แม้ว่าท่าเรือน้ำลึกระนอง จะเปิดดำเนินงานมากว่า 10 ปีแล้ว แต่ยังไม่ได้รับความนิยมในการขนส่งสินค้ามากนัก ล่าสุด จึงมีการปรับปรุงและเปิดเส้นทางเดินเรือระบบตู้สินค้า เพื่อเพิ่มศักยภาพให้กับท่าเรือแห่งนี้
แม้ว่าท่าเรือน้ำลึกระนอง จะเปิดดำเนินงานมากว่า 10 ปีแล้ว แต่ยังไม่ได้รับความนิยมในการขนส่งสินค้ามากนัก ล่าสุด จึงมีการปรับปรุงและเปิดเส้นทางเดินเรือระบบตู้สินค้า เพื่อเพิ่มศักยภาพให้กับท่าเรือแห่งนี้
ท่าเรือน้ำลึกระนอง เปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคม 2546 ตามมติคณะรัฐมนตรี เพื่อเป็นท่าเรือขนส่งสินค้าทางทะเลฝั่งอันดามันของไทย และเป็นจุดเชื่อมต่อการส่งสินค้าไปยังประเทศในเอเชียใต้ ทั้งเมียนมาร์ บังกลาเทศ ศรีลังกา แอฟริกา และยุโรป แต่ที่ผ่านมา ท่าเรือแห่งนี้ ไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร เพราะขนส่งได้เฉพาะสินค้าเทกองเป็นหลัก
นี่จึงเป็นเหตุผลที่การท่าเรือแห่งประเทศไทย ผลักดันการเปิดเส้นทางเดินเรือระบบตู้สินค้า ที่ท่าเรือระนอง เพื่อให้ขนส่งสินค้าได้หลายประเภท และเตรียมพัฒนาให้เป็นท่าเรือหลักในการขนส่งตู้สินค้าไปยังประเทศต่างๆ โดยเฉพาะเมียนมาร์ ซึ่งปีที่ผ่านมา มีมูลค่าการค้าระหว่าง 2 ประเทศ ขยายตัวถึงร้อยละ 12.7
หากมีการใช้ท่าเรือระนองขนส่งสินค้าระหว่างไทย-เมียนมาร์ จะช่วยลดเวลาและระยะทางลงเหลือเพียง 4-7 วัน เมื่อเทียบกับขนส่งผ่านท่าเรือแหลมฉบังในปัจจุบัน ซึ่งใช้เวลา 15-20 วัน นอกจากนี้ ยังทำให้ไทยมีโอกาสส่งสินค้าเข้าไปเอเชียใต้ โดยไม่ต้องไปถ่ายสินค้าที่สิงคโปร์ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายอย่างน้อยตู้ละ 300 เหรียญสหรัฐ
ด้านนางดอ มิน มิน ประธานหอการค้าและสภาอุตสาหกรรม จังหวัดเกาะสอง ประเทศเมียนมาร์ กล่าวว่า หากมีการผลักดันเส้นทางเดินเรือและท่าเรือระนองจริงจัง จะช่วยลดต้นทุนการขนส่งสินค้าได้ แต่ที่สำคัญต้องการทราบราคาและค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้น ว่าคุ้มทุนมากน้อยแค่ไหน
ขณะที่ประธานหอการค้าจังหวัดระนอง ระบุว่า ระนองอยู่ในจุดยุทธศาสตร์สำคัญ เพราะเป็นประตูสู่อาเซียนและเอเชียใต้ มีมูลค่าการค้าชายแดนเป็นอันดับ 2 รองจากแม่สอด จึงอยากเสนอให้รัฐบาลผลักดันเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อกระตุ้นมูลค่าการส่งออก
ด้วยศักยภาพด้านทำเล ท่าเรือแห่งนี้จึงเหมาะเป็นท่าเรือขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ แต่ภาครัฐต้องพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน เชื่อมโยงการขนส่งทั้งทางบก ทางเรือ และทางอากาศให้สอดรับ รวมทั้งระบบไอที เพื่อสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน