ไม่พบผลการค้นหา
ฟิลิปปินส์เป็นประเทศที่ติดอันดับต้นๆของโลกว่าเป็นประเทศที่อันตรายที่สุด สำหรับสื่อมวลชน แต่หลายคนก็ยังยกย่องว่า สื่อฟิลิปปินส์มีเสรีภาพมากกว่าหลายประเทศในกลุ่มประเทศอาเซียน สื่อฟิลิปปินส์ยังยึดมั่นในหน้าที่ท่ามกลางกระบอกปืนได้อย่างไร

ฟิลิปปินส์เป็นประเทศที่ติดอันดับต้นๆของโลกว่าเป็นประเทศที่อันตรายที่สุด สำหรับสื่อมวลชน แต่หลายคนก็ยังยกย่องว่า สื่อฟิลิปปินส์มีเสรีภาพมากกว่าหลายประเทศในกลุ่มประเทศอาเซียน สื่อฟิลิปปินส์ยังยึดมั่นในหน้าที่ท่ามกลางกระบอกปืนได้อย่างไร 
        
จากผลการจัดอันดับเสรีภาพสื่อขององค์กรนักข่าวไร้พรมแดนปีนี้ กลุ่มประเทศอาเซียนดูจะไม่ให้ความสำคัญกับเสรีภาพสื่อมากเท่าที่ควร โดยส่วนใหญ่จะเกาะกลุ่มกันอยู่ที่อันดับที่ 130 - 150 ส่วนลาวและเวียดนามอยู่อันดับรั้งท้าย ประมาณอันดับ 170 จากทั้งหมด 180 ประเทศ ซึ่งเป็นผลมาจากการปกครองแบบสังคมนิยมที่รัฐยังคงควบคุมสื่อต่างๆอยู่ แต่สำหรับฟิลิปปินส์ ที่อยู่ในอันดับที่ 149 กลับไม่ได้มีปัญหาที่รัฐเข้ามาควบคุมสื่อมากเกินไป

แต่นายดังเต อัง ประธานบริษัทหนังสือพิมพ์ มะนิลา ไทม์ส หนังสือพิมพ์ที่เก่าแก่ที่สุดของฟิลิปปินส์กล่าวว่า ความรุนแรงต่อผู้สื่อข่าวเป็นปัญหาใหญ่มาก จนติดอันดับหนึ่งในประเทศที่อันตรายที่สุดในโลกสำหรับการเป็นสื่อมวลชน เพราะนอกจากจะมีกฎหมายหมิ่นประมาททำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง ที่มีการแก้ไขให้มีบทลงโทษที่หนักขึ้นเรื่อยๆ ด้วยการปรับเงิน 150 - 1,500 บาท หรือจำคุก 1 - 6 เดือน หรือทั้งจำทั้งปรับ ก็ยังมีความเสี่ยงในชีวิตที่ต้องเผชิญก็คือ การข่มขู่ ทำร้ายร่างกาย หรือ"ถูกเก็บ"โดยผู้มีอิทธิพลที่ถูกเปิดโปง

อย่างไรก็ตาม นายอังมองว่า แม้ต้องเผชิญอันตรายจากมาเฟีย แต่สื่อมวลชนก็ยังมีเสรีภาพในการนำเสนอข่าวค่อนข้างมาก รัฐไม่สามารถเข้ามาจัดการโดยตรงด้วยการอ้างความมั่นคงของชาติอย่างในประเทศที่ปกครองด้วยระบอบสังคมนิยม หรือประเทศที่มีทหารกุมอำนาจ แต่กว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ มะนิลา ไทม์ส และสื่ออื่นๆในฟิลิปปินส์ก็ต้องผ่านยุคเผด็จการของเฟอร์ดินาน มาร์กอสที่จำกัดเสรีภาพสื่อมาอย่างสาหัส กว่าจะมาถึงยุคประชาธิปไตย

นอกจากนี้ นายอังยังมองว่า สื่อในประเทศอาเซียนจะต้องไม่ยอมตกเป็นเหยื่อของรัฐบาลที่กดขี่ แต่จะต้องพยายามต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ซึ่งการนำเสนอข่าวอย่างเที่ยงตรงของสื่อมวลชนจะเป็นการขยายขอบเขตเสรีภาพในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน และไม่ใช่แค่ให้พวกเขาได้รับรู้ข้อเท็จจริงเพื่อให้เป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชนเท่านั้น แต่เพื่อสังคมที่ดีขึ้นด้วย

นายอังยังทิ้งท้ายว่า สื่อมวลชนควรมีบทบาทในการส่งเสริมและผลักดันให้ประชาชนมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นมากขึ้นในประเทศ เพราะฐานันดรที่ 4 ของสื่อมวลชนนั้น ไม่ใช่ได้มาด้วยการเป็นกระบอกเสียงให้กับผู้มีอำนาจ แต่ด้วยการตรวจสอบและสืบหาความจริงให้สังคมได้รับรู้

 

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
185Article
76559Video
0Blog