ในช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา กระแสการปกป้องสิทธิสัตว์กลับมาได้รับความสนใจอีกครั้ง ในขณะที่ กลุ่มคนที่ล่าสัตว์ให้เหตุผลว่า การล่าสัตว์เป็นวัฒนธรรมที่ทำต่อกันมาเป็นเวลานานหลายร้อยปีแล้ว ทำให้เกิดข้อถกเถียงกั
Rights Watch ประจำวันที่ 16 เมษายน 2557
ในช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา กระแสการปกป้องสิทธิสัตว์กลับมาได้รับความสนใจอีกครั้ง ในขณะที่ กลุ่มคนที่ล่าสัตว์ให้เหตุผลว่า การล่าสัตว์เป็นวัฒนธรรมที่ทำต่อกันมาเป็นเวลานานหลายร้อยปีแล้ว ทำให้เกิดข้อถกเถียงกันว่า วัฒนธรรมการล่าสำคัญกว่าสิทธิสัตว์จริงหรือไม่
เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา คณะตัวแทนด้านประมงของญี่ปุ่นประกาศยกเลิกการล่าวาฬประจำปีในมหาสมุทรแอนตาร์กติก ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 25 ปี ที่ญี่ปุ่นยกเลิกกิจกรรมล่าวาฬในมหาสมุทรดังกล่าว หลังจากที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศหรือ ICJ ลงมติให้ญี่ปุ่นยุติการออกใบอนุญาต "ล่าวาฬ" ในมหาสมุทรดังกล่าวเนื่องจากออสเตรเลียยื่นฟ้องต่อศาลโลกว่า ญี่ปุ่นล่าวาฬเพื่อการพาณิชย์ โดยใช้ข้ออ้างเรื่องการทดลองทางวิทยาศาสตร์เป็นเหตุผลบังหน้า
ก่อนหน้านี้ ชาวญี่ปุ่นหลายคนเคยอ้างว่า การล่าวาฬเป็นประเพณีที่สืบเนื่องเกือบพันปีแล้ว การที่ต่างชาติออกมาเรียกร้องให้ยุติการล่าวาฬจึงเป็นเพราะต่างชาติไม่เข้าใจวัฒนธรรมญี่ปุ่น เพราะสำหรับคนญี่ปุ่นแล้ว การล่าวาฬก็ไม่ได้แตกต่างไปจากการฆ่าสัตว์อื่นๆ อย่างเช่น หมู ไก่ หรือ ปลา นอกจากนี้ การกินถือเป็นวัฒนธรรมที่สำคัญมากสำหรับคนญี่ปุ่น และเนื้อวาฬก็เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมการกิน และยังเป็นอาหารของจักรพรรดิญี่ปุ่นอีกด้วย จึงทำให้มีอยู่ในบันทึกทางประวัติศาสตร์หลายฉบับ ฉะนั้นการยุติการล่าวาฬเปรียบเสมือนการทำลายวัฒนธรรมของญี่ปุ่นไป
นอกจากการล่าวาฬแล้ว ช่วงเดือนที่ผ่านมา ยังมีคนพูดถึงการล่าแมวน้ำของชนเผ่าอินูอิต ชนเผ่าพื้นเมืองในแคนาดามากขึ้น หลังจากที่เอลเลน ดีเจเนอเรส พิธีกรชื่อดังชาวอเมริกันออกมาเปิดเผยว่า รายได้ที่ซัมซุงได้จากภาพเซลฟี่ในตำนานที่ถ่ายกันในงานประกาศรางวัลออสการ์เมื่อเดือนที่แล้ว เกือบ 100 ล้านบาทถูกนำไปบริจาคให้กับโรงพยาบาลเด็กเซนต์จูด และสมาคมเมตตาสัตว์แห่งอเมริกา ในขณะที่สมาคมเมตตาสัตว์แห่งอเมริกากำลังรณรงค์การล่าแมวน้ำเพื่อการค้าในแคนาดาพอดี จึงทำให้ชาวอินูอิตในแคนาดาแสดงความไม่พอใจอย่างมาก
ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ชาวอินูอิตออกแคมเปญ "ซีลฟี่" ซึ่งเป็นการนำคำว่า "ซีล" ที่แปลว่าแมวน้ำมาเล่นกับคำว่า "เซลฟี่" เพื่อเป็นการตอบโต้ภาพเซลฟี่ของเอลเลน โดยชาวอินูอิตจะเซลฟี่ตัวเองกับเนื้อแมวน้ำ หรือเสื้อผ้าขนแมวน้ำ แล้วโพสต์ลงทวิตเตอร์พร้อมติดแฮชแท็ก #sealfie นอกจากนี้ หลายคนยังเลือกที่จะเมนชั่นไปหาเอลเลนเพื่ออธิบายว่า การล่าแมวน้ำเป็นวัฒนธรรมของชาวอินูอิตมาอย่างยาวนานกว่า 4,000 ปีแล้ว และเป็นไปไม่ได้เลยที่จะห้ามให้ชาวอินูอิตล่าแมวน้ำ
เหตุผลสำคัญก็คือ ทางตอนเหนือของแคนาดามีอุณหภูมิหนาวจัดทำให้มีแหล่งอาหารน้อยมาก โดยปกติแล้ว ชาวอินูอิตจะตกปลา ล่าวาฬ และแมวน้ำเพื่อมาประทังชีวิต นอกเหนือจากนี้ ชาวอินูอิตต้องนำเข้าอาหารจากที่อื่น แต่หลายครอบครัวก็ยากจนเกินกว่าจะนำเข้าอาหารจากที่อื่นตลอดเวลา อีกทั้งเนื้อแมวน้ำมีไขมันสูง และขนแมวน้ำก็สามารถนำมาทำเป็นเสื้อผ้าสวมใส่กันหนาวได้ดีอีกด้วย ฉะนั้น หลายคนจึงเรียกร้องว่า หากต้องการให้ชาวอินูอิตยุติการล่าแมวน้ำ รัฐบาลแคนาดาต้องหาวิธีรับมือกับปัญหาความยากจนและการขาดแคลนอาหารให้ได้เสียก่อน
ด้านสมาคมเมตตาสัตว์แห่งอเมริกาออกมาชี้แจงว่า สมาคมไม่ได้ต่อต้านการล่าแมวน้ำของชาวอินูอิตทางตอนเหนือของแคนาดาเลยแม้แต่น้อย เนื่องจากการล่าแมวน้ำตามประเพณีและเพื่อประทังชีวิตของชาวอินูอิตคิดเป็นร้อยละ 3 ของการล่าแมวน้ำเท่านั้น แต่ทางสมาคมประณามการล่าแมวน้ำหลายหมื่นตัวต่อปี เพื่อการค้าขนแมวน้ำทางชายฝั่งตะวันออกของแคนาดา ซึ่งเป็นการล่าที่ไม่ได้มาจากชนพื้นเมืองของอเมริกาเหนือเลยด้วยซ้ำ
เราอาจสรุปได้ว่า การล่าสัตว์เพื่อประทังชีวิตหรือเพื่อสืบสานวัฒนธรรม อาจส่งผลกระทบไม่มากนัก แต่ปัญหาที่แท้จริงอยู่ที่การแอบอ้างเอาวัฒนธรรมมาบังหน้าเพื่อทำการค้า โดยไม่ได้คำนึงว่า การล่าสัตว์ดังกล่าวทำในจำนวนมากเกินความจำเป็นหรือไม่ และสัตว์ชนิดดังกล่าวใกล้จะสูญพันธุ์หรือไม่