ไม่พบผลการค้นหา
มติที่ประชุมสภาฯ ไม่รับหลักการ 169 ต่อ 69 ‘ร่างพ.ร.บ.ฉุกเฉินฯ’ ฉบับ 'ก้าวไกล' ชี้ ‘ประยุทธ์’ ต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ค้ำยันอำนาจ 'อนุชา' ลุกโต้ ไม่จำเป็นต้องแก้ เพราะ 'พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ' มีความเป็นธรรม

วันที่ 4 ส.ค. 2565 ที่รัฐสภา ในการประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. .... ที่รังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และคณะเป็นผู้เสนอวาระที่ 1 ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ขอรับไปพิจารณาก่อนรับหลักการ และได้ส่งคืนสภาฯ ให้พิจารณา โดยการเสนอร่างกฎหมายฉบับนี้นั้นเป็นไปเพื่อแทนที่พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พ.ศ. 2548

รังสิมันต์ โรม อภิปรายว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พ.ศ. 2548 ที่บังคับใช้อยู่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน และให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่บังคับใช้ข้อกำหนดที่ออกมาโดยได้รับการละเว้นการตรวจสอบถ่วงดุล ส่งผลให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี สามารถประกาศขยายระยะเวลาออกไปโดยไม่ถูกคัดค้าน จึงต้องมีการตรวจสอบให้เป็นตามหลักการแบ่งแยกอำนาจตามรัฐธรรมนูญ 

รังสิมันต์ โรม กล่าวอีกว่า เมื่อดูเนื้อหาการพิจารณาของ ครม. พบว่าสิ่งที่ได้รับกลับมาเป็นเพียงความเห็นจากข้าราชการประจำ ทั้งที่ได้เคยทำไปแล้วตั้งแต่ก่อนที่ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ จะเข้าสภาฯ ครั้งแรก ส่วนครม. ที่ขอนำร่างกลับไปพิจารณาก็ไม่มีตรงไหนที่เป็นความเห็นจากรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ทั้งที่เป็นผู้ใช้อำนาจบริหาร และจะไม่ให้บอกว่านี่คือการเตะถ่วงกระบวนการการตรากฎหมายของสภาฯ ได้อย่างไร 

รังสิมันต์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ดีขึ้นมาก จึงมีความจำเป็นที่ต้องต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทั้งที่สถานการณ์ตอนนี้ไม่เหลือความฉุกเฉินอะไรอีกต่อไป หากพ.ร.บ.โรคติดต่อฯ ไม่เพียงพอทำไมไม่แก้ไขให้ครอบคลุม และรัฐบาลมีเวลาเตรียมเรื่องนี้มาอย่างเนิ่นนาน ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ มีความจริงใจแก้ไขโควิด-19 สิ่งที่ต้องทำในช่วงการแพร่ระบาด คือการสนับสนุนการฉีดวัคซีน 

"ดังนั้น การยังคงพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ต่อไป จึงคิดเป็นอย่างอื่นไม่ได้ นอกจากรัฐบาลเสพติดอำนาจ จึงยังคงกฎหมายพิเศษฉบับนี้เอาไว้เป็นเครื่องมือเพื่อปกป้องอำนาจของตัวเอง" รังสิมันต์ โรม กล่าว 


ใช้อำนาจตามอำเภอใจ

รังสิมันต์ โรม เสริมว่า จากการสรุปรายงานของสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และหน่วยความมั่นคงที่เกี่ยวข้องที่คณะรัฐมนตรีแนบมาด้วย คือกฎหมายฉบับนี้ช่วยสร้างความมั่นใจให้เจ้าหน้าที่รัฐในการปฏิบัติงาน ตนจึงสงสัยว่า การใช้กฎหมายปกติ มีการตรวจสอบถ่วงดุล ทำให้เจ้าหน้าที่ถึงกับหมดความมั่นใจในการทำงานเลยหรือ การที่มีความมั่นใจจาก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จึงทำให้สถิติการตั้งข้อหากับประชาชนที่เห็นต่างทางการเมือง มีจำนวนไม่ต่ำกว่า 1,400 คน ทั้งที่เกิดการแพร่ระบาดจากการชุมนุมมีน้อยมาก แต่ปัจจุบันการอ้าง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ปูพรมหว่านแหได้กลายเป็นประเพณีปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ไปเรียบร้อยแล้ว

