บุตรสาวท่าน รัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์ ไม่คาดหวังว่าการเลือกตั้งที่กำลังเกิดขึ้น จะแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในสังคมไทยได้
เพราะคนไทยยังมีความเข้าใจเรื่องประชาธิปไตยน้อยมาก อีกทั้งยังมีอำนาจที่ไม่เปิดเผยตัวคอยควบคุมประเทศ และตัดสินใจแทนประชาชน
การประกาศยุบสภาของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เมื่อช่วงค่ำวันที่ 9 พฤษภาคมที่ผ่านมา อาจทำให้คนไทยหลายคนมองว่า นี่คือหนทางสู่การแก้ปัญหาความขัดแย้งในสังคมไทย แต่สำหรับ อาจารย์ดุษฎี พนมยงค์ บุญทัศนกุล บุตรสาวท่านรัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์ ผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 กลับมองว่าการเลือกตั้งที่กำลังเกิดขึ้นในวันที่ 3 กรกฎาคมนี้ ไม่น่าจะเป็นความหวังครั้งสำคัญในการแก้ไขความขัดแย้งของสังคม
อาจารย์ดุษฏี มองว่า แม้สังคมไทยจะผ่านเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองมาหลายครั้ง ตลอด 79ปี ของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง แต่คนไทยส่วนใหญ่กลับไม่ศึกษาทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ และนำเอาบทเรียนมาพัฒนาประชาธิปไตย ให้บรรลุเป้าหมายตามเจตนารมณ์ของคณะราษฎร
11พฤษภาคม 2443 เป็นวันเกิดของรัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์ จึงมีการกำหนดให้วันที่11พฤษภาคมของทุกปี เป็นวันปรีดี พนมยงค์ เพื่อระลึกถึงคุณงามความดีของท่านที่ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบบ สมบูรณาญาสิทธิราชมาเป็นระบอบประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 24มิถุนายน 2475ทำให้ประเทศไทยมีประชาธิปไตยทัดเทียมกับนานาชาติ
นายปรีดี ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 7ของประเทศไทย เป็นผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในปัจจุบัน, เป็นผู้นำขบวนการเสรีไทยต่อต้านกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่น ทำให้ประเทศไทยรอดพ้นจากการเป็นผู้แพ้สงคราม
นายปรีดี ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในรัชกาลที่ 8และได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ยกย่องในฐานะ "รัฐบุรุษอาวุโส" ซึ่งถือว่าเป็นตำแหน่งทางการเมืองสูงสุดของไทย ก่อนที่จะลี้ภัยไปอยู่ต่างแดนเนื่องจากถูกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องใน เหตุการณ์สวรรคตของรัชกาลที่ 8
ผลงานด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ที่เด่นชัดและได้รับการยอบรับในระดับนานาชาติ ทำให้องค์การยูเนสโกมีมติในปี 2542 ให้นายปรีดี พนมยงค์ เป็น "บุคคลสำคัญของโลก" นายปรีดี เสียชีวิตด้วยอาการหัวใจวายในบ้านพักชานกรุงปารีส ประเทศผรั่งเศส เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2526 รวมอายุได้ 82 ปี
Produced by Voice TV