ไม่พบผลการค้นหา
เสร็จแล้ว! ร่าง พ.ร.บ.อุ้ม-ทรมาน ลุ้นแปรญัตติ 21-22 ธ.ค. นี้ หลังคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. … พิจารณารายมาตราทั้ง 34 มาตรา เสร็จสิ้นแล้ว

สำหรับสาระสำคัญในร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ฉบับของคณะกมธ.วิสามัญ มีการแก้ไขเพิ่มเติมจากร่างหลักของกระทรวงยุติธรรม พิจารณาร่วมกับร่างของ ส.ส.พรรคต่างๆ อีกสามร่าง ภายหลังพิจารณาแล้วมีเนื้อหาทั้งหมด 15 ประเด็นสำคัญประกอบด้วย

1. การบัญญัติให้การกระทำทรมาน การกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี และการกระทำให้บุคคลสูญหาย เป็นความผิดในทางอาญา ตามข้อตกลงในอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน และการกระทำอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (CAT) และอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (CED) มีลักษณะเป็นความผิดอาญาสากล 

2. การบัญญัติให้ผู้เสียหายครอบคลุมถึง สามีภริยา บุพการี ผู้สืบสันดาน ผู้ซึ่งอยู่กินกันฉันสามีภริยา ผู้อุปการะและผู้อยู่ในอุปการะ แต่ยังไม่ครอบคลุมถึงคำว่า “คู่ชีวิต”

3. การกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.นี้เป็นการห้ามโดยเด็ดขาด ไม่ให้สถานการณ์พิเศษใดๆ ไม่ว่าจะภาวะสงคราม ภาวะความไม่มั่นทางการเมืองภายในประเทศ หรือสถานการณ์ฉุกเฉินอื่นใดมาเป็นเหตุแห่งการกระทำความผิดได้

4. การห้ามผลักดันหรือส่งกลับบุคคล หากมีเหตุให้เชื่อว่าจะถูกกระทำทรมาน กระทำการที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือกระทำให้บุคคลสูญหายเมื่อถูกส่งกลับ

5. ความผิดตามพ.ร.บ.ฉบับนี้ไม่มีอายุความ 

6. ให้พนักงานอัยการ และพนักงานปกครองมีอำนาจในการสอบสวนได้

7. พนักงานอัยการ และพนักงานปกครองมีหน้าที่แจ้งสิทธิให้แก่ผู้เสียหายในการเรียกค่าสินไหมทดแทนเบื้องต้นจากการถูกกระทำตามพ.ร.บ.นี้

8. การกระทำให้บุคคลสูญหายจะต้องมีการสืบสวนจนกระทั่งมีหลักฐานเชื่อได้ว่าบุคคลดังกล่าวถึงแก่ความตาม รวมไปถึงสืบสวนจนทราบรายละเอียดการกระทำความผิดและตัวผู้กระทำผิด

9. การกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.นี้จะต้องขึ้นศาลยุติธรรมเท่านั้น แม้ขณะเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ผู้กระทำความผิดจะอยู่ในขอบเขตอำนาจศาลทหารก็ให้พิจารณาคดีในศาลยุติธรรม

10. การให้มีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ซึ่งมาจากหน่วยงานรัฐ 7 คน และผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆ ที่ผ่านการสรรหา 7 คน เพื่อติดตามตรวจข้อเท็จจริงการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.นี้ สามารถเข้าตรวจสถานที่ควบคุมตัว พิจารณารายงานสถานการณ์การกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.นี้ เสนอต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อส่งต่อให้สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาเพื่อเผยแพร่ให้ประชาชนรับทราบ รวมทั้งเสนอความคิดเห็นต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อปรับปรับกฎหมาย กฎ ระเบียบ นโยบายให้การป้องกัน และปราบปรามการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.นี้ รวมทั้งนโยบายและหลักเกณฑ์ในการช่วยเหลือเยียวยาผู้เสียหายจากการกระทำดังกล่าว

11. เมื่อมีการควบคุมตัวจะต้องมีการบันทึกภาพและเสียงขณะจับกุม และต้องแจ้งให้พนักงานอัยการและพนักงานฝ่ายปกครองในท้องที่นั้นๆ ทราบโดยทันที

12. เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบในการควบคุมตัวบุคคลจะต้องลงบันทึกการจับกุมซึ่งเป็นข้อมูลอัตลักษณ์ตัวตนบุคคล วัน เวลา สถานที่จับและปล่อยตัว รวมทั้งข้อมูลเจ้าหน้าที่ผู้ออกคำสั่งจับกุม 

13. สามีภริยา บุพการี ผู้สืบสันดาน ผู้ซึ่งอยู่กินกันฉันสามีภริยา ผู้อุปการะและผู้อยู่ในอุปการะ ผู้แทนหรือทนายความ คณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการตาม พ.ร.บ.นี้ มีสิทธิเข้าถึงข้อมูลและขอให้เจ้าหน้าที่เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกควบคุมตัวได้ และหากเจ้าหน้าที่ไม่เปิดเผยข้อมูล ให้ศาลมีอำนาจออกคำสั่งให้เปิดเผยข้อมูลหรือไม่ได้

14. สามีภริยา บุพการี ผู้สืบสันดาน ผู้ซึ่งอยู่กินกันฉันสามีภริยา ผู้อุปการะและผู้อยู่ในอุปการะ พนักงานอัยการ พนักงานฝ่ายปกครองในท้องที่ พนักงานสอบสวนหรือพนักงานสอบสวนพิเศษ สามารถร้องศาลกรณีรับทราบข้อมูลการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.นี้ เพื่อให้ศาลมีคำสั่งยุติการกระทำดังกล่าว เปลี่ยนสถานที่ควบคุมตัว หรือถ้าไม่มีเหตุจำเป็นให้ปล่อยตัวผู้ถูกควบคุมตัว รวมทั้งให้ได้พบญาติ ผู้ไว้วางใจ และทนายความ และต้องได้รับการรักษาทั้งทางร่างกายและจิตใจ และต้องมีการบันทึกทางการแพทย์ นิติวิทยาศาสตร์ และนิติจิตเวชศาสตร์ด้วย

15. ห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานหลักฐานที่เกิดจากการกระทำทรมาน การกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรี และการกระทำให้บุคคลสูญหายโดยเด็ดขาด

สาระสำคัญทั้งหมด 15 ประเด็นได้รับความร่วมมือจากกรรมาธิการเสียงส่วนใหญ่ในที่ประชุม ซึ่งบัญญัติไว้เพื่อคุ้มครองสิทธิของประชาชน ในฐานะผู้ที่อาจตกเป็นเหยื่อจากการปฏิบัติหน้าที่มิชอบหรือกระทำการนอกเหนือกฎหมายของเจ้าหน้าที่ เพื่อป้องกันและปราบปรามความผิดฐานกระทำการทรมาน กระทำการโหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือการกระทำให้บุคคลสูญหาย

ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ.นี้จะมีการแปรญัตติในชั้นคณะกรรมาธิการวิสามัญวันที่ 21-22 ธ.ค. นี้ ก่อนผลักดันเข้าที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรต่อไป

ที่มา : มูลนิธิผสานวัฒนธรรม