ไม่พบผลการค้นหา
'แกนนำคณะก้าวหน้า' ฉายภาพบทบาทกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ต่อการบริหารราชการแผ่นดิน ห่วงผู้ประสงค์ดีอาจหวังผลประโยชน์ส่วนตน

หลังเกิดวิวาทะว่าด้วย 'วัคซีนพระราชทาน' เมื่อ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าคณะก้าวหน้า เปิดที่มาดีลการจัดหาและผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 โดยตั้งข้อสังเกตในประเด็นการเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนที่มีความเชื่อมโยงกับสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ทำให้เกิดการตอบโต้จาก อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ว่าธนาธรรู้ไปหมดทุกเรื่องแต่ไม่รู้จักสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ และขอให้ไปทำการบ้านก่อนแล้วค่อยออกมาวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งความจริงเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม 

ล่าสุด 'ปิยบุตร แสงกนกกุล' แกนนำคณะก้าวหน้า ได้ออกมาโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก ลำดับบทบาทสำคัญของกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ในข้อจำกัดของการบริหารแผ่นดินหรือธุรกิจ ประกอบไปด้วยเนื้อหาดังนี้ 

1.ในระบอบประชาธิปไตยที่กษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ หรือ Constitutional Monarchy ผู้มีอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดิน และต้องเป็นผู้รับผิดชอบ คือ คณะรัฐมนตรี และรัฐมนตรี ส่วนกษัตริย์เป็นผู้ลงพระปรมาภิไธยตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ไม่ต้องรับผิด แต่รัฐมนตรีที่ลงนามรับสนองฯต้องเป็นผู้รับผิด 

2. หลักการประชาธิปไตยเรียกร้องให้ผู้มีอำนาจและใช้อำนาจต้องถูกตรวจสอบ มีความรับผิดชอบทั้งทางการเมืองและทางกฎหมาย ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีได้ ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจได้ หากไม่ต้องการให้กษัตริย์ต้องรับผิดชอบทางการเมืองและทางกฎหมาย ก็ต้องไม่ให้กษัตริย์มีอำนาจบริหารราชการแผ่นดินหรือประกอบธุรกิจ

3. รัฐธรรมนูญไทยกำหนดว่า “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆมิได้” เพื่อให้บทบัญญัติดังกล่าวบังเกิดผลได้จริง ก็จำเป็นต้องรักษาสถานะของสถาบันกษัตริย์ให้มีความเป็นกลางทางการเมือง ป้องกันมิให้สถาบันกษัตริย์มีอำนาจบริหารราชการแผ่นดินหรือประกอบธุรกิจ

เพราะถ้ากษัตริย์มีอำนาจบริหารราชการแผ่นดินหรือประกอบธุรกิจ ก็ต้องมีความรับผิดชอบตามมา นำมาซึ่งการถูกกล่าวหาหรือฟ้องร้องได้ การใช้อำนาจบริหารราชการแผ่นดินหรือประกอบธุรกิจ ส่งผลกระทบในวงกว้าง ย่อมมีคนชอบและมีคนชัง ย่อมมีคนเห็นด้วยและเห็นต่าง ย่อมมีคนได้คนเสีย หากปล่อยให้กษัตริย์มีอำนาจบริหารราชการแผ่นดินหรือประกอบธุรกิจ ก็อาจกระทบกับสถานะอันเป็นที่ “เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้” ได้ 

4. ยกตัวอย่าง หากกษัตริย์เข้ามามีบทบาทในการบริหารราชการแผ่นดิน ในโครงการหรือนโยบายต่างๆ หากมีประชาชนที่ไม่เห็นด้วยหรือได้รับผลร้ายจากโครงการหรือนโยบายนั้น ก็เป็นธรรมดาอยู่เองที่ประชาชนต้องพุ่งเป้าไปที่กษัตริย์  หรือหากกษัตริย์เข้ามาประกอบธุรกิจ หากมีผู้ประกอบการธุรกิจที่เป็นคู่แข่ง เขาก็ย่อมตั้งคำถามได้ว่า ธุรกิจของกษัตริย์นั้นได้รับการเลือกปฏิบัติจากรัฐบาลหรือไม่ กระทบต่อหลักความเสมอภาคเท่าเทียมกันระหว่างผู้ประกอบการหรือหลักการแข่งขันที่เป็นธรรมหรือไม่ เช่นกัน ผู้บริโภคก็ย่อมเรียกร้อง วิจารณ์ ฟ้องร้องกับธุรกิจเหล่านั้นได้ กรณีทั้งหมดนี้ ย่อมกระทบถึงสถานะของสถาบันกษัตริย์ 

5.ใครก็ตามที่อ้างว่าจงรักภักดีจริง ใครก็ตามที่ต้องการปกปักรักษาสถาบันกษัตริย์จริง จำเป็นต้องช่วยกันป้องกันมิให้สถาบันกษัตริย์มีอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดินหรือประกอบธุรกิจ 

6.เช่นเดียวกัน หากกษัตริย์ต้องการดำรงรักษาสถานะ “อันเป็นที่เคารพสักการะ” ต้องการมีความคุ้มกันในการไม่ถูกกล่าวหาหรือฟ้องร้องดำเนินคดี กษัตริย์ก็ต้องไม่เข้าไปมีบทบาทในการบริหารราชการแผ่นดินหรือประกอบธุรกิจ 

7.บรรดารัฐมนตรี นักการเมือง สื่อมวลชน ประชาชน ที่สนับสนุนให้กษัตริย์มีอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดินหรือประกอบธุรกิจ หรืออ้างถึงกษัตริย์อยู่เสมอ หากพวกเขาประสงค์ดี ความประสงค์ดีเช่นว่าอาจส่งผลร้ายต่อสถานะของกษัตริย์ แต่ถ้าหากพวกเขากระทำลงไปเพราะต้องการแอบอิงเพื่อให้ฝักฝ่ายของตนได้ประโยชน์หรือเพื่อทำลายฝักฝ่ายตรงข้ามของตนแล้วล่ะก็ พวกเขาย่อมไม่ใช่ผู้รักษาสถาบันกษัตริย์

อ่านเพิ่มเติม