ไม่พบผลการค้นหา
ความนิยมเลี้ยงหมูแคระเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในหลายประเทศตลอดสองปีที่ผ่านมา แต่ปัญหาคือ หมูแคระ จะไม่ตัวจิ๋วตลอดไป

'หมู' เมื่อพูดถึงคำนี้แล้ว เรามักจะนึกถึงวัตถุดิบในการทำอาหาร มากเสียกว่าที่จะมองสัตว์ชนิดนี้ในฐานะสัตว์เลี้ยงเหมือนหมาหรือแมว อย่างไรก็ตาม ในระยะ 2 ปีที่ผ่านมา หมูแคระ สายพันธุ์ไมโครพิก (Micro Pig) หรือหมูทีคัพ (Teacup Pig) ได้รับความนิยมในฐานะสัตว์เลี้ยงมากขึ้น โดยเฉพาะในประเทศสหรัฐอเมริกา

อย่างอารีอานา กรานเด นักร้องสาวชื่อดัง ก็ได้รับหมูน้อยมาเลี้ยงกับอดีตแฟนหนุ่ม ก่อนที่พวกเขาจะเลิกกัน ตั้งชิื่อน่ารักน่าชังว่า 'พิกกี้ สมอลส์' (Piggy Smallz) หรือโคลอี้ เบ็นเน็ต นักแสดงจากซีรีย์ เอเจนท์ ออฟ ชิลด์ (Agents of SHIELD) ก็รับหมูน้อยมาเลี้ยง ตั้งชื่อว่า 'เพิร์ล' (Pearl) พร้อมกับออก Vlog ติดตามชีวิตของเพิร์ลตั้งแต่วันที่เธอรับเลี้ยง ทำให้เกิดปรากฏการณ์ 'หมูเซเล็บ' เกิดขึ้น เพราะบรรดาสัตว์เลี้ยงตัวอวบเหล่านี้ ล้วนมีแอคเคานท์อินสตราแกรมเป็นของตัวเอง บางตัวมีช่องยูทูบของตัวเองด้วย


16121.jpg
  • ภาพจากอินสตราแกรม @PearlBingBing

แม้ว่ากระแสฮิตระลอกใหม่ของหมูจิ๋ว จะเกิดขึ้นเพราะอิทธิพลของคนดังโลกฮอลลีวู้ด แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า เพราะความน่ารัก ขี้อ้อน แสนรู้ และรักความสะอาดของสัตว์เลี้ยงชนิดนี้ ทำให้คนทั่วไปสนใจ ติดตามอย่างหนาแน่น และอยากหามาเลี้ยงตาม อย่างหมูจิ๋วเพิร์ล เธอมีคนติดตามมากกว่าสี่แสนคนในอินสตราแกรม

ปรากฏการณ์ดังกล่าว ทำให้มีการพูดคำว่าถึง 'novelty pets' ซึ่งถ้าแปลตรงตัวหมายถึง สัตว์แปลกใหม่ บน��ลกออนไลน์อีกครั้ง ซึ่งถ้าให้คำนิยาม มันคือคำที่อธิบายการได้รับความนิยมของสัตว์บางประเภทในบางช่วงเวลา ซึ่งนอกจากหมูแล้ว สัตว์ที่ถูกจัดอยู่ใน novelty pets อื่นๆ ก็เช่นสุนัขจิ้งจอก ซึ่งบางรัฐในสหรัฐอเมริการองรับให้ครอบครองได้โดยถูกกฎหมาย โดยสัตว์เหล่านี้โดยธรรมชาติไม่ใช่สัตว์เลี้ยงในบ้าน และผู้คนจะไม่ให้ความสนใจในฐานะสัตว์เลี้ยง จนกระทั่งตลาดของสัตว์ชนิดนี้มีขนาดใหญ่ขึ้น จนทำให้มีราคาค่าตัวในการหาซื้อ ตกอยู่ที่ 150-200 ปอนด์

อย่างไรก็ตาม เทรนด์การเลี้ยงหมูนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะในปี 2007 ก็เคยเกิดปรากฏการณ์เซเล็บหมูมาแล้วในสหรัฐอเมริกา หลังปารีส ฮิลตัน สาวไฮโซคนดัง มักโชว์ภาพไลฟ์สไตล์ร่วมกับสัตว์เลี้ยงของเธอ จนหมูทีคัพกลายเป็นสัตว์เลี้ยงที่ได้รับความนิยมสูงในอดีตมาแล้ว


เมแกน อาริโอลา เจ้าของแชนแนล 'แฮปปี้ เทลส์' (Happy Tails) ซึ่งมักทำคลิปเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงที่เธอมีเกือบ 50 ตัว และมีผู้ติดตามเกือบสองแสนคน บอกว่า เธอไม่แปลกใจในกระแสความนิยมในบรรดาหมูทีคัพเท่าไหร่นัก เพราะมันเกิดขึ้นจากกระแสของคนดังและโซเชียลมีเดีย อย่างไรก็ตามมีความน่ากังวลตรงที่ หลายๆ ครั้ง ผู้คนหาซื้อหมูจิ๋วมาเลี้ยง ก่อนนำไปทิ้งหรือนำไปไว้ที่ฟาร์ม เพราะพวกมันเติบโตขึ้นและ 'ไม่จิ๋ว' อีกต่อไป

ข้อมูลทั่วไประบุว่า หมูแคระเป็นชื่อเรียกรวมของหมูสายพันธุ์ที่เล็กกว่าหมูในอุตสาหกรรม ซึ่งสายพันธุ์ไมโครพิก เมื่ออายุ 2-3 ปี จะสามารถสูงถึง 14-16 นิ้ว หนักประมาณ 30 กิโลกรัม แต่ก็มีบางสายพันธุ์เหมือนกัน ที่น้ำหนักอาจจะมากถึงร้อยกิโล

"ฉันว่ามันเป็นเรื่องของการให้ความรู้คนน่ะค่ะ" อาริโอลา บอก เธอเสริมว่า ส่วนใหญ่คนคาดหวังว่า หมูแคระจะต้องคงสภาพอยู่ในขนาดทีคัพ น่ารักตลอดไป แต่อันที่จริงแล้ว บางสายพันธุ์มันจะตัวโตขึ้นได้มากถึงครึ่งหนึ่งของหมูในอุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งมีขนาดหนักประมาณ 300 กิโลกรัม ดังนั้นหมายความว่า บรรดาหมูแคระบางสายพันธุ์สามารถมีน้ำหนักสูงสุดได้ถึง 150 กิโลกรัมเลยทีเดียว

"ฉันคิดว่าเทรนด์คนเลี้ยงหมูจะไม่หายไปหรอกค่ะ แต่มันจะมีการขึ้นลงของตลาด แม้ว่ามันจะหายไป แต่ความนิยมก็จะกลับมาอีกค่ะ" อาริโอลา บอก


ไซส์กลับตาลปัตร เมื่อหมูไม่จิ๋วอีกต่อไป

ในประเทศไทย หลายปีที่ผ่านมา ก็มีการปรากฏตัวของหมูเซเล็บบนโลกออนไลน์มากขึ้น เจ้าของบรรดาหมูๆ หลายคน ทำแฟนเพจให้กับสัตว์เลี้ยงของตัวเอง ทำให้พวกมันได้รับความนิยม

อย่าง "จูเนีย หมูปีศาจ" ก็เป็นหมูสาวที่ได้รับความนิยมอย่างมาก จนมีผู้ติดตามมากเกือบ 400,000 คนบนเพจเฟซบุ๊ก และได้รับเชิญไปออกรายการโทรทัศน์มาแล้ว

หรือเพจ 'พะโล้ของพร่องงงงง' ที่ปัจจุบัน เจ้าของเพจมีหมูในการดูแลเกือบ 20 ตัว และได้แจกจ่ายให้คนใกล้ตัวเลี้ยงเมื่อมีการให้กำเนิดหมูคอกใหม่ ก็ตอกย้ำกระแสความนิยมของการเลี้ยงหมูแคระได้เป็นอย่างดี

"ถ้าถามผม ผมว่า(ในไทย)คนเริ่มเลี้ยงเยอะขึ้นใน 2-3 ที่ผ่านมานะครับ หลังเริ่มมีการออกข่าวเกี่ยวกับคนเลี้ยงหมู คนก็หามาเลี้ยงมากขึ้น กลุ่มในเฟซบุ๊กที่ผมอยู่ที่ซื้อ-ขายหมูกัน ก็มีสมาชิกหลักพันคน" อาตัน อาแว เจ้าของเพจ พะโล้ของพร่องงงงง ซึ่งเริ่มเลี้ยง 'พะโล้' หมูแคระสายพันธุ์พ็อตบิวลี่มินิเจอร์ ตั้งแต่ 5-6 ปีที่แล้ว ตั้งข้อสังเกต และให้สัมภาษณ์กับวอยซ์ ออนไลน์

เขาเล่าจุดเริ่มต้นในการรับพะโล้ หมูตัวแรกมาเลี้ยงว่า เขาไม่มีความรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงหมูเลย แค่อยากเลี้ยงเท่านั้น ก็ได้ซื้อพะโล้มาในราคาราว 7,000 บาท โดยแม่ค้าบอกว่า พะโล้จะตัวไม่ใหญ่เกินสุนัข แต่หลังจากนั้นอาตันพบความจริงว่า หมูสายพันธุ์นี้ แม้จะได้ชื่อว่าหมูแคระ แต่มันไม่ได้ตัวเล็กตลอดไป เพราะน้ำหนักพะโล้โตเต็มวัย หนักถึง 100 กิโลกรัม

"ความเข้าใจผิดๆ เกี่ยวกับพันธุ์พ็อตบิวลี่มิเนเจอร์ ก็คือ คนคิดว่าหมูจะตัวเล็กตลอดไป แต่จริงๆ มันโตขึ้น น้ำหนักเหยียบร้อยโลเหมือนกัน"

