“ผมเป็นผู้มีอิทธิพล แต่ผมใช้อิทธิพล สร้างบ้านสร้างเมือง ช่วยเหลือคน” วลีข้างต้น ถือเป็นคำสะท้อนตัวตนนักการเมืองรุ่นเก๋า ชาดา ไทยเศรษฐ์ ส.ส.อุทัยธานี และรองหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ได้ตรงเข้าประเด็นที่สุด
แต่กว่าเขาจะมายืนในจุดที่ทุกคนเห็น เส้นทางชีวิตเจ้าพ่อลุ่มน้ำสะแกกรัง ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เขาถูกหล่อหลอมอย่างหนัก
อาทิ สูญเสียพ่อแม่ตั้งแต่เด็ก สมัยวัยรุ่นเดินสายซื้อวัวควาย จนต้องเจอกับอิทธิพลหลากหลายรูปแบบ และการสะท้อนมุมมองในฐานะผู้แทนประชาชน
‘วอยซ์’ ชวนฟังเรื่องราวชีวิต ส.ส.อุทัยธานี ผู้นี้ผ่านบทสัมภาษณ์พิเศษ Voice Politics ซึ่งเป็นนักการเมืองไม่กี่คน ที่กล้าบอกว่าตัวเองคือผู้มีอิทธิพล แต่คำนิยมคำนี้ ในชีวิตจริงของ 'ชาดา' อาจแตกต่างจากที่หลายคนคิดไว้..?
เบ้าหล่อหลอม ‘เจ้าพ่อลุ่มน้ำสะแกกรัง’
ชาดา ก่อเกิดกำเนิดเป็นชาวจังหวัดอุทัยธานี นับถือศาสนาอิสลาม เติบโตขึ้นมาในครอบครัวใหญ่ทำธุรกิจค้าเนื้อ (ขายเนื้อวัว-ควาย) เบ้าหลอมที่ทำเด็กหนุ่มแห่งลุ่มน้ำสะแกกรัง มาดเข้มคนนี้โตมาจนมีบทบาทและเป็นที่รู้จักในพื้นที่ อาจเพราะมาจากการที่มีชีวิตกำพร้าตั้งแต่เล็กๆ คุณพ่อเสียตอนอายุ 7 ขวบ และเมื่อวัยเข้าสู่อายุ 14 ก็ต้องมาสูญเสียคุณแม่ ต่อมาสูญเสียพี่ชาย ทำให้เขาต้องอยู่กันสองพี่น้องกับ มนัญญา ไทยเศรษฐ์ โดยมีเหล่าญาติๆ คอยช่วยดูแล
เหตุนี้จึงทำให้เขา รู้สึกว่าชีวิตตัวเองได้รับการเลี้ยงดูจากชาวอุทัยฯ เพราะสมัยเด็กไปไหนมาไหนก็มักได้รับความเอ็นดูจากคนในจังหวัด และตลาดเมืองอุทัยฯ บางครั้งตัดผมหรือเวลาไม่สบายไปหาหมอ ก็ไม่ต้องเสียตังค์ จึงเป็นน้ำใจของคนอุทัยฯ ที่เป็นภาพจำฝังของ ชาดา มาตลอด
เจ้าพ่อลุ่มน้ำสะแกกรัง เล่าให้ฟังว่า ชีวิตสมัยวัยรุ่น มุมหนึ่งก็เหมือนคนรุ่นๆ ทั่วไป แต่อีกมุมก็โตกว่าคนวัยเดียวกัน เพราะมักชอบสังสรรค์เฮฮา เกเรตามประสา จึงทำให้เขามีเพื่อนฝูงเยอะและมีประสบการณ์โตกว่าเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกัน และถือคติว่า จริงใจกับทุกคน อะไรที่ช่วยได้ ก็จะบอกว่าช่วยได้ อะไรที่ช่วยไม่ได้ก็จะบอกตรงๆ “ผมคบใคร ต้องมีความจริงใจ ถ้าไม่จริงใจ อย่ามาครบกันดีกว่า”
