ไม่พบผลการค้นหา
คณาจารย์ เยี่ยม 4 แกนนำราษฎร พร้อมนำหนังสือฝาก 'เพนกวิน' ห่วงลูกศิษย์โดนขังลืม ยันต้องได้ประกันตัวต่อสู้คดี ขณะที่แนวร่วมธรรมศาสตร์ อ่านกวีของทนายอานนท์หน้าคุก กระตุ้นสำนึกคนในกระบวนการยุติธรรม

ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ ฯ คณาจารย์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำโดย ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เข้าเยี่ยม 4 แกนนำราษฎร ประกอบด้วยอานนท์ นำภา, พริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิน, สมยศ พฤกษาเกษมสุข และ ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม หรือ หมอลำแบงค์ หลังศาลอาญาไม่ให้ประกันตัว จากการชุมนุมเมื่อวันที่ 19-20 กันยายน 2553 โดยให้เหตุผลว่า หากให้ประกันตัว จะก่อเหตุลักษณะเดียวกับความผิดที่ถูกกล่าวหาอีก 

ผศ.ดร.ประจักษ์ ให้สัมภาษณ์ภายหลังเข้าไปในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯว่า ขณะนี้ยังไม่สามารถเข้าเยี่ยมทั้ง 4 คนได้เนื่องจากติดมาตรการ โควิด-19 ซึ่งทางเรือนจำอนุญาตให้เฉพาะทนายความเข้าเยี่ยมได้เท่านั้น


ขอให้ยึดหลักฐานจนกว่าจะมีคำพิพากษา

อย่างไรก็ดี ผศ.ดร.ประจักษ์ อ่านแถลงการณ์เรียกร้องคืนสิทธิในการได้รับการประกันตัว ระหว่างถูกดำเนินคดีแก่ผู้ถูกสั่งฟ้องจากการชุมนุม หน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ โดยระบุว่า คณาจารย์ 255 รายชื่อจาก 31 สถาบัน ขอให้ศาลยึดหลักสันติฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ถูกกล่าวหานั้นเป็นผู้ บริสุทธิ์จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด และในการวินิจฉัยว่า จำเลยอาจไปก่อเหตุลักษณะเดียวกันอีกนั้นเป็นเสมือนการตัดสินล่วงหน้า ว่าการกระทำของผู้ถูกฟ้องเป็นการกระทำผิดทั้งๆที่กระบวนการไต่สวนยังไม่ได้เริ่มต้น ซึ่งขัดกับหลักการของรัฐธรรมนูญในมาตรา 29 

อีกทั้งการไม่ให้ประกันตัวในระหว่างถูกดำเนินคดี หากภายหลังศาลมีคำพิพากษาว่าผู้ถูกสั่งฟ้องไม่ได้กระทำความผิด เท่ากับเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพในระหว่างถูกจองจำโดยเฉพาะกรณีของนายพริษฐ์ ซึ่งเป็นนักศึกษา การไม่ให้ประกันตัวในระหว่างถูกดำเนินคดี หมายถึงศาลได้ลิดรอนสิทธิในการศึกษาไปด้วย นอกจากนี้ ขอให้จับตาดูการฟ้องดำเนินคดีอีกจำนวนมากต่อผู้ชุมนุม โดยเฉพาะในวันที่ 17 กุมภาพันธ์นี้ จะมีหมายสั่งฟ้องอีก 24 คน ซึ่งเป็นคดีการเมืองที่รัฐเป็นคู่ขัดแย้งโดยตรง จึงมีความจำเป็นที่สถาบันตุลาการต้องรักษาความเป็นอิสระและสมดุลของการปกป้องหลักสิทธิเสรีภาพของประชาชน และที่ผ่านมาการให้ประกันตัวผู้ชุมนุมในคดีทางการเมืองทั้งเสื้อเหลืองเสื้อแดงช่วยประคับประคองไม่ให้ความขัดแย้งลุกลามบานปลายได้ค่อนข้างดี ซึ่งตรงกันข้ามการไม่ให้ประกันตัวมีแนวโน้มที่จะนำไปสู่ความขัดแย้งที่ขยายตัวรุนแรงยิ่งขึ้น 


ร่ายบทกวีถึงตุลาการ

จากนั้น ชนินทร์ วงษ์ศรี และชลธิศ โชติสวัสดิ์ แกนนำแนวมร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม อ่านบทกวีถึงมหาตุลาการ ที่แต่งโดยอานนท์ นำภา เมื่อปี 2553 เพื่อสะท้อนถึงการทำหน้าที่ของกระบวนการยุติธรรมว่่า

คือตราชู ผู้ชี้ เสรีสิทธิ

คือศาลสถิต ยุติธรรม นำสมัย

คือหลัก ประกัน ประชาธิปไตย

มิใช่  อภิชน  คนชั้นฟ้า

ครุยที่สวม นั้นมา จากภาษี

รถที่ขี่ เงินใคร ให้หรูหรา

ข้าวที่กิน ดินที่ย่ำ บ้านงามตา

ล้วนแต่เงิน ของมหา ประชาชน

มิได้ อวตาร มาโปรดสัตว์

แต่เป็น "ลูกจ้างรัฐ" ตั้งแต่ต้น

ให้อำนาจ แล้วอย่าหลง ทนงตน

ว่าเป็นคน เหนือคน ชี้เป็น-ตาย   

เสาหลัก ต้องเป็นหลัก อันศักดิ์สิทธิ์

ใช่ต้องลม เพียงนิด ก็ล้มหงาย

ยิ่งเสาสูง ใจต้องสูง เด่นท้าท้าย

ใช่ใจง่าย เห็นเงิน แล้วเออออ

ต้องเปิด โลกทัศน์ อย่างชัดเจน

ใช่ซ่อนเร้น อ่านตำรา แต่ในหอ

ออกบัลลังค์ นั่งเพลิน คำเยินยอ

เลือกเหล่ากอ มากอง ห้องทำงาน               

ตุลาการ คือหนึ่ง อธิปไตย

อันเป็นของ คนไทย ไพร่-ชาวบ้าน        

มิใช่ของ ใครผู้หนึ่ง ซึ่งดักดาน

แต่เป็น "ตุลาการ" ประชาชน

ฉะนั้นพึง สำนึก มโนทัศน์

ใช่ด้านดัด  มืดดับ ด้วยสับสน

เปื้อนราคิน กินสินบาท คาดสินบน

แล้วแบ่งคน แบ่งชั้น บัญชาชี้

เถิด"ตุลาการ" จงคิด อย่างอิสระ

รับภาระ อันหนักหนา ทำหน้าที่

หากรับใช้ ใบสั่ง ดั่งกาลี

ตุลาการ เช่นนี้ อย่ามีเลย

 

อ่านเพิ่มเติม