ไม่พบผลการค้นหา
ผู้ประกอบการร้านขายส่งชุดแต่งงานยอมเลือดไหล ไม่เลิกจ้างพนักงาน ผุดไอเดียเย็บหน้ากากผ้าบริจาคทั่วประเทศ สร้างรายได้ให้ลูกจ้างในวันที่ประชาชนต้องช่วยกันเอง ย้ำ "ถ้าจะต้องมีใครสักคนที่เลือดออก เราคือคนที่แข็งแรงที่สุด"

ภูมิรัตน์ เลิศวิศิษฏ์ชัย หรือ ลักษณ์ เจ้าของร้านขายส่งชุดเจ้าสาว Bride Wholesale ให้สัมภาษณ์กับทีมข่าว 'วอยซ์ ออนไลน์' ถึงผลกระทบจากมาตรการในสถานการโควิด ตนเชื่อว่าทุกธุรกิจได้รับส่งผลหมด ในส่วนของร้านชุดเจ้าสาวที่อยู่ในห้าง พอมีคำสั่งว่าจะปิดห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้าในวันที่ 22 มี.ค. 2563 ตนรู้ข่าวล่วงหน้า 1 วันก็ต้องรีบเก็บของ ความรู้สึกเหมือนไฟไหม้ร้าน เพราะว่าชุดเราเป็นชุดสีขาว ถ้าปล่อยไว้นานๆ อาจจะเป็นราจากความชื้น หลังจากนั้นทำให้ยอดขายตกลงไปกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะจากลูกค้าขาจรที่เข้ามาเลือกดูในร้าน และร้านชุดเจ้าสาวในต่างประเทศไม่สามารถเดินทางเข้ามาได้ เพราะปกติร้านของตนเป็นเซนเตอร์ให้กับร้านค้าต่างประเทศด้วย แต่ยังโชคดีที่ปกติจะทำงานกับร้านค้าในประเทศผ่านกลุ่มออนไลน์อยู่แล้ว จึงใช้วิธีถ่ายรูปชุดเจ้าสาวทั้งหมดสามพันกว่าชุดมาทำเป็นสต็อกในออนไลน์ เพื่อให้ร้านค้าได้เลือก เพราะแม้ว่างานแต่งส่วนใหญ่จะเลื่อนออกไป แต่ร้านค้าต่างจังหวัดก็ยังทำงานอยู่ ลูกค้ายังแพลนแต่งงานอยู่ ในระหว่างนี้ก็จะมีการติดต่อร้านอาหาร ติดต่อขันหมากพลู ชุดไทย ชุดเจ้าสาวกันอยู่

ทั้งนี้ตนได้คาดการณ์เอาไว้ล่วงหน้า ตั้งแต่ก่อนตรุษจีนและเริ่มมีสัญญาณที่เมืองอู่ฮั่น จึงสต็อกของไว้ล่วงหน้า เพราะปกติจะต้องเดินทางไปติดต่อกับโรงงานในประเทศจีนทุกเดือน

อย่างไรก็ตามการปรับตัวในระยะสั้นตอนนี้ จึงเริ่มเฟซบุ๊กไลฟ์ขายสินค้าออนไลน์บ้าง แม้ก่อนหน้านี้จะยืนยันว่าชุดเจ้าสาวขายออนไลน์ไม่ได้ เพราะต้องมีการแก้ไขปรับเปลี่ยนไซส์ แต่พนักงานที่ร้านบอกให้ลองขาย ก็เลยทดลอง ปรากฎว่าขายได้บ้าง ก็ทำให้ทุกคนมีความสุขและมีกำลังใจถึงขั้นกรี๊ดกันลั่นบ้านในวันที่ขายชุดแรกทางออนไลน์ได้ แต่ถ้าถามว่ารายได้เหมือนเดิมไหมคงไม่มีทาง

ส่วนถ้าการปิดศูนย์การค้าหรือการปิดเมืองยังมีต่อเนื่องในระยะยาว ลักษณ์ กล่าวว่า ตนทนกับสภาพนี้ได้อีกไม่เกิน 2 เดือน ถ้าเป็นอย่างนั้นก็อาจจะต้องย้ายร้านออกจากห้างเพื่อให้เปิดกิจการได้ และหลังจากนี้อาจจะต้องปรับกลยุทธ์ในการขาย ปรับลดราคา อาจจะต้องทำงานเพิ่มมากขึ้น ได้เงินน้อยลงเพื่อที่จะมีรายได้ดูแลคนของเรา แล้วก็ให้มันอยู่เสมอตัวไปก่อน

เมื่อถามว่า "กลัวว่าหลังโควิดจบ พิษเศรษฐกิจมันจะทำเราเจ็บกว่านี้ไหม?" ลักษณ์ตอบว่า "ไม่มีอะไรเจ็บไปกว่านี้แล้วมั้ง ทุกวันนี้พี่ใช้คำว่าเลือดไหลออกตลอดเวลานะ คือพี่ทดแทนด้วยความสุขของคนรอบข้างพี่ กลัวไหมเหรอ มุมมองพี่เลยนะ ในทุกการเปลี่ยนแปลงจะมีความทุกข์ยากอยู่แล้ว เราต้องเรียนรู้และเท่าทันมันนะ ใช้เวลาหน่อย ปีหน้าโน่นแหละ ถึงจะเริ่มต้นค่อยๆ จากกลียุคเปลี่ยนยุคพระศรีอาริย์"

แม่ลักษณ์เจ้าของกิจการชุดแต่งงาน

ยืนยันไม่ไล่พนักงานออก จ้างช่างตัดชุดมาทำหน้ากากผ้า

ลักษณ์เล่าว่าตนเติบโตมากับครอบครัวคนจีน ดูแลคนที่ทำงานด้วยกันแบบระบบครอบครัว ถึงแม้จะไม่เกิดภาวะวิกฤตใดๆ กับการทำงาน ชีวิตพวกเขา เราก็ต้องดูแลอยู่แล้ว ดังนั้นในช่วงวิกฤตโควิด พนักงานประจำกว่า 20 คน ตนยังจ่ายเงินเดือนเต็มครบทุกคน ส่วนช่วงตัดเย็บที่ไม่มีเงินเดือน แต่รับเงินเป็นงานรายชิ้น ตนจึงนำผ้าในสต็อกมาจ้างช่างเหล่านี้ตัดเย็บหน้ากากผ้า นำไปแจกฟรีตามหน่วยงานต่างจังหวัดทั่วประเทศนับหมื่นชิ้น เช่น อสม. และโรงพยาบาลชุมชนต่างๆ โดยจุดประสงค์หลักก็เพื่อให้ช่างมีรายได้ แม้ว่าทุกวันนี้รายได้จะน้อยลง แต่รายจ่ายเพิ่มขึ้น ทั้งผ้า ค่าไฟ หรือโรงงานพลาสติกของครอบครัวตนก็ทำ Face Shield บริจาคด้วยยิ่งต้องใช้ทุนมากขึ้น แต่ก็ใช้วิธีกินอยู่อย่างประหยัดแทน

"ถ้าจะต้องมีใครสักคนที่เลือดออก แล้วเราแข็งแรงที่สุด เพราะเราเป็นผู้นำก็ให้เราออกคนเดียว...คุณประคับประคองเขาเถอะเพราะว่าเรามีกำลังมากกว่า คุณแค่เสีย 5 เปอร์เซ็นต์ 10 เปอร์เซ็นต์ 20 เปอร์เซ็นต์ 50 เปอร์เซ็นต์ จากสิ่งที่คุณมี เดี๋ยวเจตนาดีๆ ของเรามันจะตอบแทนเรากลับมาเอง พี่มองแบบนั้น และพี่กำลังทำอยู่แบบนั้นด้วย" ลักษณ์ กล่าว

