ไม่พบผลการค้นหา
วันนี้จะพาคุณผู้ชมไปที่บัลแกเรีย ประเทศผู้ผลิตและส่งออกน้ำมันหอมลาเวนเดอร์รายใหญ่ของโลก โดยยอดส่งออกที่เพิ่มมากขึ้นในแต่ละปี ทำให้มีการคาดหวังว่า ธุรกิจน้ำมันหอมจากลาเวนเดอร์ จะช่วยแก้ปัญหาความยากจน
วันนี้จะพาคุณผู้ชมไปที่บัลแกเรีย ประเทศผู้ผลิตและส่งออกน้ำมันหอมลาเวนเดอร์รายใหญ่ของโลก โดยยอดส่งออกที่เพิ่มมากขึ้นในแต่ละปี ทำให้มีการคาดหวังว่า ธุรกิจน้ำมันหอมจากลาเวนเดอร์ จะช่วยแก้ปัญหาความยากจนในประเทศได้ 
 
ทุ่งลาเวนเดอร์ทอดยาวกว้างขวางกว่า 1,000 ตารางเมตร ตั้งอยู่ชานเมืองคาซานลัค เมืองที่ราบเชิงเทือกเขาบอลข่าน ทางภาคกลางของบัลแกเรีย หนึ่งในประเทศที่ยากจนที่สุดในภูมิภาคยุโรป ทุ่งแห่งนี้เป็นของ "อีนอย บอนเชฟ โปรดักชัน" บริษัทผลิตน้ำมันหอมลาเวนเดอร์รายใหญ่ของบัลแกเรีย และของโลก
 
ในช่วงเที่ยงที่มีอุณหภูมิเกือบ 38 องศา คนงานหลายสิบคนจะเริ่มเก็บดอกลาเวนเดอร์ที่กำลังเบ่งบานท่ามกลางแดดอันร้อนระอุ เนื่องจากการเก็บดอกลาเวนเดอร์ในอุณภูมิขนาดนี้ จะทำให้ปริมาณน้ำมันหอมระเหยที่ได้จากดอกไม้สีม่วงชนิดนี้ มีปริมาณมากที่สุดเมื่อเทียบกับช่วงอื่นๆ ของวัน โดยคนงานที่มีความเชี่ยวขาญจะเก็บดอกลาเวนเดอร์ได้ราว 300 กิโลกรัมต่อวันเลยทีเดียว
 
ภายใน 24 ชั่วโมง กลีบลาเวนเดอร์ที่ถูกแพ็คอย่างดีจะถูกส่งไปยังโรงกลั่นที่ตั้งอยู่ใกล้ทุ่งลาเวนเดอร์ คนงานอีกกลุ่มช่วยกันเหยียบกลีบดอกไม้สีสวยด้วยเท้าก่อนจะนำเข้าเตากลั่น ซึ่งการเหยียบถือเป็นขั้นตอนสำคัญที่จะทำให้ได้น้ำมันหอมระเหยปริมาณมากขึ้น น้ำมันหอมลาเวนเดอร์ที่ได้ออกมาก็จะนำไปบรรจุและเตรียมส่งไปขาย
 
ปัจจุบัน บัลแกเรียเป็นผู้ผลิตน้ำมันหอมลาเวนเดอร์รายใหญ่ที่สุดของโลก โดยผลิตได้เฉลี่ยปีละ 60 ล้านตัน ซึ่งมากกว่าประเทศต้นตำรับการผลิตและการใช้ประโยชน์จากน้ำมันหอมลาเวนเดอร์อย่างฝรั่งเศสเสียอีก "ฟิลลิป ลิสซิชารอฟ" เจ้าของ "อีนอย บอนเชฟ โปรดักชัน" เปิดเผยว่า 2 ใน 3 ของน้ำมันหอมลาเวนเดอร์นั้นถูกส่งไปยังฝรั่งเศส
 
