ไม่พบผลการค้นหา
รศ.ดร.พรเพ็ญ วรสิทธา เจ้าของงานวิจัย 'เปลี่ยนเงินหวยเป็นเงินออม' อธิบายแนวคิดเบื้องหลังและโอกาสความสำเร็จของนโยบาย 'หวยบำเหน็จ'

ภายหลังพรรคเพื่อไทยนำเสนอ ‘หวยบำเหน็จ’ ออกมาเป็นนโยบายเด็ดในสัปดาห์ที่แล้ว จนกลายเป็นที่สนใจอย่างกว้างขวาง 'วอยซ์ออนไลน์' ได้ย้อนไปค้นว่า มีงานวิชาการใดที่เคยศึกษาเรื่องนี้บ้าง ก่อนได้พบงานวิจัยของ รศ.ดร.พรเพ็ญ วรสิทธา นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ ซึ่งเคยเสนอผลงาน "เปลี่ยนเงินหวยเป็นเงินออม" และเผยแพร่เอาไว้เมื่อปี 2557 

เธอให้สัมภาษณว่า ที่ผ่านมารู้สึกผิดหวังกับ ‘คำปฏิเสธ’ จากหลายหน่วยงานที่มีต่อโครงการ "เปลี่ยนเงินหวยเป็นเงินออม" กระทั่งล่าสุดยินดีที่ได้เห็น ‘พรรคเพื่อไทย’ ประกาศเป็นนโยบายในการหาเสียง

“เราต้องการให้ประชาชนหลุดออกจากการเป็นทาสหวยและมีความสุขกับเงินออมหลังเกษียณ” เธอกล่าวถึงความตั้งใจ ก่อนเริ่มต้นอธิบายแนวคิดเบื้องหลัง รวมถึงวิเคราะห์โอกาสความสำเร็จของนโยบาย


ความหวังไม่ใช่เรื่องน่ารังเกียจ 

รศ.ดร.พรเพ็ญ เป็นอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิ จากคณะพัฒนาการเศรษฐกิจและผู้อำนวยการศูนย์วิจัยประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน สำนักวิจัย สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) จัดทำโครงการศึกษา "ความเป็นไปได้ของการเปลี่ยนเงินหวยเป็นเงินออมของประชาชนในต่างจังหวัด" เมื่อปี 2555 

“คนรายได้ต่ำเห็นหวยเป็นความหวัง ไม่ใช่เรื่องน่ารังเกียจ เป็นการลงทุนหรือตราสารชนิดหนึ่งของเขา โดยตลอดชีวิตของแต่ละคนใช้เงินซื้อหวยหลายแสนบาท มันทำให้เราต้องสนใจศึกษาและให้ความสำคัญกับเรื่องนี้” รศ.ดร.พรเพ็ญกล่าว 

ข้อมูลที่ใช้เป็นข้อมูลปฐมภูมิจากกลุ่มตัวอย่างที่มีฐานะยากจนเเละอาศัยอยู่นอกกรุงเทพฯ จำนวน 4,800 ตัวอย่าง โดยทั้งหมดมีการศึกษาในระดับต่ำกว่าปริญญาตรี

ผลการศึกษาพบว่า 76.50 เปอร์เซ็นต์ มีการซื้อหวยใต้ดินเเละ/หรือสลากกินเเบ่งรัฐบาลโดยเหตุที่ประเทศไทยยังไม่มีตราสารทางการเงินที่เหมาะสมสำหรับคนจนนอกจากหวย  

ทั้งนี้ ผลการศึกษายืนยันว่า จำนวนกลุ่มเป้าหมายที่มีคุณสมบัติเหมาะจะเข้าร่วม "โครงการเปลี่ยนเงินหวยเป็นเงินออม" มีมากพอที่จะนำเงินหวยมาก่อตั้งกองทุนเพื่อเก็บไว้เป็นเงินออมระยะยาว เเละคืนเงินออมพร้อมผลตอบเเทนให้เเก่ผู้เข้าร่วมโครงการเมื่อเกษียณอายุ 

“ถามชาวบ้านว่ามีเงินออมไหม เขาบอกไม่มี เมื่อถามว่าหากมีเงินเหลือจะนำไปทำอะไร มากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์บอกว่าเอาไปซื้อหวย เพราะเห็นเป็นความหวัง และคิดว่าตัวเองไม่มีช่องทางการลงทุน”


