นายจักรกฤศฎิ์ พาราพันธกุล รองปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะรักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สถานะการเงินของการบินไทยในขณะนี้ยังเพียงพอที่จะมีเงินสดจ่ายเป็นเงินเดือนให้กับพนักงาน ไม่ได้มีการขาดสภาพคล่องจนไม่สามารถจ่ายเงินเดือนให้กับพนักงานได้ เนื่องจากขณะนี้การบินไทยมีสภาพคล่องจากการลดค่าใช้จ่าย และการหยุดชำระหนี้ หลังจากเข้าสู่กระบวนการแผนฟื้นฟู ภายใต้ศาลล้มละลายกลาง
ส่วนกรณีที่มีการขยายระยะเวลาลดเงินเดือนของพนักงานตามขั้นบันไดไปจนถึงสิ้นเดือน ส.ค. 2563 แม้จะไม่ได้เป็นการบังคับ แต่เชื่อว่าพนักงานกว่า 21,000 คน จะยินยอมเซ็นสัญญายอมลดเงินเดือนเพื่อช่วยเหลือองค์กรด้วยความเต็มใจ โดยขณะนี้บริษัทลูกอย่าง บริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัด ได้ยินยอมลดเงินเดือนไปแล้ว ส่วนกรณีที่หากมีพนักงานไม่ยินยอมลดเงินเดือนบริษัทก็จะยังจ่ายเงินเดือนให้ในอัตราเดิม
"มีเงินจ่ายพนักงานตลอด พนักงานการบินไทยเห็นใจบริษัทจะตาย ใครบอกว่าไม่ยอมลด ก็เซ็นชื่อรับทราบเกือบหมดทุกคน อย่างพนักงานบริษัท ไทยสมายล์ จำกัด ก็ยอมเซ็นลดเงินเดือนทั้งหมดด้วยความเต็มใจ ทุกคนจะช่วยฝ่าวิกฤตินี้ไปด้วยกัน" นายจักรกฤศฏิ์ กล่าว
ขณะเดียวกัน พนักงานการบินไทยกำลังล่ารายชื่อพนักงาน เพื่อส่งเรื่องคัดค้านไปยังกระทรวงแรงงาน กรณีที่เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 2563 ที่ผ่านมา ฝ่ายบริหารได้ออกประกาศข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของบริษัทฉบับใหม่ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างงานใหม่ เวลาพัก วันหยุด หลักเกณฑ์การทำงานล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด วินัยและโทษทางวินัย การเลิกจ้าง ค่าชดเชย ค่าชดเชยพิเศษ และข้อกำหนดอื่น ๆ เพื่อนำมาบังคบใช้กับพนักงานบริษัทภายหลังจากที่บริษัทหลุดจากการเป็นรัฐวิสาหกิจ
ซึ่งบริษัทมีการกำหนดสิทธิขึ้นใหม่ ทำให้สิทธิพื้นฐานหายไป เช่น วันพักผ่อนตามประเพณีปกติ ได้ 14 วัน แต่ประกาศใหม่ ปรับลดลงเหลือ 13 วัน การลาหยุดพักผ่อนประจำปีเดิม กำหนดตามอายุงานใหม่ ลาได้ 6 วัน อายุงาน 10 ปี ขึ้นไป ก็มีทั้ง 10 วัน 15 วัน และ 24 วัน แต่ประกาศใหม่ให้หยุด 6 วัน หลักการคิดคำนวณค่าล่วงเวลาก็ลดลง รวมถึง การคำนวณกองทุนสำรองเลี้ยงชีพด้วย