อาตันบอกว่า บางครั้งความเข้าใจผิดนี้ ก็นำมาสู่ปัญหาการทอดทิ้งสัตว์เลี้ยง บางครั้งเจ้าของพอเห็นว่าหมูไม่ได้ตัวเล็ก น่ารัก อีกต่อไป ก็ไปทิ้งวัด หรือปล่อยทิ้งไว้ไม่เอาไปด้วย ซึ่งในรอบปีที่ผ่านมา เขาได้เป็นกระบอกเสียงช่วยหาบ้านให้หมูแคระตัวโตเต็มวัยได้ 4-5 เคสแล้ว

"ในประเทศไทยไม่มีหมูแคระสายพันธุ์ที่ตัวเล็ก (ไมโครพิก) จริงๆ เหมือนเมืองนอกนะครับเท่าที่ผมทราบ ถ้าอยากเลี้ยงแบบที่ตัวเล็กจริงๆ น่าจะต้องนำเข้าจากเมืองนอก ราคาก็เหยียบแสนอยู่เหมือนกัน"

แต่สำหรับเจ้าของบางคน แม้หมูที่คาดไว้ว่าจะแคระจิ๋วตลอดไป น้ำหนักเพิ่มพรวดแบบไม่ตั้งตัว แต่ด้วยความผูกพัน ก็ทำให้พวกเขายังรักเสมือนหมูเหล่านั้นเป็นสมาชิกในครอบครัว อย่างหมูจูเนียร์ จากเพจ จูเนีย หมูปีศาจ ปัจจุบันเธอน้ำหนักราวสามร้อยกิโลกรัม แต่ก็ยังได้รับการเอาใจใส่เรื่องความเป็นอยู่และอาหารการกินจากเจ้าของเป็นอย่างดี

"ที่บ้านผมมี 18 ตัวครับ เป็นลูกๆ ของพะโล้" อาตันบอก หลายปีก่อนหน้านี้ เขาย้ายบ้านกลับจากเมืองหลวงไปอยู่เชียงราย บ้านเกิด เพื่อตัวเขาเอง และเพื่อหมูๆ ได้มีพื้นที่วิ่งเล่นกับธรรมชาติมากขึ้น ซึ่งก่อนที่เขาจะย้ายกลับ บ้านที่กรุงเทพฯ มีสมาชิกหมูอยู่ถึง 6 ตัวด้วยกัน

"ผมว่าหมูมันฉลาดกว่าหมานะครับ หมูมันมีความคิดอีกแบบหนึ่งนะผมว่า (หัวเราะ) เราฝึกสอนเขานั่ง ขอมือ หรือให้รอได้" ความผูกพันระหว่างอาตันกับหมูๆ ทำให้ทุกวันนี้เขาเลิกกินเนื้อหมูไปโดยปริยาย

ปัจจุบัน หมูสายพันธุ์เดียวกับพะโล้ ราคาตกลงมาอยู่ที่ตัวละราว 2,000 บาทจากความต้องการตลาดที่มากขึ้น อาตันให้คำแนะนำว่า หากใครอยากเป็นคนเลี้ยงหมูเหมือนเขา สิ่งแรกที่ต้องทำก็คือ ถามความเข้าใจของตัวเองก่อน ว่ารู้หรือไม่ว่าหมูแคระมันจะตัวโตขนาดไหน จากนั้นต้องยอมรับกว่า การเลี้ยงหมูในฐานะสัตว์เลี้ยง ผู้เลี้ยงต้องมีทั้งเวลาที่จะดูแล และพื้นที่ที่จะให้พวกเขาได้วิ่งเล่นอย่างอิสระ

นอกจากนี้ต้องมีความพร้อมในเรื่องการรักษาพยาบาล ศึกษาโรงพยาบาลที่รับรักษาหมู การทำหมัน และที่สำคัญ เรื่องของอาหารการกิน ก็เป็นเรื่องที่สำคัญ

"ปกติผมจะให้กินข้าว ต้มผัก แล้วก็ไข่ เพิ่มโปรตีนให้นิดหน่อย ซึ่งอยู่ที่นี่(เชียงราย) ราคามันไม่แพง สำหรับหมู 18 ตัวค่าอาหารเฉลี่ยตกสัปดาห์ละพันกว่าบาท แต่ตอนที่อยู่กรุงเทพฯ เลี้ยง 6 ตัว ค่าผักก็ตกสัปดาห์ละ 1,000-2,000 บาทเข้าไปแล้ว"

"ถ้ามีคนมาขอคำแนะนำเรื่องการเลี้ยงหมู ผมจะถามเขารู้เกี่ยวกับหมูแคระมากแค่ไหน ถ้าเขารู้ว่ามันจะตัวโตขึ้นมากๆ ก็จะถามต่อว่า มีเวลาและพื้นที่ให้พวกเขาไหม และมั่นใจว่าจะเลี้ยงไปได้ตลอดรอดฝั่งหรือไม่"


ที่มา Teacup pigs are popular on YouTube and Instagram once again, but be warned


On Being
198Article
0Video
0Blog