ไม่พบผลการค้นหา
นักวิจัยไทยเอาชานอ้อยที่เหลือจากอุตสาหกรรมน้ำตาล มาผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์อาหาร เพื่อทดแทนการใช้พลาสติกและโฟม

นักวิจัยไทยเอาชานอ้อยที่เหลือจากอุตสาหกรรมน้ำตาล มาผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์อาหาร เพื่อทดแทนการใช้พลาสติกและโฟม ซึ่งมีสารพิษตกค้างเมื่อสัมผัสกับอาหารที่มีความร้อนสูง แม้จะมีราคาต่อชิ้นสูงกว่า 2-3 เท่า แต่ถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า เพราะหากป่วยเป็นโรคมะเร็งแล้ว ค่ารักษาพยาบาลย่อมสูงกว่านี้แน่นอน

บรรจุภัณฑ์อาหารหลากหลายรูปทรงและขนาดเหล่านี้ ผลิตขึ้นมาจากชานอ้อย ซึ่งเป็นของเหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมผลิตน้ำตาล สามารถใช้งานได้ไม่ต่างจากกล่องโฟม และกล่องพลาสติก ที่ใช้บรรจุอาหารทั่วไป

แต่ที่พิเศษกว่าคือ บรรจุภัณฑ์จากธรรมชาติ 100% เหล่านี้ ไม่มีสารสไตรีน ซึ่งเป็นสารเคมีตกค้างในอาหารอย่างโฟม ทำให้ลดโอกาสเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็ง ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นภัยร้ายอันดับหนึ่งที่คร่าชีวิตคนไทย

บรรจุภัณฑ์อาหารนี้ มีชื่อว่า "Gracz" (เกรซ) ซึ่งเล่นคำในภาษาอังกฤษ ที่แปลว่า "ความดีงาม" โดยผลิตครั้งแรกเมื่อ 5ปีก่อน แต่ยังไม่แพร่หลาย เพราะมีราคาต่อชิ้นสูงกว่ากล่องโฟม 2-3 เท่าตัว ต้นทุนนี้ ทำให้พ่อค้าแม่ค้า ไม่นิยมใช้แทนกล่องโฟม

กว่าจะได้บรรจุภัณฑ์อาหารหนึ่งชิ้น ต้องนำชานอ้อยที่รีดน้ำออกหมดแล้ว มาปั่นให้กลายเป็นเส้นใย เพื่อเข้าสู่กระบวนการทำเป็นแผ่นกระดาษ จากนั้นจะถูกปั้นเป็นเส้นใยอีกครั้ง แต่ถ้าจะทำให้ภาชนะสีขาวสะอาด ก็เพียงนำเส้นใยมาฟอกสีตามมาตรฐานความปลอดภัยด้านอาหาร

จากนั้น นำเส้นใยมาขึ้นรูปตามต้องการ แล้วนำไปอบด้วยความร้อนเพื่อไล่ความชื้น ก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการสำคัญคือ การขึ้นรูปด้วยแป้นพิมพ์ความร้อนสูงกว่า 250 องศาเซลเซียส ทำให้บรรจุภัณฑ์ด้านที่ถูกความร้อนมีผิวเรียบมัน เหมาะสำหรับใส่อาหารประเภทน้ำ เพราะไม่รั่วซึม

ปิดท้ายด้วยการตรวจสอบโลหะปนเปื้อน และฆ่าเชื้อโรคด้วยแสงยูวี ก่อนนำไปบรรจุถุงส่งจำหน่าย ทั้งในไทยและต่างประเทศ โดยกว่าร้อยละ 70 จะส่งออกไปยังประเทศในแถบยุโรปและเอเชีย ส่วนในประเทศไทยจะจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าและซูเปอร์มาเก็ตชั้นนำ

สำหรับพ่อบ้านแม่บ้านยุคใหม่ ที่นิยมกินอาหารแช่เย็น หรือต้องนำแกงถุงจากตลาด มาอุ่นในเตาไมโครเวฟ ก็สามารถใช้บรรจุภัณฑ์จากชานอ้อยได้  ไม่ต่างกับภาชนะสำหรับเตาไมโครเวฟทั่วไป จากการทดลองกับกำลังไฟ 800- 1,000 วัตต์ นาน 10 นาที ปรากฏว่า รูปทรงของบรรจุภัณฑ์ยังคงรูปเดิม ที่สำคัญยังสามารถล้างและใช้ซ้ำได้จนกว่าบรรจุภัณฑ์จะเปื่อยยุ่ย แต่ส่วนใหญ่จะใช้ครั้งเดียว

กรมควบคุมมลพิษ รายงานว่า ในแต่ละวันคนไทยใช้โฟมประมาณ 2.3 กล่องต่อคน หรือไม่ต่ำกว่า 138 ล้านกล่องต่อวัน ซึ่งหากยังใช้กันแบบนี้  จะทำให้เกิดปัญหาขยะโฟมล้นเมือง เพราะต้องใช้เวลาย่อยสลายกว่า 2 พันปี หรือถ้าฟังกลบและเผาทำลาย ก็สร้างมลพิษให้สภาพแวดล้อม ดังนั้น เราจึงควรหันมาใช้บรรจุภัณฑ์จากธรรมชาติชนิดนี้แทน

ส่วนการต่อยอดในอนาคต จะมีการนำชานอ้อย  มาทำเป็นบรรจุภัณฑ์ใส่เครื่องใช้ไฟฟ้า และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ทดแทนกล่องพลาสติกที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน พร้อมๆ กับการรณรงค์ให้ความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวบรรจุภัณฑ์อาหารจากธรรมชาติ เพื่อกระตุ้นและสร้างจิตสำนึกให้คนไทย เห็นความสำคัญด้านสุขภาพและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมากขึ้น

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
183Article
76558Video
0Blog