รังสิมันต์ โรม กล่าวต่อไปว่า คนมาชุมนุมใส่หน้ากากป้องกันโรคมิดชิดแค่ไหน ก็ประกาศออกลำโพงขยายเสียงไว้ก่อนว่าฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แล้วเตรียมหยิบปืนกระสุนยางรอยิงต่อเลย นี่จึงเป็นความอันตรายของพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับปัจจุบัน ที่ให้อำนาจนายกฯ หลายอย่าง โดยที่ไม่ต้องตรวจสอบอะไรเลย และยกเว้นความรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่ที่เกิดความมั่นใจผิดๆ และไปลงไม้ลงมือกับประชาชน ตนจึงมีความเห็นว่าการใช้กฎหมายดังกล่าวเป็นการใช้โดยผิดวัตถุประสงค์

"การกระทำของพล.อ.ประยุทธ์ เป็นการใช้อำนาจอย่างไม่ถูกต้อง แต่สภาฯ ไม่สามารถหยุดยั้งการใช้อำนาจที่ผิดแบบนั้นได้ ถึงเวลาแล้วที่จำเป็นต้องเพิ่มอำนาจให้กับสภาฯ เพื่อใช้ควบคุมการใช้อำนาจที่เบ็ดเสร็จเด็ดขาด” รังสิมันต์ โรม กล่าว

รังสิมันต์ โรม กล่าวทิ้งท้ายว่า สิ่งที่ตนเสนอผ่านร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ คือการทวงคืนการตรวจสอบถ่วงดุลกลับคืนมา ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และรัฐมนตรีทุกคนมีความจริงใจในการแก้ไขปัญหา ไม่ได้คิดหาเศษหาเลยจากอำนาจที่ได้เพิ่มมา ก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะต้องหวาดกลัวร่างกฎหมายฉบับนี้

นอกจากนี้ อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.นครปฐม พรรคก้าวไกล ได้ลุกขึ้นชี้แจงว่า พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ฉบับปัจจุบัน เป็น 1 ใน 3 กฎหมายที่ค้ำยันอำนาจระบอบประยุทธ์ และอีก 2 กฎหมาย ม.112 และรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 มาตรา 44 นอกจากนี้รัฐบาลได้อาศัยพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพื่อประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ เป็นครั้งที่ 19 ที่จะไปสิ้นสุดในวันที่ 30 กันยายน 2565 

อมรรัตน์ กล่าวอีกว่า ตนแน่ใจว่าจะต่อไปเรื่อยๆ จนหมดอายุรัฐบาลนี้ ความจริง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ในสถานการณ์ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ก็ถูกนำมาอ้างในสถานการณ์ที่ต้องต่อสู้กับเชื้อโรค ทั้งๆ ที่มี พ.ร.ก.โรคติดต่อฯ ซึ่งสามารถนำมาแก้บางมาตราก็สามารถนำใช้ได้แล้ว


'อนุชา' ชี้เป็นธรรมและเหมาะสม 

ด้าน อนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวชี้แจงว่า กลไกตามร่างนี้มีผลกระทบโดยตรงต่อประสิทธิภาพของสถานการณ์ฉุกเฉิน และเห็นว่าพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับปัจจุบันมีความเหมาะสม และเป็นธรรม รวมทั้งยังมีมาตราการทางกฎหมายที่เบากว่ากฎหมายต่างประเทศ ซึ่งคณะรัฐมนตรียังมีข้อห่วงกังวลต่อการแก้ไข เพราะสถานการณ์ฉุกเฉินต้องมีความรวดเร็วเพื่อทำให้สถานการณ์คลี่คลายเพื่อไม่ให้กระทบต่อการรักษาประโยชน์ของประเทศ จึงเห็นว่ายังไม่ควรรับหลักการร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวและเห็นควรบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับนี้ต่อไป

ต่อมาเวลาประมาณ 16.15 น. ที่ประชุมได้มีการลงมติไม่รับหลักการด้วยคะแนน 169 ต่อ 69 เสียง และงดออกเสียง 3 เสียง โดยใช้เวลารอสมาชิกแสดงตนในการลงมติกว่า 20 นาที จนครบองค์ประชุมที่ 240 เสียง จากนั้น สุชาติ ตันเจริญ ในฐานะประธานสภาในขณะนั้นได้สั่งปิดการประชุม ในเวลาประมาณ 16.45 น.