ส่วนเบ้าหลอมที่ทำให้เขาแข็งแกร่งอย่างนี้ เริ่มขึ้นตอนเด็กอายุประมาณ 16 – 17 ภายหลังสูญเสียคุณพ่อคุณแม่ ด้วยความที่เกิดมาในครอบครัวค้าขายเนื้อ ตอนนั้นก็มุ่งมั่นตั้งใจอยากยืนด้วยลำแข้งหาเลี้ยงชีพตัวเองและน้องสาว โดยการสานต่อธุรกิจที่บ้าน จึงมักขับรถมอเตอร์ไซค์ตระเวนซื้อวัวซื้อควายตามจังหวัดต่างๆ และนำมาขายกับน้องสาวที่ตลาดอุทัยฯ โดยมีเพื่อนๆคอยช่วย “สมัยนั้นที่ไหนใครว่า มีวัวควายดี ผมไปหมด”
ชาดา เล่าประสบการณ์วัยหนุ่มช่วงที่ตระเวนวิ่งซื้อเนื้อจังหวัดต่างๆ ว่า “พอไปซื้อวัวควาย เลือกได้ ก็จะขับมอเตอร์ไซค์กลับมาเก็บเงินเพื่อเอาไปจ่ายเขา ก็ขี่มอเตอร์ไซค์ถือเงินหลายหมื่น (ค่าเงินสมัยนั้นสูงมาก) ประสบการณ์เจอทั้ง ขี้เมา เจอโจร มีครั้งหนึ่งระหว่างทางล่องควาย เจอตำรวจตั้งด่านตรวจ เขายังตกใจที่เด็กพกเงินหลายหมื่น จนตำรวจเขายังแนะนำให้พกปืนด้วยซ้ำ และหลังจากนั้น ก็มักคอยช่วยเหลือตลอดเมื่อขับรถผ่านด้านหรือเวลามีปัญหา ประสบการณ์ช่วงนั้นเจอทั้งดี และไม่ดีปนกันไป แต่มันทำทำให้รู้จักการใช้ชีวิตต่างถิ่น การเขาหาผู้ใหญ่แต่ละพื้นที่ ที่สิ่งสำคัญได้พบเจอชาวบ้าน รู้จักคนต่างพื้นที่ ได้รับรู้อะไรมากมาย จนเข้าใจบทบาทคนที่จะต้องมาเป็นตัวแทนประชาชนชน ว่าควรทำตัวอย่างไร”
ชาดา เล่าถึงเพิ่มเติมถึงสิ่งที่ทำให้หล่อหลอมความเข็มแข็งในตัวเองว่า สมัยนั้นคนอุทัยฯ ก็มองว่าผมอาจอยู่ในพื้นที่ไม่ได้เพราะเผชิญกับอิทธิพล สุดท้ายยืดหยัดสู้ทุกอย่าง จนอยู่มาได้ถึงทุกวันนี้
“ผมยืนหยัดสู้มาทุกอย่างทั้ง ผู้มีอิทธิพล ถูกยิง 2-3 ครั้ง ทำให้เป็นครอบครัวที่ถูกจับตามองจากคนอุทัยฯ ภาพมันจึงออกมาเป็นนักเลง แต่นักเลงกับอันธพาล ไม่เหมือนกัน อันธพาลจะสร้างความเดือดร้อนรังแกชาวบ้าน นักเลงคือคนจริงใจพูดคำไหนคำนั้น ช่วยเหลือคน ไม่รังแกคนที่อ่อนแอกว่า แต่ไม่ยอมให้ใครมารังแก ซึ่งนี่คือนิยามของนักเลง เราปกป้องตัวเองมาตลอด เพราะสมัยนั้นถูกทั้ง ผู้มีอิทธิพลฝ่ายรัฐหรือท้องถิ่นรุมกระทืบ แต่ก็ทนอยู่และรอดมาได้”
นี่จึงทำให้เขามองว่า ธรรมชาติจะสอนทั้งเรื่องการปรับตัวและวิธีคิด เพราะมันต้องสู้ หากไม่สู้ก็แพ้
“ให้อภัย” คนฆ่าพ่อ
