ไม่พบผลการค้นหา
ครม.อนุมัติแล้ว วงเงิน 3.2 หมื่นล้าน มาตรการเยียวยาผู้ปกครอง นักเรียน นิสิต นักศึกษา

วันที่ 3 ก.ค. 2564 อนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติโครงการให้ความช่วยเหลือบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในภาคการเรียน ที่ 1 ปีการศึกษา 2564 รวมวงเงิน 32,000 ล้านบาท ประกอบด้วย กระทรวงศึกษาธิการ วงเงิน 22,000 ล้านบาท และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม วงเงิน 10,000 ล้านบาท รายละเอียด ดังนี้ 

1. กระทรวงศึกษาธิการ ประกอบด้วย

มาตรการที่ 1 ลดภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาให้นักเรียน/นักศึกษา ทุกคนทุกกลุ่มในสถานศึกษาของรัฐและเอกชนทั้งในและนอกสังกัด ศธ. รวมทั้งสิ้น 10,952,960 คน โดยให้ความช่วยเหลือ 2,000 บาทต่อคนในภาคการศึกษาที่ 1/2564 กรอบวงเงิน 22,000 ล้านบาท 

มาตรการที่ 2 สนับสนุนสถานศึกษาในการจัดการเรียนการสอนและแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของโรควิด-19 ไม่เกิน 10,000 บาท/โรงเรียน รวมจำนวน 34,887 แห่ง แบ่งเป็น สถานศึกษาของรัฐ 30,879 แห่ง และสถานศึกษาเอกชน ที่รับเงินอุดหนุนจากรัฐ อีก 4,008 แห่ง วงเงินรวมทั้งสิ้น 94.08 ล้านบาท   

สำหรับมาตรการที่ 1 วงเงิน 22,000 ล้านบาท ยังคงใช้จ่ายจาก พ.ร.ก. เงินกู้ ฯ ขณะที่ วงเงิน 94.08 ล้านบาท มาตรการที่ 2 เดิมที่อยู่ในเงินกู้ช่วยเหลือบรรเทาค่าใช้จ่ายด้านการศึกษานั้น ให้ใช้เงินจากงบประมาณแทน เนื่องจากไม่เข้าเงื่อนไขการใช้เงินกู้

อนุชา

2. โครงการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของนิสิต นักศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาภาครัฐและเอกชน ของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กรอบวงเงิน 10,000 ล้านบาท โดยนิสิต นักศึกษา กลุ่มเป้าหมายจำนวน 1,788,522 คน แบ่งเป็น 

1) นิสิต นักศึกษาของสถาบันอุดมศึกษาของรัฐในสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา ฯ จำนวน 1,458,978 คน 2) นิสิต นักศึกษาของสถาบันอุดมศึกษาภาคเอกชนในสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา ฯ จำนวน 285,000 คน และ 3) นักศึกษาของสถาบันอุดมศึกษาภาครัฐนอกสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา ฯ จำนวน 44,544 คน 

1. ช่วยเหลือค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของสถาบันอุดมศึกษาภาครัฐจำนวน 100 แห่ง ตั้งแต่ระดับต่ำกว่าปริญญาตรีและระดับบัณฑิตศึกษาทั้งภาคปกติ ภาคพิเศษ และภาคสมทบ

โดยลดค่าเล่าเรียนและค่าธรรมเนียมการศึกษา ที่ต้องจ่ายในส่วนที่ไม่เกิน 50,000 บาท ช่วยเหลือในอัตราร้อยละ 50 ส่วนตั้งแต่ 50,001–100,000 บาท ช่วยเหลืออัตราร้อยละ 30 และตั้งแต่ 100,001 บาทขึ้นไปช่วยเหลือในอัตราร้อยละ 10  โดยรัฐบาลและสถาบันอุดมศึกษาภาครัฐจะร่วมกันช่วยเหลือเยียวยาในสัดส่วน 6:4

2. ช่วยค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของสถาบันอุดมศึกษาภาคเอกชน จำนวน 72 แห่ง โดยเยียวยาค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา คนละ 5,000 บาท

3. ช่วยเหลือค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา อื่น ๆ เช่น การให้ทุนศึกษา ขยายเวลาการชําระ ค่าธรรมเนียมการศึกษา ผ่อนจ่ายค่าธรรมเนียมการศึกษา ขยายเวลาสําเร็จการศึกษา ลดและคืนค่าหอพัก รวมทั้งการจ้างงาน/ส่งเสริมรายได้ให้กับนักศึกษา เป็นต้น

โฆษประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า มาตรการช่วยเหลือบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาทั้งของกระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงการอุดมศึกษา ฯ มุ่งช่วยเหลือผู้ปกครองนักเรียน นิสิต นักศึกษาที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรค โควิด-19 ให้บุตรหลานยังสามารถอยู่ในระบบการศึกษาได้ต่อไปได้

ขณะเดียวกันยังลดภาระค่าใช้จ่ายภายในครัวเรือนให้กับประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจอยู่ในขณะนี้ กรณีสถานศึกษาที่อยู่ภายใต้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น คณะรัฐมนตรีขอให้พิจารณาใช้แหล่งเงินอุดหนุนขององค์กรกปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นลำดับแรกก่อน