เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 23 มิ.ย. 2564 ที่รัฐสภา ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาพิจารณาเรื่องด่วน ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา จำนวน 13 ฉบับ ที่เสนอโดยพรรคร่วมรัฐบาลและฝ่ายค้าน โดยทันทีที่เปิดประชุม นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน เพื่อไทย หารือต่อที่ประชุม ว่า ฝ่ายค้านไม่เห็นด้วยที่ประธานรัฐสภาไม่บรรจุญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ให้มี ส.ส.ร. ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เข้าสู่การพิจารณา โดยอ้างว่าไม่เป็นไปตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ และคำวินิฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ แต่ศาลไม่ได้ห้ามทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพียงแต่ต้องถามความเห็นของประชาชน ทั้งก่อนและหลังทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้ว ดังนั้นฝ่ายค้านเห็นว่าการยื่นร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ชอบด้วยกฎหมาย สามารถดำเนินการได้ และถือเป็นการเริ่มต้นจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มาจากประชาชนโดยแท้
จากความเห็นฝ่ายกฎหมายของรัฐสภา ว่า มาตรา 256 หมวด 15/1 เป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นการพิจารณาเกิดกว่า ที่ศาลวินิฉัยปิดกั้นอำนาจหน้าที่ของรัฐสภา จึงขอให้ประธานรัฐสภา ทบทวน บรรจุวาระดังกล่าวให้สมาชิกพิจารณา แต่เชื่อว่า จะไม่มีการลงมติ เพื่อนำไปทำประชามตามกระบวนการก่อน
ขณะที่ ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ย้ำว่า ตนเองเคารพความเห็นของทุกฝ่าย แต่ขอให้ทุกคนเคารพกติกา ระเบียบ แต่การบรรจุระเบียบวาระต้องผ่านการพิจารณาจากฝ่ายกฎหมายของรัฐสภา เพื่อจัดลำดับความสำคัญ และข้อกฎหมาย โดยเฉพาะการแก้ไข หมวด 15/1 ใน มาตรา 256 นั้น เป็นการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ประกอบกับคำวินิจฉัยชองศาลรัฐธรรมนูญ ชี้ชัดเจนว่าการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ให้ทำประชามติถามความเห็นของประชาชนก่อน
ประธานรัฐสภา ยืนยันว่าตลอด 2 ปี ของการทำหน้าที่ประธานรัฐสภา ไม่เคยมีใครบังคับให้ทำอย่างใดอย่างหนึ่ง แม้แต่นายกรัฐมนตรีก็ตาม ตนเองทำหน้าที่ด้วยความสุจริต เป็นธรรมตามกฎหมาย และไม่อยากถูก ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดฐานละเว้นปฏิบัติหน้าที่
จากนั้น ที่ประชุมได้เริ่มให้ผู้ยื่นญัตติแต่ละฉบับได้นำเสนอหลักการและเหตุผลของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับ
ไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เสนอว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่พรรค พปชร.เสนอนั้น เพื่อแสดงความจริงใจและจริงจังของพรรค พปชร.ในการแสวงหาจุดร่วมสงวนจุดต่าง ไม่ได้ขัดขวางอย่างที่ถูกกล่าวหา พรรค พปชร.ตั้งใจจะแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ให้สำเร็จ เพื่อให้เห็นว่า พรรค พปชร. และ ส.ว.ที่มักถูกกล่าวหาว่าขัดขวางหรือล้มการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ไม่จริง พรรค พปชร.หวังเป็นผู้นำในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ หากประเด็นแก้ไขเป็นประโยชน์กับประชาชน ไม่สร้างความขัดแย้ง ไม่เสียงบประมาณแผ่นดินจำนวนมาก เชื่อว่า ส.ว.จะช่วยกันสนับสนุนให้การแก้ไขสำเร็จลุล่วงได้ โดยเราต้องการแสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง เพื่อให้ฝ่ายนิติบัญญัติได้เดินหน้าต่อไป
