ไม่พบผลการค้นหา
การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมของประเทศในอนาคต ส่งผลโดยตรงต่อระบบโลจิสติกส์ ตลอดจนตลาดแรงงานที่มีแนวโน้มขยายตัวมากขึ้น
การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมของประเทศในอนาคต ส่งผลโดยตรงต่อระบบโลจิสติกส์ ตลอดจนตลาดแรงงานที่มีแนวโน้มขยายตัวมากขึ้น  เช่นเดียวกับ บุคลากรในภาคขนส่งทางทะเล ที่ตลาดแรงงานต้องการต่อเนื่อง แต่สถาบันการศึกษา ยังผลิตบัณฑิตไม่ทันความต้องการ 
 
คำสั่งของ กิตติศักดิ์ ในฐานะหัวหน้านิสิตและรุ่นพี่ ถูกปฏิบัติตามอย่างว่องไว โดยน้องใหม่ของคณะโลจิสติกส์ สาขาวิทยาการเดินเรือ มหาวิทยาลัยบูรพา  การทดสอบร่างกายอย่างทรหดนี้ เป็นประสบการณ์ที่เขาเคยผ่านมาแล้ว อย่างยากลำบาก เมื่อ 4 ปีก่อน โดยอาศัย "อนาคต" เป็นแรงขับดัน
 
นายประจำเรือ บนเรือบรรทุกสินค้าระหว่างประเทศ คือ อาชีพที่กิตติศักดิ์ตั้งเป้าไว้หลังจบการศึกษา  เขามองว่านี่คืออาชีพสร้างอนาคต เนื่องจาก  ฐานเงินเดือนที่สูงกว่า 6 หมื่นบาท ในขั้นเริ่มต้น สามารถใช้เป็นทุนสำหรับการสร้างฐานะได้ในอนาคต
 
ตลอด 2 สัปดาห์ของการทดสอบร่างกายและเรียนปรับพื้นฐาน ถือเป็นสัปดาห์วัดใจของนิสิตใหม่ สาขาวิทยาการเดินเรือ กว่า 50 คน   แม้แต่ละปีจะมีนิสิตใหม่เกือบครึ่งยอมแพ้  แต่อาจารย์ประจำคณะโลจิสจิกส์ มองว่า นี่คือการคัดสรรผู้เรียนที่มีคุณสมบัติสอดคล้องกับอาชีพนายประจำเรือ ที่นอกจากควรมีความรู้ด้านการขนส่งแล้ว  พวกเขาจำเป็นต้องมีความรับผิดชอบและความอดทน  ซึ่งเป็นคุณภาพที่ผู้ประกอบการโลจิสติกส์ต้องการ
 
นอกจากการเติบโตทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ  ที่ส่งผลโดยตรงต่อระบบโลจิสติกส์ทางทะเล  อาจารย์ประจำคณะโลจิสติกส์ ยังบอกด้วยว่า ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ที่จะเกิดขึ้นในปี 2558 และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในอนาคต ยังเป็นตัวชี้วัดโอกาสมหาศาลของผู้เรียนวิชาโลจิสติกส์ โดยเฉพาะสาขาวิทยาการเดินเรือ ที่ปัจจุบันในไทย มีสถาบันการศึกษาที่สอนด้านเพียง 3 แห่ง และยังผลิตบุคลากรไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด
 
ความยากลำบากของเหล่าน้องใหม่ในวันนี้ จึงเป็นมากกว่าจุดเริ่มต้นอนาคตของชีวิต หากมากกว่านั้น พวกเขาคือกลไลสำคัญในการพัฒนาอนาคตของชาติ 
Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
190Article
76559Video
0Blog