ชาดา เล่าว่า ช่วงราวปี 2537 ได้ไปพบเจอคนที่ยิงคุณพ่อ เมื่อช่วงปี 2511 ขณะนั้นกำลังเดินทางกลับจากธุระเรื่องศาสนา และแวะละหมาดมัสยิดแถวจังหวัดสระบุรี แต่ระหว่างนั่งรอ มีชายชราอายุเกือบ 90 ปี นั่งอยู่ข้างหน้า แต่ที่ทำให้เขาเอะใจ ป้ายขอบกางเกงของชายคนนั้นโผล่ออกมา ซึ่งเขียนว่าจันทร์ฉาย จึงทำให้นึกขึ้นได้ว่า ชายคนนี้อาจจะเคยไปจังหวัดอุทัยฯ เพราะป้ายกางเกงยี่ห้อนี้ เป็นร้านเสื้อผ้าชื่อดังของจังหวัดอุทัยฯ จากนั้นก็เริ่มเกรินถามชายชราคนนั้นว่า “บาบา(ลุง)เคยไปอุทัยฯหรือเปล่า” ทำให้ชายคนนั้นหันกลับมาถามว่า ลูกใคร
“ทันใดนั้นผมจำได้ทันทีว่าเป็น ‘แขกน้อย’ คนที่เคยสังหารพ่อผม เมื่อผมตอบกลับไปว่าเป็นลูกชาย บัดเจ (เดชา ไทยเศรษฐ์) แกเข่าทรุดยืนไม่อยู่นั่งลงบนเก้าอี้หินอ่อน แต่ผมก็บอกกลับไปว่า ไม่มีอะไร ขอให้ใจเย็นๆ หลังจากนั้นก็เดินทางกลับ และหลังจากนั้นคนในจังหวัด ก็เขามาขอว่า อย่าทำอะไรเขาเลย ซึ่งผมก็ยืนยันว่า จะไม่ทำอะไร”
เจ้าพ่อลุ่มน้ำสะแกกรัง เล่าให้ฟังถึงวินาทีที่ให้อภัยคนที่สังหารคุณพ่อ ณ อยู่ตรงหน้า ว่า วันนั้นความแค้นมันก็ยังอยู่ แต่ส่วนตัวคิดว่าพ่อเสียไปแล้ว และถ้าพ่ออยู่บนสวรรค์ ไปทำอะไร คุณพ่ออาจตกนรกก็ได้ แต่ถ้าให้อภัย หากคุณพ่ออยู่ในนรก เมื่อให้อภัย คุณพ่ออาจได้ขึ้นสวรรค์ คิดว่ามันจบไปแล้ว และก็คิดอีกว่าเห็นสภาพลุงอายุเกือบจะ 90 ปีแล้ว ด้วยวันเวลาผ่านมา 30 กว่าปี เขายังนุ่งกางเกงตัวเดิม ใส่เสื้อดำดูเขรอะ ครอบครัวก็บ้านแตกสาแหรกขาด ชีวิตลำบากต้องอาศัยหลับนอนในป่า จนคนในพื้นที่ต้องให้มาช่วยทำงานในมัสยิด ก็โดนพระเจ้าลงโทษมาพอสมควรแล้ว วั้นนั้นจึงแค้นไม่ลง คิดเพียงแต่ว่า ต้องให้อภัย
แต่ทว่าหลังจากนั้น ก็มีโอกาสได้พบชายชราคนเดิมอีกครั้งนั้นในงานแต่ง แต่ครั้งนี้เขาเปลี่ยนเสื้อผ้าใหม่ทั้งชุด แต่เมื่อ ชาดา ได้เจอเขา ก็ยังเดินเข้าไปแซวว่า “บาบาไม่ต้องเปลี่ยนชุดหรอก เพราะจำได้แล้ว” จากนั้นก็นั่งพูดคุยกันสัดพักก่อนแยกย้าย แต่หลังจากนั้นไม่กี่สัปดาห์ ก็ทราบข่าวว่า ชายคนนั้นเสียชีวิตด้วยอาการนอนนอนหลับไปเฉยๆ จึงคิดว่าเขาอาจรอขอโทษอยู่
นี่จึงทำให้ ชาดา ย้อนกลับมาคิดว่า ตัวเองชีวิตก็ผ่านอะไรมาเยอะ “ชีวิตคนเราถ้ามี 1 หน้ากระดาษหรือ 1 ปีเหมือนกัน ซึ่งจะมี 12 บรรทัดหรือ 12 เดือน บางคนเขียนบรรทัดเว้นบรรทัดเพราะชีวิตไม่ค่อยเจออะไร บางคนชีวิตเขียนไม่เว้นบรรทัด แต่ชีวิตผม บรรทัดหนึ่ง 4-5 แถว มิหนำซ้ำบางบรรทัดต้องเขียนเพิ่มข้างๆอีก เพราะปีหนึ่งของเรา กับปีหนึ่งของคนอื่นผ่าน มันห่างไกลกันมาก”
