เวลา 10.30 น. วันที่ 30 ก.ค. 2562 อากาศร้อนอบอ้าว แสงแดดเจิดจ้า อุณหภูมิไม่ต่ำกว่า 32 องศาเซลเซียส สะท้อนถึงความแห้งแล้งในปี 2562 ได้เป็นอย่างดี แต่นั่นไม่ใช่อุปสรรคของชาวบ้านและนักท่องเที่ยวที่แห่กันมาชมซากปรักหักพังสิ่งปลูกสร้างของวัดหนองบัวใหญ่และชุมชนเก่าแก่บ้านหนองบัว ที่จมอยู่ใต้เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ต.หนองบัว อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี มาร่วม 20 ปี
ซากปรักหักพังของซุ้มประตูวัด พระพุทธรูป โบสถ์ บันไดพญานาค ทั้งหมดนี้กำลังกลายเป็นที่ตื่นเต้นของผู้คน
ศุภชัย มโนการ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เปิดเผยว่า เดิมช่วงนี้ของทุกปีไม่ค่อยมีนักท่องเที่ยว แต่เนื่องจากปีนี้น้ำลดต่ำมาก ทำให้ซากสิ่งปลูกสร้างของวัดหนองบัวใหญ่และชุมชนเก่าแก่ซึ่งตั้งมานานก่อนการสร้างเขื่อน โผล่ขึ้นมาบนพื้นที่ประมาณ 7 ไร่ สามารถเดินเที่ยวชมได้อย่างใกล้ชิด
ปัจจุบันเจ้าหน้าที่ได้ปรับพื้นที่บริเวณทางลงให้นักท่องเที่ยวสามารถนำรถยนต์ส่วนตัว ลงไปตามถนนเก่าของเมืองบาดาล ซึ่งเป็นแนวถนนลูกรังเดิม บริเวณทางเข้าวัด และชุมชนบ้านหนองบัว ระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร จากนั้นนักท่องเที่ยว ต้องเดินต่ออีกประมาณ 50 เมตร ไปยังซุ้มประตูวัดหนองบัว ซึ่งจุดนี้นักท่องเที่ยวพากันขนานนามว่าเป็นทะเลแหวก และถือเป็นแลนมาร์กแห่งใหม่บนเขื่อน
เขาบอกว่า ปีใดที่ปริมาณน้ำในเขื่อนลดต่ำกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ จะเห็นชุมชนแห่งนี้ และตั้งแต่ก่อสร้างเขื่อนมากว่า 20 ปี เพิ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 หลังเกิดครั้งแรกเมื่อปี 2558
“ปีนี้แห้งแล้งมาก เหลือปริมาณน้ำอยู่เพียงแค่ 3 เปอร์เซ็นต์ของเขื่อนเท่านั้น”
ทั้งนี้ทางเจ้าหน้าที่เขื่อนได้ร่วมกับชาวบ้านในชุมชนทำการบูรณะจัดตั้งองค์พระประธานปางสมาธิ ซึ่งได้รับความเสียหายล้มหน้าคว่ำอยู่ใต้น้ำให้ตั้งตรง และอยู่ระหว่างการจัดทำเศียรพระและส่วนอื่นๆ ของร่างกายที่ชำรุด แตกหักขึ้นมาใหม่ คาดว่าจะสามารถมาต่อองค์พระให้สมบูรณ์ได้ในสัปดาห์หน้า โดยมีการพูดคุยกับทางเจ้าอาวาสวัดหนองบัวแล้วว่าจะนำเงินจากการเปิดรับบริจาคไปมอบให้
ช่วง ศรีบำรุง ชาวบ้านวัย 78 ปีที่เคยอาศัยอยู่บริเวณนี้ตั้งแต่เกิด ก่อนถูกเวนคืนเมื่อ 20 กว่าปีก่อน เล่าว่า วัดหนองบัวใหญ่ ถือเป็นวัดประจำของตำบล เป็นพื้นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจและศูนย์รวมกิจกรรมต่างๆ ทางศาสนาของชาวบ้านรวมกว่า 200 หลังคาเรือน
“ผู้ชายในหมู่บ้านบวชพระกันที่นี่ทั้งหมดแหละ” ยายช่วงที่ได้รับเงินเวนคืนพื้นที่จากภาครัฐเป็นเงินราว 4 แสนบาท จากที่ดินจำนวน 7 ไร่ในสมัยนั้นกล่าว
เธอบอกว่าการได้กลับมาเห็นพื้นที่ชุมชนในอดีตของตัวเอง สะเทือนความทรงจำเก่าไม่น้อย
“คิดถึงเหมือนกันนะ เห็นตอมะขาม ใจหาย บ้านยายอยู่ตรงนั้นเลย” เธอชี้นิ้วให้ดู
ความแห้งแล้งครั้งนี้นำไปสู่การท่องเที่ยวและพื้นที่การค้าขาย ไล่ตั้งแต่ ลูกชิ้น ผลไม้ น้ำเปล่า น้ำอัดลม ดอกไม้ธูปเทียน รวมไปถึงแผ่นกระดาษสี่เหลี่ยมผืนผ้าใบเล็กๆ ที่กุมความหวังของผู้ซื้อไว้อย่าง “สลากกินแบ่งรัฐบาล”
น้อย วงละมาย แม่ค้าขายสลากกินแบ่งฯ บอกด้วยสีหน้าเบิกบานว่า พื้นที่แปลกๆ ทางศาสนานำไปสู่การมาเยือนของผู้คนและรายได้
“ขายได้เยอะกว่าปกติ 3-4 เท่า คนพากันมาไหว้ขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ต่างคนต่างมีความหวัง เห็นเลขนั้นบ้าง เลขนี้บ้าง”
ศุภชัย บอกว่า อยู่ระหว่างขอความร่วมกับมือนักท่องเที่ยวและผู้ค้าให้ช่วยกันดูแลพื้นที่ให้สะอาดเรียบร้อย เป็นมิตรระหว่างกันและกัน หลังจากช่วงวันหยุดยาวที่ผ่านมามีจำนวนนักท่องเที่ยวเข้ามามากถึง 3,000 – 4,000 คน
“ขยะเป็นเรื่องสำคัญมาก รวมถึงการจัดพื้นที่ค้าขายให้อยู่บริเวณด้านนอก ซึ่งก็ยังมีผู้ฝ่าฝืนอยู่” เขาบอกและว่าเตรียมพิจารณาแนวทางจัดการสิ่งปลูกสร้างเหล่านี้อีกครั้งว่าจะนำขึ้นบกชิ้นใดและอย่างไรบ้างต่อไป
ทั้งนี้เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ถือเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาณน้ำเก็บกักน้อยที่สุดในปัจจุบัน โดยเหลือปริมาณน้ำใช้การได้เพียงร้อยละ 3 เท่านั้น (ข้อมูล ณ วันที่ 29 ก.ค.62) โดยมีจำนวน 36.78 ล้านลูกบาศก์เมตร น้อยกว่าปีที่แล้ว จำนวน 299.21 ล้านลูกบาศก์เมตรอย่างมาก แต่ยังมากกว่าปี 2558 ที่เหลือเพียง 34.91 ล้านลูกบาศก์เมตร
ภาพ - เสกสรร โรจนเมธากุล
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :