ไม่พบผลการค้นหา
รองผู้ว่าฯ 'จักกพันธุ์' ตรวจสวนลอยฟ้าเจ้าพระยาและสวนใต้สะพานพระปกเกล้า ย้ำงบประมาณที่ใช้ปรับปรุงต้องเกิดประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริง

เวลา 09.00 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่สวนลอยฟ้าเจ้าพระยา และการปรับปรุงสวนใต้สะพานพระปกเกล้า เขตพระนคร เพื่อติดตามการขอจัดสรรงบประมาณ โดยมี ผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่สำนักสิ่งแวดล้อม สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง สำนักงานเขตพระนคร สำนักงานเขตคลองสาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล 

จักกพันธุ์2.jpgจักกพันธุ์3.jpgจักกพันธุ์4.jpgจักกพันธุ์5.jpgจักกพันธุ์6.jpg

สำหรับสวนลอยฟ้าเจ้าพระยา เป็นการปรับปรุงโครงสร้างเดิมของรางรถไฟฟ้าลาวาลิน ที่ก่อสร้างไม่เสร็จในปี พ.ศ. 2527 ให้กลายเป็นสวนสาธารณะลอยฟ้า ซึ่งมีทางเดินและทางจักรยานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ความยาว 280 เมตร ความกว้าง 8.50 เมตร โดยมีระยะห่าง 0.80 เมตร จากช่องทางเดินรถบนสะพานพระปกเกล้าทั้ง 2 ฝั่ง และความสูงคงที่วัดจากระดับพื้น 9 เมตร ติดตั้งราวกันตกความสูง 2-3 เมตร พร้อมทั้งติดตั้งลิฟต์โดยสารเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้พิการและผู้สูงอายุที่มาใช้บริการ เป็นแหล่งนันทนาการ ใช้สำหรับพักผ่อนและออกกำลังกาย เป็นจุดชมวิวกลางแม่น้ำเจ้าพระยา ท่ามกลางสีเขียวของต้นไม้ในสวนตลอดเส้นทาง อาทิ มะกอกน้ำ ชาข่อย ใบต่างเหรียญ รัก หญ้าหนวดแมว ยี่โถ ชงโค ต้อยติ่ง เอื้องหมายนา เป็นต้น โดยดำเนินการปรับปรุงในปี พ.ศ. 2561 แล้วเสร็จเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2563 การทางพิเศษแห่งประเทศไทย มอบให้กรุงเทพมหานคร โดยสำนักการวางผังและพัฒนาเมือง เป็นผู้ดูแล 

ทั้งนี้ สวนลอยฟ้าเจ้าพระยา นอกจากจะเชื่อมการสัญจรระหว่างฝั่งธนบุรีเข้ากับฝั่งพระนครแล้ว ยังเชื่อมสวนสมเด็จพระปกเกล้าฯ เขตพระนคร เข้ากับสวนป่ากรุงเทพมหานครเฉลิมพระเกียรติ เชิงสะพานพระปกเกล้า เขตคลองสาน ปัจจุบันสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ รวมถึงระบบไฟฟ้าบริเวณสวนลอยฟ้าเจ้าพระยา ได้ชำรุดเสียหาย สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง จึงขอจัดสรรงบประมาณในการปรับปรุง พร้อมทั้งจัดหาเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยในบริเวณดังกล่าว นอกจากนี้สำนักสิ่งแวดล้อม และสำนักงานเขตพระนคร เตรียมพัฒนาพื้นที่สวนสมเด็จพระปกเกล้าฯ เป็นศูนย์เรียนรู้การคัดแยกขยะมูลฝอย รวมถึงพิจารณาหาแนวทางในการปรับปรุงพื้นที่ใต้สะพานพระปกเกล้า และพื้นที่โดยรอบไปรสนียาคาร (ที่ทำการไปรษณีย์แห่งแรก) เพื่อให้เป็นระเบียบเรียบร้อย มีความร่มรื่น และสวยงาม 

“การขอจัดสรรงบประมาณในการปรับปรุงนั้น จะต้องพิจารณาถึงรูปแบบความเหมาะสม เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ขอจัดสรรงบประมาณ เพื่อให้การดำเนินงานปรับปรุงเกิดประสิทธิภาพ และเกิดประสิทธิผลตามเป้าหมาย ที่สำคัญจะต้องเกิดประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริง” รองผู้ว่าฯ จักกพันธุ์ กล่าว