ไพบูลย์ กล่าวว่า พรรค พปชร.เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ 5 ประเด็น 13 มาตรา เช่น แก้ไขสิทธิด้านการประกันตัว ชุมชนมีสิทธิฟ้องหน่วยงานของรัฐ สิทธิเสรีภาพของประชาชน แก้ไขระบบการเลือกตั้ง ส.ส.ให้เป็น 2 ใบ
ส่วนการแก้ไขมาตรา 144 ว่าด้วยการให้สิทธิ ส.ส. ส.ว. และกรรรมาธิการ แปรญัตติงบประมาณ และมาตรา 185 ว่าด้วยให้สิทธิ ส.ส. แทรกแซงข้าราชการนั้น โดยภายหลัง ส.ว.ได้ทักท้วง ว่าการแก้ไขดังกล่าว จะทำให้หลักการตรวจสอบงบประมาณเสียหายในสาระสำคัญ ซึ่งส่วนตัวเห็นด้วยกับ ส.ว.หลายคน และได้พูดคุยทำความเข้าใจกับ ส.ส.แล้ว
“โดยหากร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาในวาระแรกแล้ว พรรค พปชร.จะเสนอให้กลับไปคงหลักการเข้มข้นเช่นเดิม โดยให้กลับไปใช้ตามมาตรา 144 และ 185 เช่นเดิม เพราะเข้าใจความห่วงใย ส.ว.เป็นอย่างดี ยืนยันว่า จะผลักกันให้กลับไปใช้หลักการเดิมในมาตรา 144 และ 185 ในชั้นกรรมาธิการ ขอให้สบายใจได้”
ไพบูลย์ กล่าวว่า เพื่อให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นได้จริง ลดความขัดแย้ง ไม่ต้องเสียงบประมาณกว่าพันล้านในการจัดทำประชามติ พรรค พปชร.หวังให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้ผ่อนคลายความขัดแย้งเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อ ส.ส. ส.ว.จะให้ร่วมกันดูแลทุกข์สุขของประชาชน แก้ไขความเดือดร้อนของประชาชน ซึ่งเป็นหน้าที่หลักของ ส.ส. ส.ว.
สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย เสนอว่า พรรคร่วมฝ่ายค้านเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 4 ฉบับ 1) หมวด 3 สิทธิและเสรีภาพ ไม่ว่าจะเป็น สิทธิด้านกระบวนการยุติธรรม การให้อำนาจกรรมาธิการเรียกบุคคลให้มาชี้แจง สำหรับมาตราที่มีความสำคัญและจำเป็น เช่น กำหนดห้ามการทำรัฐประหาร ห้ามนิรโทษกรรมการรัฐประหารไว้ในรัฐธรรมนูญ ห้ามศาลยอมรับการรัฐประหาร โทษการทำรัฐประหารไม่มีอายุความ และกำหนดสิทธิการต่อต้านรัฐประหาร พร้อมปฏิเสธอำนาจที่ได้มาจากการรัฐประหารเป็นประเพณีการปกครองของไทย ทั้งนี้ เพื่อแก้ไขความเคยชินของผู้นำเหล่าทัพไทย ในการทำรัฐประหาร
2) พรรคร่วมฝ่ายค้านยังเสนอแก้ไขระบบการเลือกตั้ง ให้ใช้ระบบเลือกตั้ง 2 ใบ เพราะระบบการเลือกตั้งในปัจจุบันนั้น มีปัญหาอย่างมาก โดยระบบบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ จะสะท้อนความต้องการของประชาชนได้ดีกว่า ไม่มีความยุ่งยาก 3)พรรคร่วมฝ่ายค้าน ยังเสนอแก้ไขที่มาของนายกรัฐมนตรี โดยไม่จำกัดเฉพาะผู้ที่อยู่ในบัญชีรายชื่อของพรรคการเมือง แต่ให้เลือกจากที่เป็น ส.ส.ได้ด้วย นอกจากนี้ ยังให้ยกเลิกอำนาจ ส.ว.ในการเลือกนายกรัฐมนตรี เพราะ ส.ว.ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ไม่ควรมีส่วนร่วมในการเลือกนายกฯ และ 4) ยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ ยกเลิกอำนาจ ส.ว.บางเรื่อง ยกเลิกประกาศ คำสั่ง คสช.
ศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย เสนอว่า พรรคภูมิใจไทย เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญร่วมกับพรรคร่วมรัฐบาล 8 ฉบับ อย่างไรก็ตาม ตนจะทำหน้าที่เสนอต่อรัฐสภาวันนี้ 3 ฉบับ 1) การแก้หมวด 5 หน้าที่แห่งรัฐ เพราะที่ผ่านมาเราไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับกินได้ ดังนั้น จึงเสนอให้รัฐจะต้องจัดให้ประชาชนได้รับรายได้พื้นฐานถ้วนหน้า อันจำเป็นต่อการดำรงชีวิตอย่างทั่วถึง 2) พรรคภูมิใจไทย เสนอให้มีการปรับเปลี่ยนแก้ไขยุทธศาสตร์ชาติให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เพราะเห็นว่าการมียุทธศาสตร์ 20 ปี ไม่เหมาะสม 3) ยกเลิกมาตรา 272 ตัดอำนาจ ส.ว.เลือกนายกรัฐมนตรี เพราะเห็นว่า ส.ว.ไม่มีความเชื่อมโยงกับปวงชนชาวไทยอย่างแท้จริง
จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) กล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์ เห็นว่ารัฐธรรมนูญ 2560 ยังไม่เป็นประชาธิปไตย การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นเงื่อนไขสำคัญในการเข้าร่วมรัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์ จุดยืนของพรรคประชาธิปัตย์ เห็นว่า ส.ว.ยังมีความจำเป็น แต่ ส.ว.ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง จึงควรมีอำนาจเฉพาะการกลั่นกรองกฎหมาย ไม่ควรมีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรีได้ การกำจัดอำนาจ ส.ว.นั้น ไม่ได้เป็นการกีดกันบุคคลใดบุคคลหนึ่งที่จะเป็นนายกฯในอนาคต หากบุคคลนั้นสามารถรวมเสียง ส.ส.ข้างมากได้ ก็สามารถที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีได้ ทั้งนี้ ถือเป็นการปลดล็อคข้อจำกัด ความขัแย้งทางการเมืองได้ด้วย
จุรินทร์ กล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์ มีมติรับหลักการร่าง 6 ร่างที่เสนอโดยพรรคประชาธิปัตย์ 2 ร่างที่เสนอโดยพรรคภูมิใจไทย 1 ร่างของพรรคพลังประชารัฐ และ 4 ร่างของพรรคเพื่อไทย
ดังนั้น ประชาธิปัตย์จะเห็นชอบใน 13 ร่าง เพราะเห็นว่าทั้ง 13 ร่างมีหลักการใกล้เคียงกับพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อแสวงความร่วมมือ ให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญสำเร็จ ไม่กลายเป็นวิกฤตทางการเมือง ทำให้ประเทศไทยเดินหน้าสู่ประชาธิปไตยที่ดียิ่งขึ้น
สำหรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่พรรคประชาธิปัตย์ เสนอร่วมกับพรรคภูมิใจไทยและชาติไทยพัฒนานั้น ประกอบด้วย 1. แก้ไขรัฐธรรมนูญให้สิทธิประชาชน สิทธิชุมชน สิทธิผู้บริโภค สิทธิการถือครองที่ดินดีกว่าเดิม 2. การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ให้เกิดประโยชน์กับประชาชนมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน 3. ให้การป้องกันการทุจริต สามารถทำได้จริง โดยเฉพาะการทุจริตขององค์กรอิสระอย่าง ปปช. ซึ่งรัฐธรรมนูญเปิดช่องให้อาจมีการสมยอมกันได้ 4. ทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญทำได้ง่ายกว่าที่เป็นอยู่ ถ้ายังใช้หลักเกณฑ์ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน แทบจะแก้รัฐธรรมนูญไม่ได้เลย 5. สร้างกลไกที่ทำให้การเลือกนายกฯ ยึดโยงกับประชาชนมากยิ่งขึ้น 6. แก้ไขระบบเลือกตั้งให้ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ เพื่อให้ประชาชนได้ใช้สิทธิแสดงเจตนารมณ์ของการเลือกตั้งอย่างแท้จริง