ไม่พบผลการค้นหา
กระทรวงพาณิชย์ โชว์ตัวเลขส่งออกปี 67 ทุบสถิติมูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ทะลุ 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ( 10 ล้านล้านบาท) แต่ยังขาดดุลเฉียด 3.5 แสนล้านบาท คาดปี 68 ยืนโต3%

'พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์' ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า และ โฆษกกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกของไทยเดือนธันวาคม 2567 มีมูลค่า 24,765.9 ล้านเหรียญสหรัฐ ประมาณ 853,305 ล้านบาท ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 ที่ 8.7% หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัว 10.4% ส่งผลให้ภาพรวมการส่งออกทั้งปี 2567 ขยายตัว 5.4% มูลค่าการส่งออกสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยการส่งออกในรูปของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ พุ่งทะยานสู่ระดับ 3 แสนล้านเหรียญสหรัฐ (300,529.5 ล้านเหรียญสหรัฐ) เป็นครั้งแรก เช่นเดียวกับในรูปสกุลเงินบาทก็มีมูลค่าสูงกว่า 10 ล้านล้านบาท เป็นครั้งแรก (10.54 ล้านล้านบาท / ขยายตัว 7.3%)

ขณะที่การนำเข้าทั้งปี 2567 มีมูลค่า 306,809.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 6.3% คิดเป็นเงินบาท 10.89 ล้านล้านบาท หดตัว 3.8 % โดยไทยขาดดุล 6,280.4 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือขาดดุล 347,721 ล้านบาท

แนวโน้มส่งออกเดือนมกราคมนี้ เชื่อว่าจะยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยปี 2568 กระทรวงพาณิชย์ คาดส่งออกจะขยายตัวอย่างต่ำ 2 – 3% มีปัจจัยสนับสนุนจากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าจะเติบโตใกล้เคียงในระดับปัจจุบัน แรงกดดันจากอัตราเงินเฟ้อและ อัตราดอกเบี้ยอยู่ระดับต่ำ การย้ายฐานการผลิตมายังกลุ่มประเทศอาเซียน รวมถึงไทยมากขึ้น และการเร่งส่งเสริมการใช้ซอฟต์พาวเวอร์ของไทยเชื่อมโยงเข้ากับสินค้าส่งออก เพื่อสร้างเอกลักษณ์ให้เป็นที่จดจำในระดับโลก ขณะที่มีปัจจัยท้าทายจากความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ซึ่งกระทบกับบรรยากาศการค้าโลก ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่ยืดเยื้อยาวนาน และความผันผวนจากอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ได้ติดตามสถานการณ์และวางแผนเตรียมความพร้อมร่วมกับภาคเอกชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การค้าไทยเติบโตอย่างยั่งยืน

โดยพิชัย นริพทะพันธุ์ รมว.พาณิชย์ มีแผนเยือนสหรัฐฯและพูดคุยกับรัฐบาลใหม่ของสหรัฐ ในเดือนกุมภาพันธ์นี้ และอยู่ในระหว่างการเตรียมประเด็นหารือ เช่น อัตราภาษีนำเข้าสินค้าไทยในสหรัฐฯ เป็นต้น

'พูนพงษ์' ระบุ เมื่อลงรายละเอียด พบว่า การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัว 8.9% โดยสินค้าเกษตร ขยายตัว 10.7% และสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัว 6.7% สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ยางพารา กลุ่มสินค้าไก่ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป กลุ่มผลไม้ อาหารสัตว์เลี้ยง ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่น ๆ ส่วนสินค้าหดตัว อาทิ ข้าว น้ำตาลทรายโดยทั้งปี 2567 การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัว 6%

สำหรับการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัว 11.1 % สินค้าขยายตัวดี อาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์ ผลิตภัณฑ์ยาง อัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) เคมีภัณฑ์ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ขณะที่สินค้าหดตัว อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ น้ำมันสำเร็จรูป เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบและส่วนประกอบ อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์และไดโอด ส่งผลให้ ปี 2567 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัว 5.9%

ขณะที่ตลาดส่งออกสำคัญส่วนใหญ่ขยายตัว โดยตลาดหลัก ขยายตัว 12% ทั้ง สหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป (27) และ CLMV 20.7 แต่ อาเซียน (5) หดตัว 0.6 ส่วนตลาดรอง ขยายตัว 6.2 % ทั้งตลาดเอเชียใต้ ตะวันออกกลาง แอฟริกาลาตินอเมริกา รัสเซียและกลุ่ม CIS และสหราชอาณาจักร ยกเว้นตลาดทวีปออสเตรเลีย และตลาดอื่นๆ หดตัว