เส้นทางถนนการเมือง ‘ชาดา ไทยเศรษฐ์’ เริ่มจากหนังสือพิมพ์
ชาดา ชื่นชอบการเมืองมาตั้งแต่เด็กๆ เนื่องจากการที่สมัยนั้นเรียนจบแค่ ม.1 ก่อนที่ภายหลังจะมาศึกษาจนจบ ปริญญาโทในภายหลัง ฉะนั้นตั้งแต่เด็กจึงเป็นคนชอบอ่านหนังสือพิมพ์ ไทยรัฐ มติชน โดยเฉพาะข่าวหรืองานเขียนบทวิจารณ์การเมืองไทย การเมืองต่างประเทศ เพราะคิดว่าเรียนน้อย ก็ต้องหาอ่านเพื่อจะได้มีความรู้ทางอื่น นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นทำให้สนใจการเมือง และจากการที่อ่านหนังสือพิมพ์ตั้งแต่เด็ก ทำให้สมัยนั้นสามารถจำชื่อ ส.ส.ในสภาได้เกือบครบทุกคน บวกกับเมื่อโตขึ้น ได้เข้ามาเรียนในกรุงเทพฯ ที่โรงเรียนอิสลามวิทยาลัยแห่งประเทศไทย ยุค 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 ก็ได้สัมผัสกลิ่นไอบรรยากาศทางการเมือง ยิ่งทำให้มีทวีความสนใจมากขึ้นไปอีก
จนปี 2535 ได้ก้าวเข้าสู้ถนนการเมืองครั้งแรก บนถนนการเมืองท้องถิ่น จากการตัดสินใจลงสมัครสมาชิกสภาเทศบาล (ส.ท.) อุทัยฯ และได้รับเลือก จนดำรงตำแหน่งอยู่ประมาณ 2 ปี ต่อจากนั้นปี 2538 ได้รับเลือกตั้งเป็นนายกเทศบาลเมืองจังหวัดอุทัยฯ เป็นอยู่ 2 สมัย
แต่ขณะนั้นเกิดความขัดแย้งกับ ส.ส.ในพื้นที่อย่างรุนแรง ยุคนายกฯ ดร.ทักษิณ ชินวัตร ถูกจับไปติดคุก 22 เดือน หลังออกมา จึงตั้งสินใจเล่นการเมืองสนามใหญ่ สังกัดพรรคชาติไทย เพราะตอนนั้นมองว่า หากคิดจะแก้ปัญหาให้ประชาชนได้มากขึ้น ก็ต้องเล่นการเมืองใหญ่ จึงตัดสินใจลงสมัคร ส.ส.ครั้งแรก ปี 2551 สมัย บรรหาร ศิลปอาชา และก็ได้รับเลือกเป็น ส.ส.อุทัยฯ สมัยแรก รวมถึงได้เป็นประธาน กมธ.เกษตรฯ แต่ภายหลังหลังที่พรรคชาติไทย ถูกยุบ ก็โอนย้ายไปสังกัดพรรคใหม่คือ ชาติไทยพัฒนา และการเลือกตั้งปี 2554 ได้เป็น ส.ส.อุทัยฯ สมัยที่สอง
จนในเวลาต่อมาเกิดความวุ่นวายทางการเมือง และเกิดมีการรัฐประหารเมื่อปี 2557 หลังจากนั้นย้ายมาร่วมงานกับพรรคภูมิใจไทย เพราะมองว่า มีนโยบายการทำงานที่คล้ายคลึงกัน โดยเฉพาะเรื่องนโยบายข้าว และเพื่อความก้าวหน้าทางการเมือง แต่ถึงอย่างไรยังคงมีสัมพันธ์อันดีกับพรรคชาติไทยพัฒนา และ วราวุธ ศิลปอาชา เหมือนเดิม เพราะรู้สึกผูกพันกันมานาน และจะขอปกป้องตระกูลศิลปอาชา เพราะถือว่าเป็นคนหนึ่งในครอบครัวศิลปอาชา
‘ส.ส.อุทัยฯ ผู้มีอิทธิพล’ ยุค ‘คณะรัฐประหาร คสช.’
