ไม่พบผลการค้นหา
นายกฯ ยืนยันเก็บดีเอ็นเอทหารเกณฑ์ เป็นฐานข้อมูลความมั่นคง ไม่ได้ละเมิดสิทธิใคร ขึ้นอยู่กับความยินยอม นำร่องพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ก่อน แต่ภาคประชาสังคมชี้ เป็นการเลือกปฏิบัติ เกรงว่าจะมีการนำดีเอ็นเอไปใช้ในทางที่ไม่ชอบ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. กล่าวถึงกรณีที่มูลนิธิผสานวัฒนธรรมออกแถลงการณ์คัดค้านการเก็บ ดีเอ็นเอ (DNA) ของทหารเกณฑ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องจากต้องการให้เคารพสิทธิในเนื้อตัวและร่างกาย โดยยืนยันว่า รัฐบาลเคารพสิทธิของคนไทยทุกคน

ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ชี้แจงว่าการเก็บดีเอ็นเอดังกล่าวเริ่มเป็นครั้งแรกในทหารเกณฑ์ เป็นเพียงการนำร่องที่เริ่มในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จากนั้นหากพื้นที่ต้องการดำเนินการต่อหรือขยายไปยังพื้นที่ใดให้ขึ้นกับความพร้อม ซึ่งการเก็บดีเอ็นเอนั้น ได้แจ้งให้ทหารทุกคนทราบล่วงหน้า และไม่ได้เป็นการบังคับ ส่วนใหญ่ยินยอม และการเริ่มในพื้นที่ภาคใต้เพื่อนำไปใช้เป็นฐานข้อมูลด้านความมั่นคง

ท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ เกิดขึ้นหลังจากมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 9 เม.ย. เรียกร้องให้ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องยุติการเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอของผู้เข้ารับการเกณฑ์ทหาร และทำลายตัวอย่างดีเอ็นเอที่ได้เก็บไปแล้ว เพื่อเป็นการเคารพในสิทธิในเนื้อตัวร่างกายและความเป็นส่วนตัวของผู้เข้ารับการเกณฑ์ทหาร และยึดมั่นในหลักนิติธรรม มีความโปร่งใส

เนื้อหาในแถลงการของมูลนิธิระบุรายละเอียดของเหตุการณ์ดังกล่าวว่า เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 1 เม.ย.ที่ผ่านมา มีรายงานข่าวว่าเจ้าหน้าที่ทหารได้เก็บตัวอย่างดีเอ็นเอของผู้เข้ารับการเกณฑ์ทหารในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ได้แก่ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา คือ อำเภอจะนะ นาทวี สะบ้าย้อย และเทพา โดยศูนย์สันติวิธี กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 (กอ.รมน.ภาค 4) ส่วนหน้า ได้ประกาศผ่านสื่อมวลชนว่า เป็นการเก็บมาไว้ในฐานข้อมูลเพื่ออำนวยความสะดวกในการพิสูจน์หลักฐานเมื่อเกิดเหตุความรุนแรงในพื้นที่

แสงปลายอุโมงค์'ชายแดนใต้'

จากการลงพื้นที่ของอาสาสมัครเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องดังกล่าวพบว่าเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงจากหน่วยงานรัฐบางแห่งได้เก็บตัวอย่างดีเอ็นเอจากผู้เข้ารับการเกณฑ์ทหารในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ (จชต.) จริงโดยใช้วิธีเก็บเนื้อเยื่อจากกระพุ้งแก้มทั้งสองข้างของผู้เข้ารับการเกณฑ์ทหารและจัดเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอที่ได้ไว้ในกล่องกระดาษ แล้วเขียนชื่อเจ้าของดีเอ็นเอพร้อมให้ผู้นั้นลงลายมือชื่อกำกับไว้ มีผู้เข้ารับการเกณฑ์ทหารบางรายได้ให้ข้อมูลกับอาสาสมัครว่าเข้าใจว่าเป็นขั้นตอนปกติตามกฎหมายในการเกณฑ์ทหาร บางคนแม้ไม่ต้องการให้เจ้าหน้าที่เก็บดีเอ็นเอของตน แต่จำใจต้องลงชื่อในใบให้ความยินยอมเนื่องจากเกรงกลัวเจ้าหน้าที่

ผู้เข้ารับการเกณฑ์ทหารหลายคนที่ให้ข้อมูลกับอาสาสมัครของมูลนิธิฯ กล่าวว่า พวกตนไม่ได้รับการแจ้งว่าเจ้าหน้าที่จะนำตัวอย่างดีเอ็นเอของพวกตนไปเพื่อวัตถุประสงค์ใด เอาไปทำอะไร อย่างไร ใครหรือหน่วยงานใดจะเป็นผู้ทำหน้าที่เก็บรักษา จะเก็บอย่างไร ใครจะสามารถเข้าถึงหรือใช้ตัวอย่างดีเอ็นเอของพวกตนได้อย่างไร จะมีมาตรการป้องกันไม่ให้มีผู้นำไปใช้ในทางที่ผิดหรือกลั่นแกล้งพวกตนหรือไม่ นอกจากนั้นผู้เข้ารับการเกณฑ์ทหารส่วนใหญ่ได้ลงลายมือชื่อยินยอมให้เก็บตัวอย่างดีเอ็นเอไปโดยเจ้าหน้าที่ไม่ได้แจ้งว่าพวกตนมีสิทธิที่จะปฏิเสธได้  (Prior Informed Consent -PIC) ทำให้พวกตนไม่กล้าปฏิเสธเพราะเข้าใจว่าเป็นขั้นตอนการดำเนินการที่มีกฎหมายให้อำนาจเจ้าหน้าที่ไว้หรือจำยอมให้เก็บด้วยความหวาดกลัว

การเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอของผู้เข้ารับการเกณฑ์ทหารนอกจากเป็นการดำเนินการที่มีปัญหาความไม่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ทางราชการยังเลือกที่จะดำเนินการเฉพาะในจังหวัดชายแดนใต้เท่านั้น ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเข้าใจได้ว่าเป็นการดำเนินการที่มีลักษณะของการเลือกปฏิบัติต่อประชาชนในพื้นที่ที่แตกต่างจากประชากรในพื้นที่ทั่วประเทศ อาจทำให้ประชาชนในจังหวัดชายแดนใต้เกิดความรู้สึกว่า พวกตนล้วนเป็นผู้ต้องสงสัยของเจ้าหน้าที่ว่าเป็นผู้กระทำผิด หรือเกี่ยวข้องกับความไม่สงบ และถูกเจ้าหน้าที่จ้องเอาผิด การปฏิบัติการเช่นนี้จึงขัดต่อหลักการปฏิบัติที่ดีต่อพลเมือง หลักการสันนิษฐานว่าบุคคลทุกคนเป็นผู้บริสุทธิ์ (Presumption of Innocence) ซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานสำคัญของกฎหมายไทยและกฎหมายรัฐธรรมนูญ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: