ไม่พบผลการค้นหา
หลายคนยังสงสัยว่าแค่การแกว่งแขนไปมา จะลดพุง ลดโรคได้อย่างไร? แล้วต้องแกว่งนานไหม? และจะแกว่งท่าไหนจึงจะเห็นผล? มาหาคำตอบไปพร้อมๆกัน
คนส่วนใหญ่เมื่อได้ยินคำว่า "ออกกำลังกาย" มักนึกถึงการเล่นกีฬาหนักๆให้เหงื่อออก หรือต้องไปฟิตเนสเป็นชั่วโมงๆ และให้เหตุผลในการไม่ออกกำลังกายด้วยคำว่าไม่มีเวลา  วันนี้จึงขอแนะนำวิธีง่ายๆ ไม่ต้องใช้พื้นที่มาก นั่นก็คือ "การแกว่งแขน"
 
 
การออกกำลังกายเป็นประจำ ช่วยให้ร่างกายห่างไกลโรคภัยไข้เจ็บได้ แต่ด้วยลักษณะการใช้ชีวิตของคนในปัจจุบัน โดยเฉพาะพนักงานออฟฟิศที่ต้องนั่งทำงานอยู่กับที่เป็นเวลานานๆ ไม่ค่อยขยับเปลี่ยนท่า หรือเรียกได้ว่าสิงสถิตอยู่หน้าคอมฯไม่ไปไหน ซึ่งหากปล่อยให้เป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ อาจส่งผลต่อสุขภาพระยะยาวได้ ฉะนั้น จึงควรขยับตัว เปลี่ยนอิริยาบทเป็นระยะๆ เช่น การลุกขึ้นมายืดเส้นยืดสาย บิดขี้เกียจ หรือเดินไปเดินมา รวมถึงการแกว่งแขนไปมาก็ช่วยได้ แต่ใครหลายคนก็ยังสงสัยว่า เป็นไปได้อย่างไรที่การแกว่งแขนจะช่วยให้สุขภาพดีขึ้น 
 
 
"การแกว่งแขน" เป็นศาสตร์ของแพทย์แผนจีนที่สืบทอดต่อกันมานานหลายพันปีแล้ว  การแกว่งแขนเป็นวิธีกระตุ้นต่อมน้ำเหลืองที่อยู่บริเวณรักแร้ให้ทำงาน เมื่อระบบต่อมน้ำเหลืองของเราหมุนเวียนได้อย่างสะดวก ก็จะช่วยให้อาการเจ็บป่วยของเราดีขึ้นได้ แต่ในทางกลับกัน หากระบบต่อมน้ำเหลืองติดขัด ก็จะเกิดการอักเสบ บวมตามจุดที่น้ำเหลืองไหลเวียน เช่น ลำคอ หลังใบหู ท้ายทอย หน้าอก รักแร้ ท้องแขน หน้าท้องกึ่งกลางระหว่างหน้าอกกับสะดือ บริเวณขาหนีบ นั่นเพราะน้ำเหลืองไม่มีการสูบฉีดเหมือนระบบเลือด ดังนั้น ต้องอาศัยการออกกำลังกายเท่านั้นจึงจะช่วยให้น้ำเหลืองไหลเวียนได้ดีขึ้น
 
 
การแกว่งแขน ช่วยอะไรได้บ้าง?
 
