วันนี้ (20 พ.ย.) เคลม็องต์ วูล ผู้รายงานพิเศษ UN ว่าด้วยเสรีภาพในการชุมนุมและการรวมกลุ่มโดยสงบ โพสต์ข้อความบนทวิตเตอร์ของเขา แสดงความผิดหวังต่อการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไทยเมื่อวันที่ 10 พ.ย. ที่ผ่านมา ที่มีมติว่า การเรียกร้องปฏิรูปสถาบันของแกนนำผู้ชุมนุมเมื่อวันที่ 10 ส.ค.63 เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครอง และสั่งห้ามไม่ให้ทำอีกในอนาคต
ผู้รายงานพิเศษ UN ยังระบุว่า "ขอเตือนให้ประเทศไทยคำนึงถึงพันธกรณีในการปกป้องสิทธิของผู้ประท้วงในการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่าง”
ขนานไปกับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญในวันดังกล่าว ตัวแทนรัฐบาลไทยนำโดยกระทรวงต่างประเทศ เดินทางไปตอบคำถามของโลกเกี่ยวกับสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทย บนเวที UPR (Universal Periodic Review) ซึ่งเป็นกลไกตรวจสอบรัฐเรื่องสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
หลายประเทศตั้งคำถามและแนะนำให้รัฐบาลไทยทบทวนและแก้ไขมาตรา 112 ทั้งออสเตรเลีย แคนาดา ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมนี สวีเดน สวิตเซอร์แลนด์ และสหรัฐอเมริกา รวมทั้งประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญอย่าง ลักซัมเบิร์ก เบลเยียม นอร์เวย์ และเดนมาร์ก
ด้านตัวแทนรัฐบาลไทยตอบประเด็นความกังวลของโลกในประเด็นมาตรา 112 ว่า
(ตัวแทนกระทรวงการต่างประเทศบนเวที UPR 2021 ณ นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์)
“สำหรับคำถามที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 112 ในประมวลกฎหมายอาญาที่ให้การปกป้องพระมหากษัตริย์จากการถูกโจมตีและคุกคามด้วยการหมิ่นประมาท ดังเช่นในรายงานของประเทศ วรรค 117 ที่ได้อธิบายไว้ว่า มาตรานี้สะท้อนวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของประเทศไทยที่มีสถาบันกษัตริย์เป็นหนึ่งในเสาหลักของประเทศที่คนไทยส่วนใหญ่เคารพนับถือเป็นอย่างมาก การมีอยู่ของมาตรานี้เชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับการปกป้องสถาบันระดับชาติที่สำคัญ และความมั่นคงของชาติ
ในแง่ของการบังคับใช้ การร้องเรียนไม่ได้นำไปสู่การฟ้องร้องและดำเนินคดีเสมอไป เมื่อพิจารณาถึงความละเอียดอ่อนของประเด็นนี้ หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายจะต้องดำเนินการตรวจสอบอย่างระมัดระวัง และการตัดสินใจขั้นสุดท้ายว่าจะดำเนินการตามคดีหรือไม่ ขึ้นอยู่กับอัยการสูงสุดเท่านั้น
การอุทธรณ์มักสามารถทำได้ และหากผู้ถูกกล่าวหาไม่มีความเสี่ยงที่จะละเมิดกฎหมายอีก พวกเขาเหล่านั้นจะได้รับการประกันตัว
เช่นเดียวกับในหลายประเทศ การทบทวนกฎหมายเป็นสิ่งที่คนไทยจะต้องตัดสินใจ การอภิปรายเรื่องนี้ในปัจจุบันสะท้อนให้เห็นถึงการทำงานของกลไกรัฐสภาและรัฐธรรมนูญที่เปิดโอกาสให้มีการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างในการพิจารณากฎหมายที่สำคัญนี้”
โลกยังกังวลเรื่องสิทธิในการแสดงออกในประเทศไทย
นอกจากมาตรา 112 หลายประเทศตั้งคำถามเรื่องสิทธิในการแสดงออก โดยเม็กซิโกและโปรตุเกสแนะนำให้ประเทศไทย “ทำให้การแสดงออกไม่ใช่อาชญากรรม”
ด้านตัวแทนกระทรวงต่างประเทศของไทยตอบคำถามโลกในประเด็นเสรีภาพในการแสดงออกว่า
“สำหรับประเด็นเรื่องเสรีภาพในการแสดงออก ประเทศไทยได้ปฏิบัติตามพันธกรณีภายใต้ ICCPR เรื่องนี้ถูกกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2560 ของเรา ซึ่งเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนในการบริหารประเทศ
ในขณะเดียวกัน รัฐบาลต้องมั่นใจว่า การใช้เสรีภาพในการแสดงออกเป็นไปอย่างสมดุล และถูกปฏิบัติภายในขอบเขตของกฎหมาย และต้องป้องกันการใช้เสรีภาพในการแสดงออกในทางที่ผิด อันกระทบต่อสิทธิและชื่อเสียงของผู้อื่น รวมทั้งเป็นการยุยงให้เกิดความเกลียดชัง และบ่อนทำลายความมั่นคงของชาติและความสงบเรียบร้อยของสาธารณะ โดยเฉพาะในช่วง Covid-19 ที่ข้อมูลที่มาจากฐานความจริงและได้รับการตรวจสอบมีความสำคัญมากขึ้น”
(นายธานี ทองภักดี ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ บนเวที UPR 2021)
ด้านนายธานี ทองภักดี ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ได้กล่าวถึงประเด็นเสรีภาพในการแสดงออกไว้ในช่วงต้นก่อนเริ่มกระบวนการ UPR ครั้งนี้ว่า
“ด้านสิทธิพลเมืองและการเมือง เรายังคงเคารพเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออก และเสรีภาพในการชุมนุมอย่างสันติ ในขณะเดียวกัน เรายอมรับว่ายังคงมีความท้าทายในการดำเนินการ เสรีภาพในการแสดงออกควรจะต้องใช้ในลักษณะที่สร้างสรรค์และเหมาะสม โดยเฉพาะในบริบทของโควิด-19
