ช่วง culture corner สัปดาห์นี้ จะพาคุณผู้ชมไปเยือนเมืองปากเซ ศูนย์กลางเศรษฐกิจแห่งลาวใต้ ที่นี่แม้จะขึ้นชื่อเรื่องสถานี่ท่องเที่ยวเชิงนิเวศมากกว่าวัฒนธรรม แต่ก็ยังมีวัดเก่าแก่ที่มีประวัติความเป็นมาน่าสนใจอย่างวัดหลวงปากเซ ศูนย์กลางการเรียนรู้พุทธศาสนาของแขวงจำปาสัก
วัดหลวงปากเซ ตั้งอยู่ใจกลางย่านเมืองเก่า แวดล้อมด้วยตึกทรงโคโลเนียลที่หลงเหลือมาจากสมัยฝรั่งเศสเจ้าอาณานิคม วัดนี้เป็นวัดสำคัญที่สุดในเมืองปากเซ และเป็นหนึ่งในศาสนสถานสำคัญของแขวงจำปาสักแห่งลาวใต้ แม้ว่าที่นี่จะไม่ได้เก่าแก่เท่ากับวัดที่มีชื่อเสียงในหลวงพระบางหรือเวียงจันทน์ โดยตัวอุโบสถสร้างขึ้นเมื่อไม่ถึง 100 ปีที่แล้ว แต่วัดแห่งนี้ก็มีชื่อเสียงในฐานะศูนย์กลางการเรียนรู้พุทธศาสนาของลาวใต้มานานนับร้อยปี
สิ่งปลูกสร้างสำคัญที่สุดในวัดก็คืออาคารแห่งนี้ ซึ่งใช้เป็นวิทยาลัยสงฆ์ ตัวอาคารสร้างแบบลาวแท้ ลวดลายปูนปั้นตามเชิงชาย เครื่องหลังคา และบันไดประดับพญานาคแผ่พังพานสึกกร่อนไปตามกาลเวลา แต่ก็ยิ่งทำให้ที่นี่ดูขรึมขลัง หากสังเกตให้ดีจะพบว่าข้างๆบันไดใหญ่ มีเสมาศิลาจารึกอักษรที่ดูเหมือนจะเป็นอักษรลาว แต่นี่คืออักษรธรรม ซึ่งพบได้ทั่วไปในวัดตามลุ่มแม่น้ำโขง ทั้งในลาวและล้านนาของไทย
น่าเสียดายที่ปัจจุบันวิทยาลัยสงฆ์แห่งนี้ไม่ได้ใช้เป็นที่เรียนพระธรรมคัมภีร์แล้ว ใช้เป็นเพียงที่เก็บตำรับตำราเก่า และไม่เปิดให้คนทั่วไปเข้า เนื่องจากอาคารเก่าและทรุดโทรมมาก จนอาจถล่มลงมาได้ทุกเมื่อ แต่ก็ได้มีการสร้างวิทยาลัยสงฆ์จำปาสักแห่งใหม่ขึ้นแทนข้างอาคารเดิม ทำให้วัดหลวงปากเซยังคงสืบทอดความเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ของพระสงฆ์ในลาวใต้มาจนถึงทุกวันนี้
ข้างๆอาคารวิทยาลัยสงฆ์เดิม เป็นพระอุโบสถที่ดูเหมือนอาคารสร้างใหม่ ตรงข้ามกับความเก่าแก่ของอาคารข้างๆ แต่จริงๆแล้วพระอุโบสถของวัดหลวง สร้างในเวลาไล่เลี่ยกับวิทยาลัยสงฆ์ แต่มีการบูรณะปฏิสังขรณ์ใหม่อยู่เสมอด้วยแรงศรัทธาของอุบาสกอุบาสิกา ที่ไม่ได้มีแต่ชาวลาวเท่านั้น ยังมีชาวไทยจำนวนไม่น้อยที่มาทำบุญที่วัดแห่งนี้ โดยแต่ละปีจะมีพุทธศาสนิกชนจากกรุงเทพฯ อุบลราชธานี หรือจังหวัดอื่นๆในอีสานมาทอดกฐินที่นี่ไม่ต่ำกว่า 2-3 กองเลยทีเดียว
ในฐานะที่วัดหลวงปากเซเป็นวัดสำคัญของแขวงจำปาสัก ทำให้ที่นี่นอกจากจะเป็นวัดที่คนนิยมมาทำบุญยามยังมีชีวิต ยังนิยมฝากร่างไว้ยามสิ้นบุญอีกด้วย แต่คนที่จะมีสถูปเก็บอัฐิ หรือที่ชาวลาวรียกว่า "ธาตุ" ในวัดนี้ได้ ล้วนต้องเป็นคนใหญ่คนโต เศรษฐี หรือบุคคลสำคัญ เจ้านายเชื้อพระวงศ์จำปาสักหลายองค์ก็มีธาตุอยู่ที่นี่ เช่นท่านกระต่าย โดนสะโสลิด อดีตนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลฝ่ายอนุรักษ์นิยมก่อนการปฏิวัติของฝ่ายซ้ายในลาว ธาตุของท่านถือว่าใหญ่โตโอ่อ่าที่สุด และตั้งโดดเด่นเป็นสง่าอยู่ที่หน้าอุโบสถ สมกับเป็นบุคคลสำคัญระดับประเทศของลาว
นอกจากสถาปัตยกรรมเก่าแก่ในวัดแห่งนี้ อีกสิ่งหนึ่งที่ผู้ได้มาเยือนวัดหลวงปากเซไม่ควรพลาดชม ก็คือวิวแม่น้ำเซโดนที่ไหลไปบรรจบกับน้ำโขง เกิดเป็นเส้นสายน้ำสองสีที่ตัดกันระหว่างน้ำเซสีเขียวเข้ม กับน้ำของ หรือน้ำโขงสีน้ำตาลอ่อน ยิ่งได้ชมสายน้ำยามตะวันชิงพลบ ก็ยิ่งเป็นภาพที่ชวนนึกถึงความรุ่งเรืองของจำปาสักในอดีตที่ยิ่งใหญ่ไม่แพ้มหานครใดในอุษาคเนย์