ไม่พบผลการค้นหา
รองนายกฯ และรมว.พาณิชย์ เผยมติ ครม.เศรษฐกิจสั่ง 3 กระทรวงหารือร่วมเจรจาให้สหรัฐฯทบทวนมาตรการตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร ขณะที่กระทรวงพาณิชย์เตรียมตั้ง กรอ.พาณิชย์จับมือภาคเอกชนเร่งรัดส่งออกบุกตลาด 10 กลุ่มใหญ่

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เศรษฐกิจกรณีสหรัฐฯ มีคำสั่งระงับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลากากร (จีเอสพี) สินค้าประเทศไทย ว่า ที่ประชุมได้มีการหารือและได้รายงานระบุว่าจะมีผลกระทบประมาณ 1,500 ล้านบาท ถึง 1,800 ล้านบาท อย่างไรก็ตามก็ยังมีช่องทางให้สหรัฐได้ทบทวนโดยช่องทางที่จะทบทวนนั้นได้มอบหมายให้ทูตพาณิชย์ ได้ประสานกับทูตไทยประจำกรุงวอชิงตันและทูตแรงงานด้วย เพื่อที่จะหารือกับสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ หรือ USTR ซึ่งคงจะมีคำตอบกลับมาว่าจะต้องดำเนินการอย่างไรต่อไปในเร็วๆนี้ 

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจวันนี้ มอบหมายให้ 3 กระทรวงได้หารือร่วมกันประกอบด้วย กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงแรงงาน และกระทรวงพาณิชย์ เพื่อหาลู่ทางในการยื่นขอให้สหรัฐฯทบทวน สำหรับทางออกในระยะยาวนั้น กระทรวงพาณิชย์เราก็ได้เตรียมการมาก่อนหน้านี้แล้ว โดยตั้ง กรอ.พาณิชย์ (กรรมการร่วมกระทรวงพาณิชย์กับภาคเอกชน) ทั้งสภาอุตสาหกรรม สภาหอการค้าไทย สมาคมธนาคารไทย และสมาคมผู้ส่งออกสินค้าออกทางเรือ ได้มีการเตรียมการสำหรับตลาดต่างๆทั่วโลกเพื่อเพิ่มมูลค่าการส่งออกซึ่งได้ข้อสรุปแล้วว่าเราจะร่วมมือกันจัดกับภาคเอกชน เร่งรัดการส่งออก บุกตลาดใน 10 กลุ่มตลาดใหญ่ ซึ่งปัจจุบันนั้นจะมีสหรัฐอเมริกา รวมอยู่ด้วยและมีจีน อินเดีย แอฟริกาใต้ เอเชียใต้ กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง ญี่ปุ่น เกาหลี และอีกหลายตลาดรวมทั้ง ตุรกี เยอรมนีในสหภาพยุโรป และอังกฤษด้วย 

ซึ่งเตรียมแผนงานไว้แล้ว เร็วๆนี้จะนำทีมเอกชน และกระทรวงพาณิชย์ไปบุกตลาดที่ ตุรกี และเยอรมัน และหลังจากนั้นคือ ตะวันออกกลางสำหรับประเทศที่มีประชากรมาก เช่น อินเดีย จีน สหรัฐ จะลงลึกไปในหลายมณฑล หรือรายรัฐ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา เราจะมีแผนงานเจาะลึกรายรับเพราะ แต่ละรัฐจะมีความต้องการสินค้าแตกต่างกันมีศักยภาพที่เป็น ตลาดนำเข้าสินค้า ของเราได้มากขึ้น แม้ว่าเราจะไม่ได้ GSP (ในประเทศเหล่านี้)ก็ตามเป็นสิ่งที่เราจะดำเนินการ ทั้งดำเนินการมาแล้วและจะดำเนินเดินหน้าต่อไป 

เมื่อถามว่ามั่นใจขนาดไหนว่าเราจะต่อรองกับสหรัฐอเมริกาได้นั้น นายจุรินทร์ กล่าวว่า เราพยายามจะให้เขาเกิดความเข้าใจว่าบางเรื่องเราทำได้บางเรื่องทำไม่ได้ เช่น ให้ต่างด้าวตั้งสมาพันธ์แรงงานในประเทศ ซึ่งกระทรวงแรงงานได้พูดชี้แจงทำความเข้าใจว่า เราอยู่ในฐานะที่จะทำได้หรือไม่อย่างไร หรือข้อเสนออื่นๆ ซึ่งแต่ละกระทรวงหรือ แต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เป็นผู้ที่จะทำความเข้าใจ ว่าอะไรได้ หรือไม่ได้อย่างไร นี่คือสิ่งที่เราจะต้องทำ