ชาวยาซิดี กลายเป็นกลุ่มคนที่ได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก ในการสู้รบรอบใหม่ในอิรัก พวกเขาสามารถรอดจากเงื้อมมือของกลุ่ม IS ได้แล้ว แต่อาจจะต้องมาตาย เพราะความหิวโหยและขาดแคลนน้ำดื่ม
ชาวยาซิดี กลายเป็นกลุ่มคนที่ได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก ในการสู้รบรอบใหม่ในอิรัก พวกเขาสามารถรอดจากเงื้อมมือของกลุ่ม IS ได้แล้ว แต่อาจจะต้องมาตาย เพราะความหิวโหยและขาดแคลนน้ำดื่ม ระหว่างที่ต้องหลบซ่อนตัวอยู่ในหุบเขา จึงไม่ต่างอะไรกับการหนีเสือปะจระเข้
"ยาซิดี" ชนเผ่าพื้นเมืองของอิรัก ที่อาศัยอยู่ทางตอนเหนือของอิรัก มานานหลายศตวรรษ พวกเขามีเชื้อสายเคิร์ด และมีความเชื่อทางศาสนาเป็นของตนเอง ส่วนใหญ่ความเชื่อเหล่านี้มีความเกี่ยวโยงกับศาสนาโซโรอัสเตอร์ ซึ่งเป็นศาสนาประเภททวิเทวนิยม มีต้นกำเนิดในเปอร์เซีย ที่ผ่านมาชนกลุ่มนี้ ไม่เคยมีร่องรอยของการรุกรานใคร ที่กลับถูกคนกลุ่มอื่นรุกรานอยู่บ่อยครั้งโดยเฉพาะชาวเคิร์ด แต่นั่นก็เป็นเรื่องของในอดีต
ปัจจุบัน ชาวยาซิดี ได้กลายเป็นเหยื่อของการสู้รบรอบใหม่ ระหว่างกองกำลังรัฐอิสลาม และกองกำลังของชาวเคิร์ดที่มีชื่อว่าเปชเมอร์กา โดยก่อนหน้านี้ กองกำลังเปชเมอร์กา พยายามตรึงกำลังรักษาพื้นที่ทางตอนเหนือของอิรักเอาไว้ แต่ท้ายที่สุดแล้วก็ไม่สามาถรต้านทานกองกำลังของกลุ่ม IS ได้ ทำให้ IS สามารถเข้ายึดเมืองคาราโคช เมืองสำคัญของอิรัก ที่มีชาวคริสต์อาศัยอยู่มากที่สุด ซึ่งนอกเหนือจากชาวคริสต์แล้ว ชาวยาซิดี ก็เป็นหนึ่งในชนกลุ่มหลักที่อาศัยอยู่ที่นี่
กลุ่ม IS มองว่า ชาวยาซิดี เป็นซาตาน และต้องถูกกำจัด เนื่องจากความเชื่อทางศาสนาที่พวกเขารับไม่ได้เป็นอย่างยิ่ง ผู้รอดชีวิตชาวยาซิดี ที่สามารถหลบหนีออกจากเมืองดังกล่าวมาได้ เล่าให้ฟังว่า พวกเขาถูกบังคับให้เปลี่ยนไปนับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งในตอนนี้ ตัวเลือกที่พวกเขามี มีไม่มากนัก หากไม่ยอมเปลี่ยนไปนับถือศาสนาอิสลาม ก็จะต้องถูกจำคุก หรือถูกฆ่า มิเช่นนั้นก็ถูกกวาดต้อนไปเป็นกองกำลังของกลุ่ม IS และตัวเลือกสุดท้าย คือการหลบหนี ซึ่งพวกเขาได้ตัดสินใจที่จะหลบหนี และต้องมาใช้ชีวิตอย่างยากลำบากในหุบเขาของเมืองซินจาร์ ไม่มีแม้กระทั่งน้ำและอาหารในการประทังชีวิต
ในช่วงที่พวกเขาตัดสินใจหลบหนีนั้น กองกำลังของกลุ่ม IS ได้ปิดล้อมเมืองทั้งหมด และควบคุมจุดเข้าออกที่เป็นถนนทุกเส้นทาง ทำให้การหลบหนีเป็นไปอย่างยากลำบาก ระหว่างทางที่พวกเขาผ่านมานั้น พบศพชาวยาซิดีจำนวนมาก ขณะที่ ผู้รอดชีวิตหลายพันครอบครัวก็มารวมตัวกันอยู่ที่หุบเขาในเมืองซินจาร์ และต้องแบ่งปันอาหารและน้ำดื่มที่มีอยู่เพียงน้อยนิด
แม้ว่าในตอนนี้ จะมีความพยายามจากต่างชาติ ในการส่งน้ำและอาหารผ่านทางเครื่องบิน แต่ดูเหมือนว่าจะไม่เพียงพอกับความต้องการของชาวยาซิดีทั้งหมด เมื่อสัปดาห์ก่อน สหประชาชาติคาดการณ์ว่า มีชาวยาซิดีที่ติดอยู่ในหุบเขาดังกล่าวมากถึง 50,000 คน โดยพวกเขากระจัดกระจายกันไปตามพื้นที่ต่างๆ ซึ่งสิ่งที่น่ากังวลที่สุดในตอนนี้ก็คือ แม้ว่าพวกเขาจะรอดชีวิตจากการสังหารโหดของกลุ่ม IS แต่ท้ายที่สุดแล้ว พวกเขาอาจจะต้องมาตายเพราะความหิวโหย และขาดน้ำ เนื่องจากอุณหภูมิในตอนกลางวันของหุบเขาแห่งนี้ สูงเกิน 30 องศาเซลเซียส
จึงปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ชีวิตของชาวยาซิดีตอนนี้ ตั้งอยู่บนความเสี่ยง และหากว่า ความช่วยเหลือยังไปไม่ทั่วถึง อีกไม่ช้า ชาวยาซิดีนับพันคน อาจเสียชีวิตก็เป็นได้