ชาดา ยอมรับว่า ช่วงหลังการรัฐประหาร ปี 2557 โดนพอสมควรตามวิถีทาง เพราะถูกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จับตาว่าเป็นผู้มีอิทธิพล แต่น้อมรับ “ผมน้อมรับ ว่าผมเป็นผู้มีอิทธิพลอยู่แล้ว แต่ผมใช้อิทธิพล สร้างบ้านสร้างเมือง ใช้อิทธิพล ช่วยเหลือคน ผมไม่ได้ใช้อิทธิพลไปรังแกใคร ผมไม่ได้ใช้อิทธิพลไปทำร้ายบ้านเมือง จะถือว่ามีอิทธิพล ก็มี จะเป็น ส.ส.ไม่มีอิทธิพลได้ไง”
ส่วนสาเหตุที่ทำให้ คสช.ถูกจับตาในช่วงนั้น ชาดา มองว่า อาจเป็นนักการเมืองไม่กี่คนขณะนั้น ที่ยังลงพื้นที่ดูแลทุกข์สุข งานบวช งานแต่ง ก็ยังเดินสายร่วมงาน จึงอาจเป็นประเด็นที่ถูกจับตา ณ ขณะนั้น ตลอดมาจนถึงวันนี้
ส่วนความรู้สึกในยุครัฐประหาร คสช. ที่ถูกบุกค้นบ้าน 2-3 ครั้ง ขบวนรถถูกสกัดขบวน ชาดา บอกว่า ส่วนตัวเฉยๆ เพราะชีวิตพบเจออะไรมาเยอะ และถือว่าเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานทำตามหน้าที่ เพียงแต่บอกเจ้าหน้าที่เสมอว่า “ผมไม่ใช่คนเลว คุณทำหน้าที่ ก็ทำไปตามใบสั่ง แต่ขอ อย่ามามองผมเป็นคนเลว ผมไม่ใช่คนเลว ผมก็รักบ้าน รักเมือง รักชาวบ้านของผม เพราะคนอุทัยฯ เป็นเจ้านายผมทุกคน เพราะผมจะใหญ่ที่ไหน แต่อุทัยฯ ผมใหญ่ที่นี่ไม่ได้ เพราะคนอุทัยฯ เขาเลี้ยงผมมา” ซึ่งบางเรื่องหากเป็นข้องเท็จจริงก็ว่าไป แต่บางเรื่องเมื่อข้อครหาถูกคลี่คลายว่าไม่ผิด ก็ไม่เคยมีใครมาขอโทษ
‘ภูมิใจไทย’ หลังเลือกตั้งยิ่งใหญ่กว่าเดิม – สิ้นยุคการเมืองปลายกระบอกปืนแล้ว
รองหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ประเมินว่า จากการทำงานในภูมิใจไทยมา 5 ปี เป็นรองหัวหน้าพรรคฯ เป็นรองประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (รองประธาน วิปรัฐบาล) จึงเชื่อว่า จากผลงานของภูมิใจไทย ที่ดำเนินงานมาตลอด 4 เช่น กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงคมนาคม จะทำให้การเลือกตั้งในครั้งนี้ได้เก้าอี้ ส.ส. มากกว่าเดิม หรือเพิ่มขึ้นแน่นอน เพราะภูมิใจไทย พูดแล้วทำอย่างนโยบายกัญชา ฉะนั้นขอให้ประชาชนเลือกทั้งคนและพรรค
ส่วนการจับขั้วทางการเมืองหลังเลือกตั้ง รองหัวหน้าพรรค ภท. เชื่อว่า ต้องมีการเปลี่ยนแปลงแน่นอน ส่วนจะเป็นขั้วไหนบ้างขึ้นอยู่กับผลคะแนน และมติของพรรคภูมิใจไทย แต่โดยส่วนตัวขอยืนยันว่า วันนี้ภูมิใจไทย ไม่อยู่ฝ่ายไหน เราอยู่ฝ่ายประชาธิปไตย สนับสนุน อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย เป็นนายกรัฐมนตรี และพร้อมจับมือกับทุกพรรคที่ยึดมั่นใจระบอบประชาธิปไตยและสถาบันพระมหากษัตริย์
