ไม่พบผลการค้นหา
22 ปีวิกฤตการณ์เทียนอันเหมินอาจอยู่ในความทรงจำของใครหลายๆ คนแต่ในวันนี้ชาวจีนจำนวนมากกลับพร้อมใจกันลืมเหตุการณ์ดังกล่าวออกไปจากประวัติศาสตร์

รายงานพิเศษ 22 ปี เทียนอันเหมิน ตอนที่ 1 

22 ปีวิกฤตการณ์เทียนอันเหมินอาจอยู่ในความทรงจำของใครหลายๆ คนแต่ในวันนี้ชาวจีนจำนวนมากกลับพร้อมใจกันลืมเหตุการณ์ดังกล่าวออกไปจากประวัติศาสตร์

 

 

ภาพนักศึกษายืนขวางรถถังภาพนี้ อาจยังคงอยู่ในความทรงจำของใครหลายคน แต่ทว่าในประเทศจีน ทุกคนต่างพร้อมใจกันลืมโศกนาฏกรรมครั้งสำคัญ โดยเฉพาะรัฐบาล ที่จงใจลบประวัติศาสตร์ปี 2532 ออกจากบทเรียนและเอกสารทุกชิ้น ทิ้งให้ "วิกฤตการณ์เทียนอันเหมิน" กลายเป็นสิ่งที่ราวกับไม่เคยเกิดขึ้น
 
วิกฤตการณ์เทียนอันเหมินเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่วันที่ 17 เมษายน 2532 เมื่อนักศึกษาหลายร้อยคน ทำพิธีไว้อาลัยการเสียชีวิตของนายหูเย่าปัง อดีตเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งว่ากันว่าถูกปลดออกจากตำแหน่ง เนื่องจากมีความเห็นคล้อยตามการเรียกร้องสิทธิและเสรีภาพของนักศึกษาในปี 2530 หรือ 2 ปีก่อนเหตุการณ์เทียนอันเหมิน 
 
ต่อมา เหล่านักศึกษาก็เริ่มเคลื่อนย้ายพิธีไว้อาลัยจากภายในมหาวิทยาลัย มายังจตุรัสเทียนอันเหมิน พร้อมกับยื่นข้อเรียกร้องให้กับรัฐบาล 7 ข้อ ได้แก่ ให้ชำระความผิดของนายหูเย่าปัง ให้นิรโทษกรรมผู้ที่ออกมาเดินขบวนเรียกร้อง ให้เปิดเผยข้อมูลรายได้ของผู้นำรัฐและสมาชิกในครอบครัว  ให้มีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพในการพูด  ให้เพิ่มเงินทุนเพื่อการศึกษาและรายจ่ายของกลุ่มคนที่มีความรู้  ให้ยกเลิกข้อห้ามการแสดงออกของประชาชนในปักกิ่ง  และให้มีความโปร่งใสในการคัดเลือกผู้ที่จะเข้ามาแทนที่ข้ารัฐการที่ตัดสินใจด้านนโยบายผิดพลาด
 
จนกระทั่งถึงวันที่ 20 พฤษภาคม ซึ่งจำนวนของนักศึกษาที่เข้าร่วมชุมนุมมีจำนวนมากขึ้น รัฐบาลจึงประกาศกฎอัยการศึกในกรุงปักกิ่ง ในขณะที่ผู้มีอำนาจฝ่ายหนึ่งของรัฐบาลยืนยันว่าจะไม่มีการใช้กำลังกับผู้ชุมนุม ด้วยประโยคทองที่ว่า "ทหารของประชาชนจะฆ่าประชาชนไม่ได้"
 
แต่สุดท้าย ฝ่ายที่ต้องการใช้กำลังสลายการชุมนุมก็ชนะฝ่ายที่ต้องการเจรจา กองทัพเข้าปิดล้อมบริเวณจตุรัสเทียนอันเหมินในวันที่ 3 มิถุนายน 2532 มีการเจรจาระหว่างกองทัพกับนักศึกษาหลายครั้ง จนกระทั่งถึงวันที่ 4 มิถุนายน ทหารจึงใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุม และสามารถยึดจตุรัสเทียนอันเหมินได้ในที่สุด เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก
 
เหตุการณ์การเรียกร้องสิทธิเสรีภาพธรรมดาๆ ที่ถูกสื่อตีความเป็นความหมายเชิงโค่นล้มระบอบ ทำให้สังคมจำเป็นต้องหันกลับมาทบทวนบทเรียนเรื่องบทบาทของสื่ออีกครั้ง
 
ซึ่งสุดท้ายแล้วการเรียกร้องความรับผิดชอบของแต่ละฝ่ายจะเกิดขึ้นได้อย่างไร ในเมื่อสิ่งที่เรียกว่า "วิกฤตการณ์เทียนอันเหมิน" ยังไม่เคยปรากฏอยู่ในความทรงจำของประวัติศาสตร์จีนด้วยซ้ำ 
 

Produced by VoiceTV

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
187Article
76559Video
0Blog