- ช่วยลดการสะสมของไขมัน หากใช้การควบคุมอาหารควบคู่ไปด้วย
- ช่วยลดความดันโลหิตสูง
- ช่วยลดโอกาสการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด เพราะการแกว่งแขนจะช่วยให้เลือดลมไหลเวียนได้ดีขึ้น
- ช่วยลดความเครียด 
- ช่วยลดอาการปวดบ่า คอ ไหล่ จากการทำงาน
- ช่วยลดน้ำตาลในเลือด (มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่นำผู้ป่วยโรคเบาหวานประเภท 2 มาฝึกออกกำลังกายด้วยการแกว่งแขน นาน 30 นาที สัปดาห์ละ 3 วัน รวม 8 สัปดาห์ ภายหลังพบว่า ระดับน้ำตาลในเลือดลดลงได้)
- ช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคออฟฟิศซินโดรม ไม่ว่าจะเป็นนิ้วล็อก มือชา ไหล่ติด จากการนั่งทำงานงก ๆ อยู่กับหน้าคอมพิวเตอร์ หากลุกขึ้นมาแกว่งแขนให้เลือดลมได้ไหลเวียนเสียหน่อย 
- ช่วยชะลอการเสื่อมของเข่า เพราะการแกว่งแขนนั้นไม่มีการกระแทกน้ำหนักลงที่ส่วนขาเหมือนกับการวิ่ง หรือการขี่จักรยาน จึงเหมาะกับผู้ที่มีปัญหาข้อเข่า หรือขาด้วย
- ช่วยให้ร่างกายรู้สึกกระปรี้กระเปร่า
 
 
แกว่งแขนท่าไหนจึงจะเห็นผล?
 
ออกกำลังกายทั้งที ถ้าไม่เห็นผลจะทำไปทำไม ฉะนั้น มาดูเทคนิคแกว่งแขนให้ได้ผลของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) แนะนำไว้กันดีกว่า
 
ท่าแรก  ยืนตัวตรง เข่าไม่งอ แยกเท้าทั้งสองข้างออกจากกัน โดยมีระยะห่างประมาณความกว้างหัวไหล่
 
ท่าที่ 2 ปล่อยมือทั้งสองข้างลงตามธรรมชาติ อย่าเกร็ง ให้นิ้วมือชิดกัน หันอุ้งมือไปข้างหลัง
 
ท่าที่ 3 หดท้องน้อยเข้า เอวตั้งตรง เหยียดหลัง ผ่อนคลาย กระดูกลำคอ ศีรษะ และปาก ผ่อนคลายตามธรรมชาติ
 
 
ท่าที่ 4 จิกปลายนิ้วเท้ายึดเกาะพื้น ส้นเท้าออกแรงเหยียบลงบนพื้นให้แน่น ให้แรงจนกล้ามเนื้อโคนเท้า โคนขา และท้องตึงเป็นใช้ได้
 
 
ท่าที่ 5 ควรงอบั้นท้ายขึ้นเล็กน้อย ระหว่างบริหารต้องหดก้น หรือขมิบทวารหนัก คล้ายยกสูงให้หดเข้าไปในลำไส้
 
 
ท่าที่ 6 ตามองตรงไปจุดใดจุดหนึ่ง สลัดความคิดฟุ้งซ่าน กังวลออกให้หมด ทำสมาธิให้รู้สึกอยู่ที่เท้า
 
 
ท่าที่ 7 แกว่งแขนไปข้างหน้า(เบาหน่อย) ทำมุม 30 องศากับลำตัว หายใจเข้า แล้วแกว่งไปข้างหลัง(แรงหน่อย) ทำมุม 60 องศากับลำตัว จะทำให้เกิดแรงเหวี่ยง หายใจออกขณะแกว่งไปข้างหลัง (นับเป็น1ครั้ง) โดยปล่อยน้ำหนักมือให้เหมือนลูกตุ้ม และต้องสะบัดมือทุกครั้ง เพื่อให้เลือดหมุนเวียนไปถึงปลายนิ้ว
 
 
***** ควรทำต่อเนื่องกันอย่างน้อยครั้งละ 10 นาที และใน 1 วัน ควรทำรวมกันให้ได้อย่างน้อย 30 นาที ทำเช่นนี้สัปดาห์ละ 5 ครั้ง หากทำติดต่อกันอย่างน้อย 1 เดือนครึ่งก็น่าจะเห็นผลลัพธ์ตามต้องการแล้ว
 
 
เมื่อได้รู้วิธีออกกำลังกายที่ง่าย ไม่ต้องใช้อุปกรณ์ และสามารถทำได้ทุกที่ทุกเวลาแล้ว หยุดหาข้ออ้างให้ตัวเองแล้วหันมาโบกมือลาโรคภัยและไขมันกันเถอะ
 
Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
182Article
76558Video
0Blog