เหตุรุนแรงที่ก่อโดยทหารอเมริกันทั้ง 7 ครั้ง มีแรงจูงใจแตกต่างกันออกไป แต่สามารถสรุปได้เป็นสองสาเหตุใหญ่ๆ ก็คือเรื่องของอุดมการณ์ต่อต้านอเมริกันและเคร่งศาสนา กับภาวะกดดันทางจิต
เหตุรุนแรงที่ก่อโดยทหารอเมริกันทั้ง 7 ครั้ง มีแรงจูงใจแตกต่างกันออกไป แต่สามารถสรุปได้เป็นสองสาเหตุใหญ่ๆ ก็คือเรื่องของอุดมการณ์ต่อต้านอเมริกันและเคร่งศาสนา กับภาวะกดดันทางจิตที่เรียกว่า Post Trauma Stress Disorder หรือ PTSD
เมื่อเกิดเหตุการณ์กราดยิงหรือโจมตีฐานทัพสหรัฐฯ ทุกความคาดหมายมักจะพุ่งเป้าไปที่การก่อการร้าย ในฐานะที่สหรัฐฯเป็นเป้าหมายสำคัญที่สุดของกลุ่มก่อการร้ายทั่วโลก หลังการทำสงครามในตะวันออกกลาง ตามด้วยสงครามตอต้านการก่อการร้ายที่ยืดเยื้อนับสิบปี แต่จริงๆแล้ว เหตุกราดยิงที่เกิดขึ้นในฐานทัพสหรัฐฯเกือบทั้งหมด เป็นฝีมือของทหารในฐานทัพเอง และเหตุจูงใจก็ไม่ใช่การก่อการร้ายทั้งหมด
การสอบสวนเหตุกราดยิงที่เกิดขึ้นในฟอร์ตฮูดเมื่อปี 2009 สรุปได้ว่าพันตรีไนดัล ฮาซันผู้ก่อเหตุ ซึ่งมีเชื้อสายปาเลสไตน์ และนับถือศาสนาอิสลาม ก่อเหตุสังหารเพื่อนทหาร 13 ราย เนื่องจากมีแนวคิดเร่งศาสนา และต่อต้านนโยบายทำสงครามในตะวันออกกลางของสหรัฐฯ โดยหลักฐานสำคัญที่สุดก็คือเขาตะโกนคำว่า "อัลลาหุ อัคบาร์" หรือ "พระอัลเลาะห์ยิ่งใหญ่ที่สุด" ก่อนกราดยิงทหารในฐานทัพ
แต่เหตุผลด้านอุดมการณ์ ไม่ใช่สาเหตุหลักของการก่อความรุนแรงในหมู่ทหารอเมริกัน โดยในคดีกราดยิงนอกฐานทัพอเมริกันในกันดาฮาร์ ซึ่งทำให้ประชาชนชาวอัฟกันผู้บริสุทธิ์เสียชีวิตถึง 16 ราย จ่าสิบเอกโรเบิร์ต เบลส์ ผู้ก่อเหตุสังหารหมู่ครั้งนี้ถูกตรวจพบว่าเป็นโรค PTSD หรือ Post Trauma Stress Disorder และเหตุการณ์กราดยิงล่าสุดที่ฟอร์ตฮูด ทางการสหรัฐฯก็กำลังสงสัยว่าสิบโทไอแวน โลเปซ ผู้ก่อเหตุ จะป่วยด้วยโรค PTSD เช่นกัน
PTSD เป็นความผิดปกติทางจิตที่เกิดขึ้นหลังจากผ่านเหตุการณ์รุนแรงเสี่ยงเป็นเสี่ยงตาย หรือเผชิญความเครียดขั้นสูง เช่นหายนภัยทางธรรมชาติ การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ การผ่านสมรภูมิรบ หรือการปฏิบัติภารกิจพิเศษที่เหี้ยมโหด ทำให้โรคนี้เป็นโรคที่พบมากในทหารผ่านศึก หรือแม้แต่ผู้ที่ยังประจำการอยู่
ผู้ที่เป็น PTSD จะมีอาการเครียดง่าย เห็นภาพหลอนของเหตุการณ์ที่ฝังใจซ้ำๆตลอดเวลา ความเครียดที่ว่านี้มักส่งผลให้ผู้ป่วยทำร้ายตัวเอง คนในครอบครัว ไปจนถึงขั้นฆ่าตัวตาย
PTSD เป็นโรคที่รักษาให้หายขาดได้โดยการบำบัดจิต บำบัดแบบกลุ่ม หรือ Group Theraphy ร่วมกับการรับประทานยา แต่บ่อยครั้งที่ผู้ป่วยไม่ยอมรับการบำบัด หรือรักษาไม่หาย เนื่องจากยังเผชิญความเครียดซ้ำซาก จนสุดท้าย สำหรับผู้ป่วยที่เป็นทหาร ความเครียดที่พุ่งสูงจะหาทางระบายออกผ่านการทำร้ายเพื่อนร่วมงาน ด้วยเหตุผลที่ว่ากองทัพสหรัฐฯเป็นต้นตอของความทุกข์ทรมานของพวกเขา