ที่อยู่อาศัยหรือสถาปัตยกรรม นับเป็นหนึ่งในปัจจัย 4 แต่สถาปัตยกรรมมีบทบาทต่อสังคมการเมืองมากกว่าที่คิด
“เราสร้างอาคาร แต่หลังจากนั้น อาคารคือผู้สร้างเรา” นี่เป็นคำกล่าวของ วินสตัน เชอร์ชิล อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษเมื่อกลางศตวรรษ 20 เพื่อชี้ให้เห็นว่าอาคารที่อยู่อาศัยนั้นมีอำนาจมากต่อความคิดและพฤติกรรมของมนุษย์
งานสถาปัตยกรรมถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองมาตั้งแต่โบราณ เช่นแสดงถึงอำนาจความยิ่งใหญ่ของผู้ปกครอง ซึ่งผู้มาเยือนต้องรู้สึกยำเกรง ระยะหลังมีงานศึกษาจำนวนมากชี้ว่า สถาปัตยกรรมไม่ได้เป็นเพียงสิ่งก่อสร้างเพื่ออยู่อาศัยเท่านั้น แต่สามารถสื่อสารความเชื่ออุดมการณ์ต่างๆ ให้เห็นเป็นรูปร่าง
ตัวอย่าง สถาปัตยกรรมยุคใหม่ที่มีแนวคิดชี้นำอุดมการณ์การเมืองคือ อาคารรัฐสภาของบังกลาเทศ ออกแบบโดยสถาปนิกชาวอเมริกันชื่อ หลุยส์ คาน ใช้เรื่องประชาธิปไตยเป็นแนวคิดหลักในการออกแบบ เช่น ออกแบบให้ห้องประชุมสภาซึ่งประชาชนเลือกตัวแทนเข้ามาทำงานเป็นแกนกลางของอาคาร สื่อว่าศูนย์รวมอำนาจคือตัวแทนประชาชน มีแสงแดดจากหลังคาส่อง สื่อถึงความโปร่งใสของการปกครอง ห้องประชุมมีช่องเปิดด้านบนซึ่งมีทางเดินล้อมรอบให้ประชาชนมองลงมาเห็นการประชุมได้จากทุกทิศ สื่อว่าประชาชนสามารถตรวจสอบผู้แทนได้อย่างตรงไปตรงมา ซึ่งชาวบังกลาเทศมองสถาปัตยกรรมรัฐสภาเป็นสิ่งก่อสร้างตัวแทนของแนวคิดประชาธิปไตย
สำหรับประเทศไทย แนวคิดที่มักใส่ในงานสถาปัตยกรรมสำคัญของรัฐคือ ความเป็นไทย และความศักดิ์สิทธิ์ เช่น แบบรัฐสภาแห่งใหม่ที่ชนะการประกวดเมื่อปี 2552 ใช้คติไตรภูมิที่มีเขาพระสุเมรุเป็นศูนย์กลางจักรวาลเป็นแนวคิดหลักในการออกแบบ โดยแกนกลางของอาคารคือมณฑปประดิษฐานพระสยามเทวาธิราช และโถงพระราชพิธี มีห้องประชุมสภาเป็นองค์ประกอบรอง ผู้ออกแบบชี้ว่าเป็นสถาปัตยกรรมเพื่อฟื้นจิตใจของคนในชาติ เมื่อเกิดวิกฤตความเสื่อมศีลธรรม
ตัวอย่างที่สำคัญในการใช้สถาปัตยกรรมเพื่อปลูกฝังอุดมการณ์ทางสังคมนั้น อาจเป็นสถานที่ใกล้ตัวที่ทุกคนคุ้นเคยมาก่อนอย่าง โรงเรียน หรือมหาวิทยาลัย
ความเป็นไทยในประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมไทยไม่ได้มีแบบเดียวเท่านั้น หลังเหตุการณ์ปฏิวัติปี 2475 รูปแบบอาคารของรัฐมักสร้างให้มีลักษณะเรียบเกลี้ยง ไม่นิยมประดับลวดลายใดๆ เพื่อแสดงถึงความทันสมัย ความเสมอภาค และนิยามความเป็นไทยแบบใหม่ ไม่มีสัญลักษณ์ของการแบ่งชนชั้นเหมือนสถาปัตยกรรมแบบโบราณ และยังคงเหลือร่องรอยให้เห็น เช่น อาคารริมถนนราชดำเนิน
และศาลากลางจังหวัดอยุธยาหลังเก่า ซึ่งชี้ให้เห็นว่าแนวคิดเรื่องความเป็นไทยในสถาปัตยกรรมนั้นไม่ใช่สิ่งที่ตายตัว แต่ปรับเปลี่ยนได้หลากหลายไปตามยุคและสภาพสังคมการเมือง