วัยรุ่นจีนก็เริ่มใช้คำในภาษาอังกฤษปนกับภาษาจีน จนหลายคนมองว่า ภาษาจีนอาจเข้าขั้นวิกฤตเสียแล้ว เพราะอะไรพวกเขาจึงคิดแบบนั้น
Our World ประจำวันที่ 4 พฤษภาคม 2557
การใช้คำศัพท์ภาษาอังกฤษร่วมกับภาษาไทยอาจเป็นเรื่องที่เราพบเห็นกันได้ทั่วไป โดยเฉพาะในอินเทอร์เน็ต พฤติกรรมแบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะวัยรุ่นไทยเท่านั้น วัยรุ่นจีนก็เริ่มใช้คำในภาษาอังกฤษปนกับภาษาจีน จนหลายคนมองว่า ภาษาจีนอาจกำลังเข้าขั้นวิกฤต เพราะอะไรพวกเขาจึงคิดแบบนั้น
ปัจจุบัน หากเรามีโอกาสได้ยินคนจีนคุยกัน เราจะได้ยินคำภาษาอังกฤษปะปนอยู่ในบทสนทนาด้วย อย่างเช่น คำว่า Okay, cool หรือ bye bye ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีอักษรย่อ และคำย่อภาษาอังกฤษใช้กันทั่วไปในภาษาเขียนอีกด้วย โดยไม่มีการบัญญัตินิยามเป็นภาษาจีน อย่างเช่นคำว่า GDP, WTO, หรือ Wifi
นักภาษาศาสตร์เรียกปรากฏการณ์นี้ว่า "ศูนย์คำแปล" ซึ่งกำลังมีการถกเถียงอย่างจริงจังในสังคมจีน หลังจากหนังสือพิมพ์ เหรินหมินรื่อเป่า หนังสือพิมพ์ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนลงบทความว่าเกี่ยวกับปรากฏการณ์ 'ศูนย์คำแปล' พร้อมยกตัวอย่าง ข้อความที่ใช้ภาษาจีนปนกับภาษาอังกฤษ พร้อมบอกว่า นี่เป็นตัวอย่างที่ไม่ดีในการเขียน และอาจทำให้เกิดปัญหาในการสื่อสาร เนื่องจากไม่ใช่ทุกคนที่จะเข้าใจภาษาอังกฤษ และที่สำคัญคือ ปรากฏการณ์นี้จะทำลายความสมบูรณ์และความสอดคล้องของภาษาจีนไป
ช่วงหลายปีที่ผ่านมา ภาษาจีนรับคำจากภาษาต่างประเทศเข้ามามากมาย โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ แต่จะเป็นคำที่สามารถแปลงมาเป็นอักษรจีน ใช้ร่วมกับคำจีนอื่นๆได้อย่างดี อย่างเช่น คำว่า เรดาร์ เป็น เหลยต๋า, ช็อกโกแลต เป็น เฉี่ยวเค่อลี่, หรือแม้แต่คำว่า โคคาโคลา ก็แปลงมาเป็น เขอโข่ว เข่อเล่อ ที่แปลว่า อร่อยและสนุก ซึ่งเป็นคำแปลที่สามารถสื่อความหมายได้ดีและมีเสียงที่ใกล้เคียงกับภาษาอังกฤษอีกด้วย
แต่ที่กำลังเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ก็คือ ปัจจุบัน เริ่มไม่มีการแปลงเป็นอักษรจีนอีกต่อไป แต่ใช้ตัวโรมันของภาษาอังกฤษเขียนปนกับภาษาจีนเลย ซึ่งไม่ได้พบเห็นแต่เพียงในอินเทอร์เน็ตและหนังสือพิมพ์เท่านั้น แต่ยังปรากฏอยู่ในนิตยสารทางวิชาการอีกด้วย
นี่เป็นผลมาจากการขาดแคลนนักแปลที่ดี และปัจจุบัน คนจีนมีความรู้ภาษาอังกฤษมากขึ้น ซึ่งส่วนเป็นเพราะอินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยีต่างๆ ของตะวันตก รวมไปถึงภาพยนตร์และทีวีซีรียส์จากสหรัฐฯและอังกฤษ ที่ทำให้คนจีนเรียนรู้ภาษาอังกฤษมากขึ้น หลายคนจึงอดตั้งคำถามไม่ได้ว่า พวกเขาจะเรียนภาษาต่างประเทศไปเพื่ออะไร หากเขาไม่สามารถนำมาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และหากรัฐบาลต้องการที่จะแบนภาษาอังกฤษจริงๆ ก็ควรต้องแบนช่อง CCTV ของรัฐด้วย โทษฐานที่ใช้อักษรย่อเป็นภาษาอังกฤษ
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีคนพยายามจะชำระภาษาจีนให้บริสุทธิ์ผุดผ่องปราศจากภาษาต่างประเทศ ก่อนหน้านี้ โทรทัศน์จีนทับศัพท์คำว่า NBA การแข่งขันบาสเกตบอลของสหรัฐฯที่ได้รับความนิยมมาก���นประเทศจีน จนกระทั่งปี 2553 ที่เจ้าหน้าที่รัฐสั่งห้ามใช้คำว่า NBA ในโทรทัศน์ แต่ให้ใช้คำว่า เหม่ยจื๋อหลาน แทน ซึ่งแปลตรงตัวว่า บาสเกตบอลอาชีพของสหรัฐฯ
แต่เมื่อปี 2555 คณะจัดทำพจนานุกรมคำศัพท์ภาษาจีนใหม่ พิจารณาบรรจุคำว่า NBA และศัพท์ต่างประเทศอื่นๆ อีกกว่า 200 คำในพจนานุกรม คำว่า NBA จึงกลับมาใช้กันอย่างแพร่หลายในโทรทัศน์อีกครั้ง ต่อมา นักวิชาการกว่า 100 คน ร่วมลงชื่อในจดหมายเปิดผนึกถึงเจ้าหน้าที่ควบคุมดูแลสื่อสิ่งพิมพ์ของจีน กล่าวหาว่า คณะจัดทำพจนานุกรมทำผิดกฎหมาย และคำศัพท์และตัวย่อภาษาอังกฤษจะทำให้ความเสียหายในระยะยาวต่อภาษาจีน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมจีนอันเก่าแก่
หลายคนตั้งข้อสังเกตว่า เหตุผลที่เรื่องการใช้ภาษาต่างประเทศในประโยคภาษาจีนถูกยกมาเป็นประเด็นอีกครั้ง เพื่อเป็นการปลุกระดมทางการเมือง ว่าด้วยเรื่องของความภูมิใจและมั่นใจในวัฒนธรรมและภาษาของตัวเอง และประณามชาติตะวันตกที่ทำให้วัฒนธรรมของตนเสื่อมเสีย เพื่อให้จิตวิญญาณชาตินิยมของจีนเป็นตัวขับเคลื่อนประเทศเพื่อผงาดขึ้นเป็นผู้นำทางด้านเศรษฐกิจและวัฒนธรรม และในสถานการณ์ความขัดแย้งเรื่องพื้นที่ทางทะเลในทะเลจีนใต้และทะเลจีนตะวันออกกับหลายประเทศ ที่ล้วนเป็นพันธมิตรที่ดีกับสหรัฐฯและชาติตะวันตกอื่นๆ