ศ.นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พร้อมด้วยศ.นพ.วินัย วนานุกูล หัวหน้าศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้นำเสนอข้อมูล “โครงการเพิ่มการเข้าถึงยากำพร้ากลุ่มยาต้านพิษ (Antidote) ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและเอเชียใต้” และประชาคมอาเซียน (ASEAN) เพื่อให้ สปสช.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมผลักดัน
ศ.นพ.วินัย กล่าวว่า ความสำเร็จโครงการเข้าถึงยากำพร้าและยาต้านพิษของประเทศไทยที่ได้เริ่มมาตั้งแต่ปี 2553-2554 โดยความร่วมมือ สปสช. กระทรวงสาธารณสุข องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ปัญหาการเข้าไม่ถึงยา เพราะเป็นยาที่มีอัตราการใช้น้อยมาก ไม่ทำกำไร บริษัทยาจึงไม่ผลิตและนำเข้าจนเกิดความขาดแคลนยา
โดยปีแรก สปสช.สนับสนุนงบประมาณ 5 ล้านบาท ก่อให้เกิดการสนับสนุนการผลิตและจัดหายากำพร้าและยาต้านพิษ พัฒนารูปแบบการจัดส่งและกระจายยา ช่วยลดจำนวนยาหมดอายุและงบประมาณสำรองยาของโรงพยาบาล รวมถึงฝึกอบรมแพทย์และพยาบาลในการวินิจฉัยการใช้ยาต้านพิษและดูแลผู้ป่วยต่อเนื่อง เรียกได้ว่าเป็นการพัฒนาการดูแลผู้ป่วยที่จำเป็นต้องเข้าถึงยากำพร้าและยาต้านพิษทั้งระบบ โดยปี 2556 ได้ขยายถึงกลุ่มเซรุ่มต้านพิษงู ทำให้ปัจจุบันระบบได้ครอบคลุมยากำพร้าและต้านพิษรวม 16 รายการ จากเดิมที่เริ่มต้น 6 รายการ
ศ.นพ.วินัย กล่าวต่อว่า ผลที่เกิดขึ้นทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาเพิ่มขึ้น แต่ละปีมีผู้ป่วยได้รับประโยชน์ 200–300 คน กรณีผู้ป่วยสารพิษไซยาไนด์เป็นตัวอย่างชัดเจน นอกจากได้รับการวินิจฉัยและเข้าถึงรักษาเพิ่มขึ้นแล้ว ยังลดอัตราเสียชีวิตจากร้อยละ 52 ลงมาอยู่ที่ร้อยละ 28.3 ส่วนงบประมาณบริหารจัดการยากำพร้าและยาต้านพิษทั้งระบบอยู่ที่ประมาณ 7 ล้านบาท/ปี ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่มีตัวเลขชัดเจนถึงค่าใช้จ่ายเพื่อดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้ แต่เฉพาะในส่วนเซรุ่มแก้พิษงู เดิมทีต้องใช้งบประมาณถึง 70 ล้านบาท/ปี แต่ด้วยระบบกระจายยา นอกจากทำให้การจัดซื้อเซรุ่มแก้พิษงูลดลงถึงร้อยละ 60 แล้ว และทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาเพิ่มขึ้นแล้ว ยังทำให้สภากาชาดไทยมีเซรุ่มเหลือพอเพื่อขายให้กับต่างประเทศได้
ขณะเดียวกันด้วยระบบนี้ทำให้ประเทศไทยยังสามารถช่วยเหลือประเทศเพื่อนบ้านที่มีผู้ป่วยจำเป็นต้องใช้ยากลุ่มนี้ด้วย
หัวหน้าศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี กล่าวว่า ด้วยประสิทธิผลของการบริหารจัดการยากำพร้าและยาต้านพิษที่ประเทศไทยดำเนินอยู่นี้ ปีที่ผ่านมานายทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส (Dr.Tedros Adhanom Ghebreyesus) ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก ได้เข้าเยี่ยมชมการดำเนินงานของระบบที่ศูนย์พิษวิทยาฯ พร้อมชื่นชมการบริหารจัดการที่ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงยาได้
