รัฐบาลท้องถิ่นญี่ปุ่นอนุมัติการเปิดโรงไฟฟ้าเซนได ถือเป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งแรกที่จะเปิดใช้งานหลังเหตุกัมมันตรังสีรั่วไหลที่ฟุกุชิมะเมื่อ 3 ปีที่แล้ว ขณะที่ชาวญี่ปุ่นจำนวนมากยังคงกังวลว่าจะเกิดโศกนาฏกรรมนิวเคลียร์ซ้ำรอย
นายอิโต ยูอิจิโระ ผู้ว่าราชการจังหวัดคาโงชิมะของญี่ปุ่น ลงนามรับรองการเปิดใช้งานเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ทั้ง 2 เตาของโรงไฟฟ้าเซนได โดยการลงนามครั้งนี้ถือเป็นขั้นตอนสุดท้ายของการอนุมัติการเปิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อีกครั้ง หลังจากเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา คณะกรรมการพิจารณาความปลอดภัยของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งญี่ปุ่น ให้การรับรองว่าโรงไฟฟ้าเซนไดผ่านมาตรฐานความปลอดภัยชุดใหม่ที่กำหนดขึ้นหลังเหตุการณ์ฟุกุชิมะ
โดยคาดว่าโรงไฟฟ้าแห่งนี้จะกลับมาผลิตกระแสไฟฟ้าได้ตามปกติในต้นปีหน้า เนื่องจากหลังการรับรองจากรัฐบาลท้องถิ่น ยังต้องมีการตรวจเช็คระบบรักษาความปลอดภัยภายในโรงไฟฟ้าซ้ำอีกครั้งโดยคณะกรรมการนิวเคลียร์ ก่อนจะเปิดใช้งานจริง
โรงไฟฟ้าเซนไดเป็นโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งแรกในญี่ปุ่นที่จะกลับมาเปิดทำการตามปกติอีกครั้ง หลังจากเกิดเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่และสึนามิในญี่ปุ่นเมื่อเดือนมีนาคม ปี 2011 ซึ่งส่งผลให้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะระเบิด และมีกัมมันตรังสีรั่วไหลออกสู่พื้นที่โดยรอบเป็นจำนวนมาก จนกลายเป็นวิกฤตการณ์นิวเคลียร์ครั้งร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่งของโลกรองจากกรณีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลของยูเครนระเบิดเมื่อปี 1986
หลังจากโศกนาฏกรรมฟุกุชิมะ ชาวญี่ปุ่นก็เกิดความหวาดระแวงพลังงานนิวเคลียร์ จนในที่สุดรัฐบาลญี่ปุ่นก็ต้องสั่งระงับการใช้งานโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั้ง 48 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งคิดเป็นแหล่งผลิตกระแสไฟฟ้าถึงร้อยละ 30 ของญี่ปุ่น
อย่างไรก็ตาม เมื่อพรรค LDP ของนายชินโซ อาเบะ ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง นายอาเบะในฐานะนายกรัฐมนตรี ได้พยายามผลักดันนโยบายปฏิรูปพลังงาน โดยให้ญี่ปุ่นกลับมาพึ่งพาพลังงานนิวเคลียร์อีกครั้ง เนื่องจากการงดใช้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทำให้ประเทศต้องนำเข้าน้ำมันปิโตรเลียมปริมาณมหาศาลมาเพื่อใช้ผลิตกระแสไฟฟ้า จนทำให้รัฐบาลขาดดุลการค้าอย่างหนัก และทำให้เศรษฐกิจของประเทศย่ำแย่ลงกว่าเดิม
นโยบายผลักดันการเปิดใช้งานเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ของรัฐบาล ทำให้ชาวญี่ปุ่นจำนวนมากไม่พอใจ โดยมีการจัดการประท้วงต่อต้านพลังงานนิวเคลียร์อย่างต่อเนื่องทั้งในกรุงโตเกียวและเมืองใหญ่ต่างๆของญี่ปุ่น ซึ่งมีผู้สนใจเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก แต่ก็ไม่สามารถต้านทานการล็อบบีจากบรรดาบริษัทเอกชนยักษ์ใหญ่และรัฐบาลได้