ต่อคำถามที่ว่า ถ้าพรรคภูมิใจไทยได้คะแนนมากกว่า พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะยอมหลีกทางให้หรือไม่นั้น รองหัวหน้าพรรค ภท. กล่าวอย่างมั่นใจว่า “ถ้าเรามีปืนมาจ่อคอหอย ก็คงไม่มีใครยอมหรอก ผมคนหนึ่ง ถ้าหัวหน้าพรรค(อนุทิน) ได้มากกว่า ก็ต้องให้หัวหน้าผม ถ้าไม่ใช่หัวหน้า ผมก็ต้องเดินหนี นี่คือจุดยืนทางการเมืองผม ก็ต้องชูหัวหน้าเต็มที่ เพราะคุณสมบัติพร้อมทุกอย่างพร้อมแล้ว และบ้านเมืองนี้น่าจะมีนายกรัฐมนตรี ที่ไม่มียศ นั่นคือการเมืองในระบอบประชาธิปไตยที่ถูกต้อง ผมไม่ได้รังเกียจยศตำแหน่งใดๆ แต่ผมว่า มันสมควรแก่เวลาแล้ว คือมันไม่ใช่การเมืองบนปากกระบอกปืน วันนี้มันเป็นการเมืองปลายปากกาประชาชน มันหมดสมัยการเมืองปลายกระบอกปืนแล้ว”
จุดหมายต้องทำเพื่อ บ้านเมือง ไม่ใช่พรรค
ส่วนสถานการณ์เมืองในรัฐสภาไทย ณ วันนี้ ชาดา กล่าวอย่างมั่นใจว่า ไม่เหมือนการเมืองในอดีต ฝ่ายค้านฝ่ายรัฐบาลห้ำหั่น ตั้งแง่กันทุกเรื่อง เพราะมีพรรคก้าวไกลเข้ามา ยกตัวอย่างเช่น เรื่องการแต่งตัวที่ต้องการแสดงให้เห็นถึงความเป็นคนรุ่นใหม่ แม้ในพรรคก้าวไกลส่วนตัวจะรู้จักหลายคน
ชาดา มองอีกว่า การเมืองในสภาฯ วันนี้แบ่งแยกฝ่ายค้านฝ่าย ฝ่ายรัฐบาลมากจนเกินไป บางเรื่องที่เสนอมาบางครั้งก็ควรต้องให้กันบ้าง ไม่ใช่ค้านอย่างเดียว บางเรื่องเสนอสิ่งที่ให้ไม่ได้สุดท้ายก็ไม่ยอมทุกเรื่อง ทั้งที่ตนพยายามประสานทุกฝ่าย จึงทำให้มองว่า การเมืองสภาวันนี้ไม่เหมือนในอดีตแล้ว มันแยกกันเดิน เป็นการเมืองที่เชือดเฉือนกันอย่างเดียว ไม่รู้ว่าการเมืองแบบนี้มันจะสามารถยุติการต่อสู้แบบห้ำหั่นกันได้หรือไม่ ถ้าทุกคนยังมีทิฐิ
“ตราบใดที่คุณมองประโยชน์ของพรรค ไม่ได้มองประโยชน์ประเทศ ก็ยังขัดกันอยู่อย่างนี้ วันใดที่คุณรวมกัน นั่นคือคุณมองประโยชน์บ้านเมือง วันนี้การเมืองทุกพรรค มองประโยชน์ของพรรค เวทีสภามันก็ชิงดีชิงเด่นกันทุกพรรค มันจึงกลายเป็นว่าทำเพื่อพรรค ไม่ได้ทำเพื่อประเทศ อันนี้ความเห็นส่วนตัว มันเอาพรรคเป็นตัวตั้ง ไม่ได้เอาประเทศนี้เป็นตัวตั้ง
การเมืองที่ดี ไม่ใช่ว่ามารวมหัวกันฝ่ายค้านฝ่ายรัฐบาล แต่ฝ่ายค้านต้องค้านในหลักการ ไม่ใช่ค้านทุกอย่างที่รัฐบาลทำ คนเป็นรัฐบาล ก็ต้องฟังฝ่ายค้านพูดในสิ่งที่ดี แล้วเอาไปทำ ไม่ใช่เรื่องน่าอาย มนุษย์ไม่ใช่โง่หรือไม่โง่ แค่รู้และไม่รู้ต่างกัน ฉะนั้นจุดประสงค์ ต้องเพื่อบ้านเมือง เพื่อประโยชน์ประชาชน มันถึงจะอยู่กันได้ แต่ตราบใดคุณขีดเส้นเหยียบขามกันไม่ได้ มันก็จะวนอยู่อย่างทุกวันนี้”
ชาดา ทิ้งท้ายว่า การเมืองวันนี้ต้องพัฒนาเดินไปข้างหน้า บนเส้นทางระบอบที่มีสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เพราะมันจะเป็นสิ่งที่คู่บ้านคู่เมืองไปตลอด และเหมาะสมกับประเทศไทย
ภาพ - ปฏิภัทร จันทร์ทอง