เนื่องจากการระบาดของจักจั่นทางภาคใต้ของฝรั่งเศสอันเป็นผลพวงจากภาวะโลกร้อนนั้น ทำให้ธุรกิจลาเวนเดอร์ขนาดใหญ่ในเมืองโปรวองซ์ได้รับผลกระทบตาม แต่ความต้องการของบริษัทเครื่องสำอางในฝรั่งเศสนั้นไม่ลดลงตามไปด้วย สถานการณ์ดังกล่าวจึงกลายเป็นโอกาสดีของบัลแกเรียไปโดยปริยาย ทั้งนี้ นอกจากฝรั่งเศสแล้ว ลุกค้ารายใหญ่ของบัลแกเรียมีทั้งเยอรมนี สหรัฐฯ และญี่ปุ่น
 
อย่างไรก็ตาม ลิสซิชารอฟคาดว่า ราคาของน้ำมันหอมลาเวนเดอร์ในปีนี้จะไม่เปลี่ยนแปลงจากปีก่อนมากนัก คืออยู่ที่ราว 60 ถึง 70 ยูโร หรือประมาณ 2,600 ถึง 3,000 บาทต่อ 1 ตัน โดยเขาเตือนผู้ผลิตรายอื่นๆ ในบัลแกเรียว่า ไม่ควรปั่นราคาให้แพงจนดูไม่สมเหตุสมผล เพราะถ้าราคาน้ำมันหอมลาเวนเดอร์แท้แพงเกิน บริษัทต่างๆ ที่เป็นลูกค้าก็จะหันไปหาวัตถุดิบอื่นที่ใกล้เคียงแทน
 
"นิโคลาย นินอฟ" ผู้เชี่ยวชาญด้านการวิจัยน้ำมันหอมระเหยกล่าวว่า ในขณะที่ผู้ผลิตในฮังการี มอลโดวา ไครเมีย และจีนมีแนวโน้มผลิตลาเวนเดอร์กันลดลง บัลแกเรียกลับมีแผนเพิ่มปริมาณการผลิตขึ้น 2 เท่า เป็น 120 ล้านตันภายในปีนี้ และแม้ปัจจุบัน บัลแกเรียจะเป็นประเทศที่ยากจนที่สุดในยุโรป เขามั่นใจว่าบัลแกเรียจะสามารถชดเชยปริมาณการผลิตลาเวนเดอร์ที่หายไปได้ไม่ยาก ด้วยศักยภาพที่พวกเขามีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นสภาพอากาศที่ดี ความอุดมสมบูรณ์ของดิน ตลอดจนคนงานที่มีความเชี่ยวชาญ
 
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าทิวทัศน์ในทุ่งลาเวนเดอร์จะเป็นความสงบงดงามที่หลายๆ คนฝันถึง แต่การทำงานที่นี่ไม่ได้ง่ายและสบายใจเสมอไป "นีนา ปาโชวา" คนงานชั่วคราวคนหนึ่งเปิดเผยว่า เธอและพ่อของเธอจะมารับจ้างเก็บดอกลาเวนเดอร์ที่ทุ่งแห่งนี้ในทุกๆ ฤดูร้อน ส่วนช่วงเวลาอื่นของปีเธอต้องเป็นคนตกงาน เพราะไม่สามารถหางานอย่างอื่นทำได้ 
 
จากข้อมูลเดือนพฤษภาคม 2556 บัลแกเรียมีอัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 11.9 มากที่สุดเป็นอันดับ 8 ของยุโรป เพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าจากร้อยละ 5.8 ในปี 2551 ดังนั้น คงเร็วไปนักหากจะพูดว่า ธุรกิจลาเวนเดอร์ที่กำลังเฟื่องฟูอย่างมากในรอบไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ จะสามารถช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ของประเทศ ตลอดจนนำพาบัลแกเรียให้พ้นสภาพจากการเป็นประเทศยากจนที่สุดประเทศหนึ่งของภูมิภาคได้จริง
Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
185Article
76559Video
0Blog