ศ.นพ.วินัย กล่าวว่า ปัจจุบันแต่ละประเทศมีการเชื่อมต่อถึงกันในทุกด้าน ขณะที่อุบัติภัยจากสารเคมีที่รุนแรงอาจเกิดขึ้นได้ ดังนั้นการเตรียมความพร้อมรับมือจึงเป็นสิ่งสำคัญและเป็นไปตามกฎอนามัยระหว่างประเทศ ความร่วมมือกับประเทศที่มีศักยภาพในกลุ่มเอเชียตะวันออกและเอเชียใต้ ในการจัดทำระบบคลังยา กระจายและจัดส่ง จึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อเป็นระบบเชื่อมต่อระหว่างประเทศในการช่วยเหลือและประหยัดงบประมาณที่สุด โดยองค์การอนามัยโลกสำนักงานภูมิภาคเอเชียใต้-ตะวันออก (World Health Organization, South-East Asia Region Office : WHO-SEARO) ได้เข้ามามีบทบาทขับเคลื่อนในเรื่องนี้ เพื่อให้ประเทศเอเชียตะวันออกและเอเชียใต้จัดทำระบบ รวมถึงการจัดซื้อยาร่วมกันภายใต้ โครงการ iCAPS (Initiation for Coordinated Antidotes Procurement in the South-East Asia region) หรือโครงการการริเริ่มการจัดหายาต้านพิษในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ได้มีการประชุมและศึกษารูปแบบการบริหารจัดการเพื่อให้เกิดการเข้าถึงยาต้านพิษแล้วที่ประเทศไทย
“ในการนำเสนอข้อมูลต่อบอร์ด สปสช.ครั้งนี้ เนื่องในวาระที่ไทยเป็นประธานอาเซียน ขอให้ช่วยผลักดันขยายโครงการนี้ให้รวมถึงประเทศในกลุ่มประชาคมอาเซียนด้วย เพราะเป็นโครงการที่มีประโยชน์ในการรับภัยพิบัติจากสารเคมีที่อาจเกิดขึ้น พร้อมขอความร่วมมือจาก สปสช. องค์การเภสัชกรรม กระทรวงสาธารณสุข ในการดำเนินงานร่วมกับศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี โดยให้ สปสช.และ อภ. เป็นศูนย์รวบรวมข้อมูลความต้องการยาจากประเทศต่างๆ เพื่อวางแผนบริหารจัดการกระจายยา รวมถึงขอให้สนับสนุนงบประมาณจัดทำเว็บไซด์ iCAPS เพื่อเป็นช่องทางการสื่อสารในการดำเนินโครงการต่อไป” หัวหน้าศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี กล่าว
สำหรับโครงการ iCAPS ระยะแรกเริ่มต้นที่กลุ่มยาต้านพิษ 8 รายการ เนื่องจากเป็นกลุ่มยาที่หายากและขาดแคลน ได้แก่
1.Activated charcoal หรือถ่านกัมมันต์ เป็นยาใช้รักษาผู้ที่ได้รับพิษหรือยาบางชนิดเกินขนาด
2.Dimercaprol (ไดเมอร์แคปรอล) รักษาภาวะเป็นพิษจากโลหะหนัก
3.CaNa2 EDTA หรือเกลือแคลเซียม รักษาโรคพิษตะกั่ว
4.D penicillamine (ดีเพนิซิลลามีน) ใช้บําบัดอาการพิษจากสารทองแดง ตะกั่ว ปรอท และสารหนู
5.Succimer (ซัคซิเมอร์) รักษาภาวะเป็นพิษจากตะกั่ว, mercury และ arsenic
6. Sodium nitrite (โซเดียมไนไตรท์) รักษาภาวะเป็นพิษจากไซยาไนต์
7. Sodium thiosulfate (โซเดียม ไทโอซัลเฟต) ใช้รักษาและบำบัดอาการผู้ป่วยที่ได้รับพิษจากสารไซยาไนด์
8.Methylene blue (เมทิลีน บลู) รักษาภาวะเมทฮีโมโกลบินีเมีย ในกรณีที่ผู้ป่วยมีภาวะขาดออกซิเจนหรือมีระดับเมทฮีโมโกลบินเกิน25-30%