รัฐบาลได้พยายามอำนวยความสะดวกให้กับทุกการเคลื่อนไหวที่สนับสนุนการปฏิรูปและแก้ไขรัฐธรรมนูญ รวมทั้งกฎหมายอื่นๆ โดยจัดให้มีพื้นที่และการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมา และการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ ในสังคม
เช่นเดียวกับในหลายประเทศ เราเห็นความสำคัญของการรับฟังเสียงของคนหนุ่มสาวในกระบวนการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับพวกเขา หรือในประเด็นที่พวกเขาให้ความสนใจ มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เราจะทำงานมากขึ้นในการส่งเสริมการเจรจาระหว่างรุ่น เพื่อให้คนรุ่นต่าง ๆ สามารถเรียนรู้จากกันและกันเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่สร้างสรรค์และต่อเนื่องสำหรับการพัฒนาประเทศ”
บนเวทีนั้น หลายประเทศตั้งคำถามและแนะนำให้รัฐบาลไทยทบทวนและแก้ไขมาตรา 112 แม้กระทั่งประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญอย่าง ลักซัมเบิร์ก เบลเยียม นอร์เวย์ และเดนมาร์ก นอกจากนี้ บางประเทศยังขอให้ไทย "ทำให้การแสดงออกไม่ใช่อาชญากรรม"
ตัวแทนผู้ชุมนุม #ม็อบ14พฤศจิกา แจ้งเยอรมนี: ไทยไม่ได้ทำตามที่บอกกับโลกไว้
ด้านการประท้วงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 14 พ.ย. ที่ผ่านมา ตัวแทนผู้ชุมนุมได้เข้าพบตัวแทนสถานทูตประเทศเยอรมนี และได้แจ้งกับทางเยอรมนีว่า สิ่งที่ตัวแทนรัฐบาลไทยพูดบนเวทีของสหประชาชาตินั้นไม่ตรงกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้น
หลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยออกมา กลุ่มไม่เอาระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ นำโดยกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม, กลุ่มทะลุฟ้า, กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย DRG, กลุ่มเหล่าทัพราษฎร, ศาลายาเพื่อประชาธิปไตย, SUPPORTER THAILAND, We Volunteer และคณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) ได้เข้ายื่นหนังสือให้กับตัวแทนสถานทูตเยอรมัน และได้อ่านแถลงการณ์โดยมีเนื้อหาดังนี้
แถลงการณ์ต่อต้านระบอบสมบูรณญาสิทธิราชย์
ประเทศไทยในสมัยรัชกาลที่ 10 ต่างจากประเทศไทยในสมัยรัชกาลที่ 9 : เรากำลังเดินถอยหลังสู่การปกครองโดยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่เต็มไปด้วยความวุ่นวาย
อำนาจของกษัตริย์ที่เพิ่มขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ กำลังพาประเทศไทยออกห่างจากการปกครองในระบอบประชาธิปไตยแล้วถอยหลังเข้าสู่การปกครองโดยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อย่างเต็มตัว
ฝ่ายกษัตริย์นิยมพยายามสร้างประวัติศาสตร์ใหม่ให้กษัตริย์เป็นผู้มีอำนาจปกครองประเทศส่วนประชาชนเป็นเพียงผู้อยู่อาศัย
กำหนดให้ประชาชนมีเพียงสิทธิเลือกตั้ง แต่อำนาจในการปกครอง อำนาจในการกำหนดทิศทางและอนาคตของประเทศทั้งหมดกลับไม่ได้อยู่ในมือของประชาชน
เรากำลังปกครองโดยระบอบกึ่งสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตย
การต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยในประเทศที่ปกครองโดยระบอบกึ่งสมบูรณาญาสิทธิราชย์ จึงหนีไม่พ้นที่จะต้องหยุดยั้งการขยายอำนาจของสถาบันกษัตริย์
เพื่อให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตยในประเทศที่ปกครองโดยระบอบกึ่งสมบูรณาญาสิทธิราชย์ การขับไล่ประยุทธ์และพวกพ้องจึงไม่ใช่ทางออก เพราะรากของปัญหาไม่ได้อยู่ที่ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นี่ไม่ใช่การเคลื่อนไหวเพื่อไล่ประยุทธ์
นี่ไม่ใช่การเคลื่อนไหวเพื่อยกเลิก 112
นี่ไม่ใช่การเคลื่อนไหวเพื่อปฏิรูปฯ
นี่ไม่ใช่การเคลื่อนไหวเพื่อล้มล้างฯ
แต่คือการเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์
นี่คือการต่อสู้เพื่อยืนยันว่าประเทศนี้ต้องปกครองโดยระบอบที่คนทุกคนเสมอหน้าเท่าเทียมกัน
นี่คือการต่อต้านระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เพื่อปกป้องระบอบประชาธิปไตย
สถานทูตเยอรมนีให้โอกาสทางกลุ่มส่งตัวแทนเข้าไปพูดคุยด้านใน 3 คน เมื่อการพูดคุยสิ้นสุดลง ตัวแทนทั้ง 3 คน แจ้งต่อมวลชนว่า ทางสถานฑูตได้ขอบคุณที่มายื่นหนังสือ รับทราบถึงการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่กับกลุ่มผู้ชุมนุม และคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ก่อนที่ทางกลุ่มจะประกาศยุติกิจกรรมในเวลาต่อมา