เพียงแค่เริ่มต้นการเดินทางเยือนเอเชียของนายโอบามา เรื่องกรณีพิพาททางทะเลระหว่างจีนกับชาติอื่นๆ ก็กลายเป็นพาดหัวหน้าหนึ่งทั่วโลกแล้ว
เพียงแค่เริ่มต้นการเดินทางเยือนเอเชียของนายโอบามา เรื่องกรณีพิพาททางทะเลระหว่างจีนกับชาติอื่นๆ ก็กลายเป็นพาดหัวหน้าหนึ่งทั่วโลกแล้ว และคาดว่าเมื่อนายโอบามาเดินทางไปถึงมาเลเซียและฟิลิปปินส์ เรื่องนี้ก็จะกลายเป็นประเด็นอีก เพราะฉะนั้นเรามาย้อนดูกันเป็นข้อมูลไว้ล่วงหน้า ว่ากรณีพิพาทนี้ ใครอ้างสิทธิ์เหนือเกาะไหนบ้าง และจะอ้างไปเพื่ออะไร
พื้นที่ทะเลจีนใต้และจีนตะวันออกเป็นทะเลที่มีน่านน้ำทับซ้อนกันหลายประเทศ จึงไม่แปลกที่จะกลายเป็นพื้นที่พิพาททางทะเลที่ซับซ้อนที่สุดแห่งหนึ่งของโลก แต่ที่น่าสังเกตก็คือเส้นที่จีนลากแสดงอาณาเขตทางทะเล ออกมาจากแผ่นดินมากกว่าประเทศอื่นๆ เป็นรูปรังผึ้ง จนทำให้ไปซ้อนทับกับอีกหลายประเทศในอาเซียนซึ่งอยู่ด้านล่างของแผนที่
หมู่เกาะที่มีปัญหาค้างคาที่สุดหมู่เกาะแรก อยู่ในทะเลจีนตะวันออก คือหมู่เกาะเซนกากุ หรือที่จีนเรียกว่าเตียวหยู ซึ่งมีคู่กรณีคือจีนกับญี่ปุ่น ส่วนไต้หวัน จำเป็นต้องอ้างอิงทุกเกาะที่จีนอ้างสิทธิ์ เพื่อยืนยันในจุดยืนว่าไต้หวันเป็นประเทศจีนที่มีความชอบธรรมอย่างแท้จริง
ส่วนในทะเลจีนใต้ หมู่เกาะที่มีปัญหากันมากที่สุด คู่กรณีเยอะที่สุด ก็คือหมู่เกาะสแปรตลีย์ ที่จีนและไต้หวันอ้างสิทธิ์ทับซ้อนกับหลายประเทศในอาเซียน คือมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ บรูไน เวียดนาม ขณะที่หมู่เกาะพาราเซล เป็นกรณีพิพาทระหว่างจีนกับเวียดนาม โดยเกาะนี้อยู่ใต้การควบคุมของจีน แต่เวียนามพยายามอ้างสิทธิ์เหนือเกาะ ตรงข้ามกับเกาะเตียวหยู ที่ญี่ปุ่นครอบครองเกาะอยู่ แต่จีนพยายามอ้างสิทธิ์
สำหรับคำถามที่ว่าแต่ละประเทศจะอ้างสิทธิ์เหนือหมู่เกาะเหล่านี้เพื่ออะไร ทฤษฎีที่เชื่อกันมากที่สุดก็คือใต้ทะเลรอบเกาะเหล่านี้เป็นแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจำนวนมหาศาล รวมถึงยังเป็นจุดยุทธศาสตร์การเดินเรือที่สำคัญในภูมิภาค แต่ในอีกมุมหนึ่ง นักวิเคราะห์เชื่อว่านี่อาจจะเป็นเพียงการรักษาสิทธิอธิปไตยของแต่ละประเทศ เนื่องจากเกรงว่าหากไม่ทักท้วงการรุกล้ำน่านน้ำจากจีน ในอนาคตก็อาจจะโดนประเทศอื่นๆ นอกเหนือจากจีนอ้างสิทธิ์ได้ในแบบเดียวกัน