ไม่พบผลการค้นหา
ศาลโลกลงมติเสียงข้างมากพิพากษาให้การล่าวาฬของญี่ปุ่นไม่ได้มีวัตถุประสงค์ทางวิทยาศาสตร์ พร้อมยํ้าว่า ญี่ปุ่นควรยกเลิกออกใบอนุญาตล่าวาฬให้กับบริษัทต่างๆ
ศาลโลกลงมติเสียงข้างมากพิพากษาให้การล่าวาฬของญี่ปุ่นไม่ได้มีวัตถุประสงค์ทางวิทยาศาสตร์ พร้อมยํ้าว่า ญี่ปุ่นควรยกเลิกออกใบอนุญาตล่าวาฬให้กับบริษัทต่างๆ
 
ศาลโลกหรือ ICJ ลงมติด้วยคะแนน 12 ต่อ 4 เสียง สั่งให้ญี่ปุ่นยุติการออกใบอนุญาต "ล่าวาฬ" ในมหาสมุทรแอนตาร์กติก หลังจากออสเตรเลียนำสำนวนยื่นฟ้องต่อศาลโลกในปี 2553 กล่าวหาว่า ญี่ปุ่นล่าวาฬเพื่อการพาณิชย์ โดยใช้ข้ออ้างเรื่องการทดลองทางวิทยาศาสตร์เป็นเหตุผลบังหน้า ขณะที่คำตัดสินของศาลโลก ถือเป็นผลทางกฎหมายที่ผูกมัดคู่กรณีให้ต้องปฏิบัติตาม
 
ศาลโลกระบุว่า การล่าวาฬของญี่ปุ่นไม่ใช่กิจกรรมเพื่อจุดประสงค์ทางวิทยาศาสตร์เหมือนที่ญี่ปุ่นกล่าวอ้าง ขณะเดียวกัน ทางคณะผู้พิพากษาก็แนะนำให้ญี่ปุ่นยกเลิกการล่าวาฬโดยถูกกฎหมาย ด้วยการถอนใบอนุญาตล่าวาฬที่เกี่ยวข้องกับโครงการวิจัย JARPA 2 และงดการออกใบอนุญาตเพิ่มเติมให้กับผู้ประกอบการรายอื่นๆอีกในอนาคต
 
ศาลโลกระบุว่า ข้อโต้แย้งของญี่ปุ่นที่หยิบยกขึ้นมากล่าวอ้างในการต่อสู้คดีไม่มีความสมเหตุสมผล ทั้งยังขาดหลักฐานยืนยันว่าการล่าวาฬ มีความเกี่ยวข้องกับจุดประสงค์ทางวิทยาศาสตร์ ที่สำคัญ การล่าวาฬยังส่งผลกระทบรุนแรงต่อจำนวนวาฬ และอาจก่อให้เกิดการสูญพันธุ์ของสัตว์น้ำสายพันธุ์นี้ได้ในอนาคต 
 
ส่วนนักเคลื่อนไหวจำนวนมาก แสดงความหวังว่าทางการญี่ปุ่นจะยุติการล่าวาฬลงในอนาคต โดยในแต่ละปี เรือประมงญี่ปุ่นได้ล่าวาฬเป็นจำนวนรวมกันกว่า 1,000 ตัว เพื่อนำไปใช้ในด้านการบริโภคเป็นหลัก
 
ก่อนหน้านี้ การล่าวาฬถือเป็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นทั่วโลก ก่อนที่จะมีการออกสนธิสัญญาว่าด้วยเรื่องล่าวาฬในปี 2489 โดยสนธิสัญญาดังกล่าวระบุว่า การล่าวาฬเพื่อจุดประสงค์ทางวิทยาศาสตร์ สามารถทำได้โดยไม่มีข้อจำกัด ขณะที่ญี่ปุ่นได้ลงนามในสนธิสัญญานี้ และหยิบยกเหตุผลทางวิทยาศาสตร์มาใช้เป็นข้ออ้างเพื่อต่อต้านข้อเรียกร้องของนานาชาติ ที่ต้องการให้ญี่ปุ่นยุติกิจกรรมการล่าวาฬมาโดยตลอด
Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
185Article
76559Video
0Blog