หวย-ล็อตเตอรี่-สลากกินแบ่งรัฐบาล

นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ เผยว่าจากการศึกษาในต่างประเทศ พบว่าพวกเขามองหวยเป็นการพนันแบบอ่อน ในอดีตรัฐบาลหลายประเทศ ทั้งจีน อังกฤษ อิตาลี ฝรั่งเศส ใช้หวยเป็นวิธีการระดมเงิน เพื่อนำไปพัฒนาประเทศ

“เป็นตราสารที่คนจนกับคนรวยถูกรางวัลแล้วได้เท่ากัน มันเกิดความรู้สึกของความเสมอภาค” เธอระบุ และบอกว่าเมื่อจำนวนผู้เล่นและเม็ดเงินในวงจรหวยทั้งบนดินและใต้ดินนั้นมีมหาศาล ผู้นำประเทศจึงควรยอมรับความจริงและหาช่องทางสร้างประโยชน์ให้พวกเขามากที่สุด 

“อย่าซื้อหวยเลย คำเตือนที่ไม่มีใครเชื่อ ขนาดทุกคนรู้ว่ามีโอกาสถูกในเปอร์เซ็นต์ที่ต่ำมาก”


นำเงินแสนล้านไปลงทุน 

เมื่อเดือน ธ.ค. 2561 ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) เปิดผลวิจัยในหัวข้อ “หวย...ความฝันที่แลกด้วยเงินล้าน” พบว่า

"1 ใน 4 ของคนไทยซื้อลอตเตอรี่และหวยใต้ดิน รวมเป็นเงินกว่า 250,000 ล้านบาทต่อปี"

พูดง่ายๆ คือคนไทยราว 20 ล้านคน ซื้อลอตเตอรี่และเล่นหวยใต้ดินเทียบเป็นมูลค่าในแต่ละปีเท่ากับ 3 เท่าของมูลค่าซื้อกองทุน LTF และ RMF หรือมองในมุมของเศรษฐกิจเทียบเท่ากับเม็ดเงินลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน

จากการสำรวจพบอีกว่า คนที่คาดหวังว่าจะถูกลอตเตอรี่รางวัลที่ 1 มีอยู่ 44 เปอร์เซ็นต์ แต่โอกาสถูกจริงเน้นว่าเป็นเพียง 1 ในล้านและคาดว่าจะถูก 2-3 ตัวบนล่างมีอยู่ถึง 78 เปอร์เซ็นต์ แต่โอกาสถูกจริงคิดเป็น 0.4-2 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น

รายงานในส่วนของการจัดสรรรายได้นำส่งรัฐ รายได้ทั้งหมดของการขายสลากกินแบ่งรัฐบาล แบ่งเป็น 3 ส่วน

  • เงินรางวัล 60 เปอร์เซ็นต์
  • รายได้แผ่นดิน 28 เปอร์เซ็นต์
  • ค่าใช้จ่ายในการบริหาร 12 เปอร์เซ็นต์

“28 เปอร์เซ็นต์คือกำไร ซึ่งรัฐบาลควรเอามาบริหารจัดการให้เขามีความสุขในบั้นปลายชีวิต” รศ.ดร.พรเพ็ญบอกและเห็นว่าสามารถบริหารจัดการให้มีกำไรมากกว่าจำนวนดังกล่าว โดยอาจปรับลดสัดส่วนเงินรางวัลลงเล็กน้อย รวมถึงลดค่าใช้จ่ายในการบริหารลง โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย 


บันทึกแบบเต็มหน้าจอ 1932562 203403.jpg

(ที่มา สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล)

ขณะเดียวกัน เธอเห็นว่า รายได้ของหวยใต้ดินจำเป็นต้องนำเข้าสู่ระบบในโครงการเช่นกัน เนื่องจากมีเม็ดเงินหมุนเวียนมหาศาลไม่แตกต่างจากลอตเตอรี่ถูกกฎหมาย 

“อย่าให้เงินไปตกอยู่กับมาเฟีย และต้องเสียงบประมาณไปในการมาปราบปราม”

‘กำไร’ ที่ได้จากการขาย ให้นำไปลงทุนในกองทุนรวม หรือตราสารทุนอื่นๆ ลักษณะเดียวกับ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) และคืนผลตอบแทนพร้อมเงินต้นให้เเก่ผู้เข้าร่วมโครงการในวัยเกษียณอายุ แทนที่จะปล่อยให้เงินออมของประชาชนที่มีฐานะยากจนต้องสูญเปล่าไปกับการซื้อการขาย 

“ในระยะเวลา 10, 20, 30 ปี ผลตอบแทนสามารถทบต้นขึ้นไปหลายแสนล้านได้ ปัจจุบันมีตราสารทุนหลายแห่งที่บริหารได้อย่างยอดเยี่ยม”

ทั้งนี้เธอมีความเห็นว่าเป็นความไม่ยุติธรรมที่นําเงินจากการจําหน่ายลอตเตอรี่มาใช้ในสาธารณะประโยชน์ หากผู้ซื้อส่วนใหญ่คือผู้มีฐานะยากจน เพราะเท่ากับเป็นการจัดเก็บภาษีคนจนไปพัฒนาประเทศ ทําให้คนจนยิ่งจนลง และในที่สุดก็ต้องเป็นภาระของรัฐในการดูแลในวัยเกษียณ


หวย-ล็อตเตอรี่-สลากกินแบ่งรัฐบาล

อิงเลขสลากเดิม-เอื้อคนจนเป็นหลัก 

ความสำเร็จของนโยบายดังกล่าวขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการของรัฐบาลโดย รศ.ดร.พรเพ็ญ ชี้ว่า กุญแจสำคัญคือการเอื้อประโยชน์ให้กับคนจนหรือผู้มีรายได้น้อยอย่างแท้จริง มิใช่เป็นช่องทางให้กับคนรวยเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ จนกลายเป็นการซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำมากกว่าผลักดันให้เกิดการออม 

นอกจากนั้นยังควรมีรูปแบบที่ไม่แตกต่างไปจากสลากกินแบ่งรัฐบาลปัจจุบัน ทั้งในแง่ราคา การเข้าถึงโดยง่าย และไม่ทำให้ผู้ซื้อมีแรงจูงใจที่ลดลง  

“ควรออกเป็นสลากกองใหม่ที่ยึดโยง อิงเลขเดิมของลอตเตอรี่ในปัจจุบัน หากไปออกเลขใหม่จะกลายเป็นการสร้างภาระอื่นๆ ตามมา เนื่องจากมีเลขมากขึ้นก็เท่ากับมีความคาดหวังและรายจ่ายในแต่ละเดือนมากขึ้น ไม่ควรไปจำกัดว่าต้องซื้อทุกงวดทุกเดือน แต่ควรให้โอกาสประชาชนได้เลือกตามใจของตัวเอง” 


พรเพ็ญ วรสิทธา

เธอยังเห็นว่ารูปแบบเงินคืนในวัยเกษียณควรถูกจ่ายในรูปแบบเงินบำนาญมากกว่าบำเหน็จ เพื่อป้องกันการใช้จ่ายฟุ่มเฟือย  

“ต้องศึกษาอย่างรอบคอบว่าควรจ่ายเงินคืนในรูปแบบใด ปันผล บำเหน็จหรือบำนาญ โดยดูจากพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้เล่น เพื่อให้นโยบายเกิดผลประโยชน์อย่างยั่งยืน”

นักวิชาการรายนี้เน้นว่า ต้องรอบคอบกับการดำเนินการ ทำให้ใกล้เคียงกับธรรมชาติและอารมณ์ของผู้ซื้อ ด้วยแรงจูงใจที่มากกว่าซึ่งมาในรูปแบบเงินเกษียณ

“บั้นปลายชีวิต หากเรามีเงินสักก้อนที่ลงทุนไปในหวย แล้วมันเดินทางกลับมาหาเรา มันก็คงเป็นความสุขอย่างยิ่ง” เจ้าของสมการเปลี่ยนชีวิตทิ้งท้าย


พรเพ็ญ วรสิทธา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

วรรณโชค ไชยสะอาด
ผู้สื่อข่าวสังคม Voice Online
118Article
0Video
0Blog