แม่ลักษณ์เจ้าของกิจการชุดแต่งงาน

โจทย์ตอนนี้คือหาเงินเข้ากระเป๋าให้ได้ โดยไม่เพิ่มหนี้

ลักษณ์ มองว่าคนที่ได้รับผลกระทบจากพิษเศรษฐกิจในช่วงโควิดแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มคนที่ไม่มี กับกลุ่มคนที่มีบ้าง กับกลุ่มคนที่มีเยอะๆ กลุ่มคนที่ไม่มี คือ กลุ่มคนที่มันมืดแปดด้าน หลายคนบอกว่าให้คิดไว้เตรียมตัวสำหรับวันข้างหน้ากับความเปลี่ยนแปลง แต่ตนแย้งว่าจะไปคิดอย่างนั้นได้ยังไง วันนี้ข้าวยังไม่มีจะกินเลย และอย่ามาบอกว่าให้ขายออนไลน์ สมาร์ทโฟน พวกเขาจะซื้อได้ยังไง หาเงินเข้ากระเป๋าก็ยาก ค่าไฟก็แพง ซึ่งคนกลุ่มนี้ควรได้รับการช่วยเหลือก่อน และตัวพวกเขาเองก็ต้องไม่อายที่จะออกมาเรียกร้องขอความช่วยเหลือเพื่อให้ครอบครัวอยู่รอด

ส่วนคนที่ตกงานเหมือนเคราะห์ซ้ำกรรมซัด คนกลุ่มนี้ใหญ่ที่สุด เงินก็กำลังจะหมดและมองอนาคตไม่เห็น ที่สำคัญคือมีหนี้สินที่เร่งตามทุกวัน ซึ่งอันดับแรกต้องไปต่อรองกับเจ้าหนี้ให้ชะลอการผ่อนจ่าย และที่สำคัญคือต้องไม่สร้างหนี้เพิ่ม ไม่ทำผิดกฎหมาย และไม่ฆ่าตัวตายซึ่งจะเป็นการทิ้งภาระให้คนข้างหลัง

ขณะเดียวกันคนรวยเองก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีปัญหา เพราะคนเหล่านี้จะมองเห็นความล่มสลายที่รออยู่ข้างหน้า ไม่เพียงแค่ตัวพวกเขาแต่ยังมีอีกนับสิบนับร้อยครอบครัวที่ต้องล้มละลายตามไปด้วย หากธุรกิจหนึ่งล้มลงไป

ดังนั้นช่วงเวลานี้คือช่วงเวลาของการหาโอกาส ใครที่พอจะมีอุปกรณ์หรือสมาร์ทโฟนอาจจะลองดูของดีรอบบ้าน แล้วเอามาขายทางออนไลน์ โดยเป็นการลงทุนที่ใช้ต้นทุนน้อยที่สุด ส่วนเงินที่มีพยายามบริหารให้ใช้ให้ได้นานที่สุด และไม่ก่อหนี้เพิ่ม ขณะเดียวกันก็อย่าปฏิเสธความช่วยเหลือ หรือดูถูกน้ำใจจากคนที่ยังพอมี เพราะตนมองว่าช่วงเวลานี้คือเวลาแห่งความเอื้ออาทรซึ่งกันและกัน

"คนที่ไม่มีเลยแล้ววันนี้คุณหาเงินมาให้ครอบครัวคุณอิ่มได้ ถือว่าคุณประสบความสำเร็จแล้ว คนที่ตกงานไม่มีงานทำวันนี้คุณสามารถหาเงินเข้ากระเป๋าได้ คุณคือผู้ชนะ ส่วนคนที่มั่งมี วันนี้คุณเรียนรู้ที่จะช่วยเหลือและแบ่งปันเรายกให้คุณเป็นฮีโร่ของสังคม" ลักษณ์ กล่าว