อตั้ง ICC ทั้งนี้ ICC ถือเป็นองค์กรซึ่งก่อตั้งขึ้นจากกฎหมายระหว่างประเทศแห่งแรกที่ให้การยอมรับปาเลสไตน์
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอัลจาซีราวิเคราะห์ว่า การรับปาเลสไตน์เข้าเป็นผู้สังเกตการณ์เท่ากับว่า ICC ให้การรับรองสถานะความเป็นรัฐของปาเลสไตน์ไปโดยปริยาย และการตัดสินใจดังกล่าวยังถือเป็นก้าวย่างสำคัญที่จะเปิดทางให้ ICC สามารถเข้าไปทำการสืบสวนสอบสวนการก่ออาชญากรรมสงครามของอิสราเอลในดินแดนปาเลสไตน์ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายในอนาคต หากปาเลสไตน์ยื่นเรื่องร้องขอมายัง ICC
สำนักข่าวอัลจาซีราระบุด้วยว่า การรับปาเลสไตน์เข้าเป็นผู้สังเกตการณ์ ทำให้ปาเลสไตน์สามารถแสดงความจำนงร่วมลงนามในธรรมนูญกรุงโรมเพื่อเข้าเป็นสมาชิกของ ICC ได้ง่ายขึ้นในอนาคต อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจของ ICC จะไม่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสถานะของปาเลสไตน์ในองค์การสหประชาชาติหรือ UN และหน่วยงานอื่นๆ ของ UN เนื่องจาก ICC เป็นองค์กรอิสระซึ่งไม่ได้ขึ้นตรงต่อ UN
ขณะที่อิสราเอลซึ่งประกาศตัวว่าจะไม่ลงนามในธรรมนูญกรุงโรมของ ICC นั้นยังไม่มีปฏิกิริยาต่อเรื่องนี้แต่อย่างใด ส่วนหนึ่งอาจgxHogriktการเมืองภายในของอิสราเอลเองกำลังวุ่นวาย โดยล่าสุด สภาอิสราเอลโหวตยุบสภาตามญัตติที่เสนอโดยนายเบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอล���ป็นที่เรียบร้อยแล้ว
โดยการเลือกตั้งครั้งใหม่ของอิสราเอลจะมีขึ้นในวันที่ 17 มีนาคมปีหน้า ซึ่งผลการสำรวจความคิดเห็นหลายสำนักก็ระบุว่า นายเนทันยาฮูมีโอกาสชนะการเลือกตั้งเป็นสมัยที่ 4 เนื่องจากชาวอิสราเอลส่วนใหญ่ยังคงให้การสนับสนุนการดำเนินนโยบายด้านความมั่นคงอันแข็งกร้าวต่อปาเลสไตน์ของเขาต่อไป
การสู้รบระหว่างอิสราเอลและกองกำลังฮามาสในฉนวนกาซาเกิดขึ้นเป็นระยะๆ ตลอดหลายปีที่ผ่านมา โดยการสู้รบครั้งล่าสุดกินเวลา 50 วัน เมื่อเดือนกรกฏาคมถึงสิงหาคมที่ผ่านมา ทำให้มีชาวปาเลสไตน์เสียชีวิตอย่างน้อย 2,100 ราย ส่วนใหญ่เป็นพลเรือน ขณะที่จำนวนผู้เสียชีวิตฝั่งอิสราเอลอยู่ที่ 66 ราย โดยเป็นพลเรือนเพียง 6 ราย และ 1 ในนั้นเป็นแรงงานชาวไทยที่ไปทำงานในอิสราเอล