นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานในพิธีเปิดธนาคารอาหาร หรือศูนย์ BKK Food Bank แห่งที่ 50 วันนี้ (9 ก.ย. 2567) โดยมี นายพรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและผู้บริหารด้านความยั่งยืนของกรุงเทพมหานคร นางสาวมธุรส เบนท์ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตสะพานสูง ผู้บริหารกรุงเทพมหานคร สำนักพัฒนาสังคม สำนักงานเขตสะพานสูง ภาคเอกชนผู้ให้การสนับสนุน ตัวแทนประชาชนกลุ่มเปราะบาง ร่วมพิธีเปิด ณ สำนักงานเขตสะพานสูง
ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวว่า วันนี้โครงการ BKK Food Bank เปิดครบ 50 เขต แล้วที่เขตสะพานสูง โดยเป็นจุดที่เราใช้รวบรวมของบริจาคจากประชาชนที่อยากแบ่งปัน กทม. ทำหน้าที่ส่งต่อของเหล่านี้ให้กลุ่มเปราะบาง ปัจจุบันมีกลุ่มเปราะบางอยู่ในรายชื่อประมาณ 23,000 คน แจกไปแล้วเกือบ 6,000 คน คิดว่าจากความช่วยเหลือของประชาชนจะทำให้เราแจกได้ครบและหมุนวนรอบต่อไป
ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวต่อไปว่า หลักการของโครงการนี้คือการแบ่งปัน เพราะเชื่อว่ากรุงเทพมหานครมีทรัพยากรเพียงพอสำหรับทุกคน แต่อาจจะอยู่ที่คนใดคนหนึ่งเยอะส่วนบางคนขาด ซึ่งเราสามารถเป็นตัวกลางได้ เราเคยเห็นโครงการเหล่านี้ในหลายประเทศทั่วโลก เชื่อว่าอนาคตทั่วโลกต้องมาดูงานที่กรุงเทพฯ โดยหลักการคือจะมีแต้มให้กลุ่มเปราะบางใช้แลกของสามารถมาเดินเลือกของได้อย่างมีศักดิ์ศรี และนอกจากของแห้งแล้วอีกรูปแบบคืออาหารสดที่ยังไม่หมดอายุแต่ไม่สามารถขายได้ที่จะรับโดยตรงจากผู้บริจาค ที่ผ่านมารับบริจาคแล้วประมาณ 2 ล้านมื้อ เกือบ 5 แสนกิโลกรัม เป็นการลด food waste หรือขยะอาหารด้วย สำหรับความยั่งยืนของโครงการคือต้องทำให้ประชาชนเชื่อใจเรา สร้างความไว้วางใจว่าของที่บริจาคถึงมือกลุ่มเปราะบางจริง ๆ มีการทำบัญชี ให้ประชนมาเป็นส่วนร่วมในการช่วยตรวจสอบ หากได้ความเชื่อใจประชาชนจะหมุนเวียนเข้ามาบริจาค โครงการนี้จะอยู่ได้ต่อไปไม่เกี่ยวกับตัวผู้ว่าฯ แล้ว เพราะ Bkk Food Bank ไม่มีคำว่าชัชชาติอยู่เลย เป็นผลงานของเขต ของคนที่มาบริจาค
“ต่อไปหากใครอยากช่วยเหลือผู้ที่ลำบาก วันที่อยากแบ่งปัน วันที่คิดถึงคนที่ยากลำบากกว่าเรา แวะนำของมาบริจาคที่สำนักงานเขตได้เลย เราจะทำหน้าที่เป็นสะพานบุญกับผู้ที่ขาดแคลน ขอบคุณทุกท่านที่ทำให้โครงการนี้สำเร็จลุล่วงครบ 50 เขต ตามที่วางแผนไว้นับตั้งแต่วันที่เข้ามาเป็นผู้ว่าฯ กทม.” ผู้ว่าฯ ชัชชาติกล่าว
ปัจจุบันในกรุงเทพมหานครยังมีประชาชนกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้สูงอายุ คนพิการ ผู้ป่วยติดเตียง ผู้มีรายได้น้อย ตกงาน รวมถึงผู้ประสบภัย ที่ยังขาดแคลนอาหารและเครื่องอุปโภคบริโภคเป็นจำนวนมาก ในขณะเดียวกันก็พบว่า 1 ใน 3 ของอาหารที่ผลิตเป็นอาหารส่วนเกิน (Food Surplus) และถูกทิ้งเป็นขยะทุกวัน และขยะที่มาจากอาหารคิดเป็น 50% ของขยะทั้งหมด กทม.จึงจัดทำโครงการ BKK Food Bank ธนาคารอาหารขึ้น โดยเป็นตัวกลางในการรวบรวมอาหาร เครื่องอุปโภคบริโภค จากผู้ที่อยากแบ่งปันเพื่อนำไปมอบให้กับผู้ที่ขาดแคลน โดยจัดเป็นที่เก็บของคล้ายๆ ร้านสะดวกซื้อ และให้กลุ่มผู้เปราะบางที่อยู่ในฐานข้อมูลของแต่ละเขตมาเลือกของที่ต้องการ เช่น ข้าวสาร ไข่ น้ำปลา น้ำตาล เสื้อผ้า และของใช้ในชีวิตประจำวัน โดยนำแต้มที่เขตมอบให้มาแลกของที่ต้องการ
วันนี้ได้เปิดครบแล้วทั้ง 50 เขต หลังจากได้เริ่มนำร่องมาตั้งแต่ตุลาคม 2565 โดยเขตล่าสุด คือ เขตสะพานสูง นอกจากเครื่องอุปโภคบริโภคแล้ว สำนักงานเขตยังมีการรับ - ส่งต่ออาหารส่วนเกิน (Food Surplus) จาก “ผู้บริจาค ตรงสู่ ผู้รับ” ในพื้นที่และให้ความช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางครอบคลุมทุกกลุ่ม โดยจะรับอาหารส่วนเกินจากผู้บริจาค สัปดาห์ละ 3 วัน (ทุกวันอังคาร พุธ พฤหัสบดี) และส่งตรงถึงมือผู้รับ เป็นการร่วมมือกับภาคเอกชน ประชาชน ศาสนสถาน สมาคม มูลนิธิต่าง ๆ ที่เป็นผู้บริจาค ซึ่งผู้ประสงค์จะบริจาคของให้กับ BKK Food Bank สามารถติดต่อได้ที่สำนักงานเขตทุกเขต
ณ ปัจจุบัน BKK Food Bank สามารถส่งต่ออาหารบริจาคได้ 488,227.29 กิโลกรัม หรือนับเป็นมื้อได้ 2,050,554.61มื้อ ถึงมือผู้รับซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบางแล้ว รวม 5,330 ราย จากข้อมูลที่ลงทะเบียนไว้ 23,476 ราย กลุ่มที่เข้ามารับบริการมากที่สุด ได้แก่ ผู้สูงอายุ 36% ประชาชนผู้มีรายได้น้อย 33% เด็ก 12% ผู้ด้อยโอกาส 6% คนพิการ 5% เด็กในศูนย์เด็กเล็กฯ 4% ผู้ป่วยติดเตียง 3% และคนไร้บ้าน 1% ประเภทอาหารที่มีน้ำหนักมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ เบเกอรี่ 312,023.91 กก. อาหารปรุงสุกพร้อมทาน 34,664.62 กก. ข้าว 32,604.6 กก. ผักและผลไม้ 16,981.9 กก. น้ำเปล่า 14,552.21 กก. คิดเป็นปริมาณคาร์บอนที่ลดได้ 1,235,215.04 กิโลCO2e