ไม่พบผลการค้นหา
ผลพวงจากเลือกตั้ง ‘สนาม กทม.’ ยังคงเป็นโจทย์สำคัญของ ‘ขั้วอำนาจ 3ป.’ ที่สะท้อนภาพ ‘ขาลง’ อย่างเด่นชัด หากจับท่าที ‘บิ๊กตู่’ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและรมว.กลาโหม

ที่ก่อนหน้านี้ยังอยู่ระหว่าง ‘ตัดสินใจ’ แต่ในช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ ก็มีท่าทีชัดเจนถึงโอกาส ‘ไปต่อ’ อีกสมัย ผ่านการลงพื้นที่ต่างจังหวัดสัปดาห์ละครั้ง และเริ่มออกงานนอกทำเนียบฯ มากขึ้น

รวมทั้งท่าทีของนำ พี่น้อง ‘3ป.’ ออกงานร่วมกัน สยบกระแสข่าวต่างๆ ทำให้ถูกจับจ้องถึงความสัมพันธ์พี่น้อง ‘3ป.’

“ร่วมกันมาตลอดนะจ๊ะ ทั้งวันนี้และวันหน้า ทุกอย่างเหมือนเดิม โทรและคุยกันทุกวัน เจอกันก็บ่อย” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ถือเป็นการ ‘ส่งสัญญาณ’ ที่ซ่อนนัยนะผ่านคำว่า ‘วันนี้และวันหน้า’ ที่ พล.อ.ประยุทธ์ ยังมีท่าทีลุยต่อ

แต่ก็มีชื่อ ‘แคนดิเดตนายกฯ’ คนอื่นๆ ที่อยู่ในพรรคร่วมรัฐบาล ถูกพูดถึงคือ ‘เสี่ยหนู’อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย

ด้วยบทบาทของ ‘อนุทิน’ ที่เข้าตำรานิทาน ‘ราชสีห์กับหนู’ ช่วย พล.อ.ประยุทธ์ ให้รอดจากเกมการเมืองในสภามาแล้วหลายครั้ง โดยเฉพาะกับผลงานล่าสุดที่จับมือกับ ‘บิ๊กป้อม’ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ทำให้การโหวตร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ พ.ศ.2566 ผ่านแบบขาดลอย แถมมี ‘งูเห่า’ จากพรรคฝ่ายค้านโผล่ออกมา ซึ่งล้วนปันใจไปทาง ‘พรรคภูมิใจไทย’

อนุทิน พรบ กัญชา ภูมิใจไทย ประชุมสภา -1C8E-4DB8-9638-332FF663FAAA.jpeg

ว่ากันว่า ‘อนุทิน’ ก็มองถึงอนาคตการเมืองตัวเอง กับเก้าอี้นายกฯ แต่ ‘อนุทิน’ รู้ตัวว่ายังไม่ถึงเวลา อีกทั้งไม่อยากให้พรรคภูมิใจไทยโตเป็น ‘พรรคใหญ่’ เพราะจะถูก ‘ต่อรอง’ ในทางการเมืองมากขึ้น เพราะการเป็นพรรคขนาดพอดีตัวเช่นนี้ จะใช้ในการไป ‘ต่อรอง’ พรรคใหญ่ได้มากกว่า ในฐานะ ‘พรรคตัวแปร’

ดังนั้นการขึ้นเป็น นายกรัฐมนตรี ของ ‘อนุทิน’ สามารถเกิดขึ้นได้ หากสถานการณ์ผลักไปถึงจุดนั้น หรือที่เรียกว่า ‘นายกฯ ส้มหล่น’ แต่ในเวลานี้ยังอยู่ในมือ พล.อ.ประยุทธ์ ว่าจะยอมหรือไม่ หลัง นายกฯ ได้พูดเป็นนัยมาแล้ว

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวขอบคุณ ครม. และ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลทั้งหมดที่อยู่กันมาทั้งหมดที่อยู่กันจะ 3-4 ปีอยู่แล้ว ซึ่งเราทำอะไรหลายอย่างไปได้ด้วยดี ไม่มีปัญหาใดๆ ทั้งสิ้น 

“แล้วสื่อก็ถามกันได้ทุกวัน จะกี่ ป.ก็ไม่รู้ และมีกี่ ป. กี่ อ. ก็มีหมด”

พร้อมหันไปหา ‘อนุทิน’ ที่ยืนอยู่ข้างๆ และหัวเราะอย่างอารมณ์ดี บอก “ทำไมจะต้องสนใจแค่ 3 ป. ก็ไม่รู้” จากนั้นสื่อเลยได้โอกาสถามแสดงว่า ‘อ.’ มีสิทธิใช่หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า “ก็เป็นสิทธิตามประชาธิปไตย มันก็อยู่ที่ฉัน”

ซึ่งคีย์เวิร์ดสำคัญคือ “อยู่ที่ฉัน” นั่นหมายความว่าหาก พล.อ.ประยุทธ์ ยังไม่ยอม ‘ลงหลังเสือ’ ก็ยากที่ ‘อนุทิน’ จะขึ้นมา

แต่ใช่ว่า ‘อนุทิน’ จะยอมเป็น ‘ลูกไก่ในกำมือ’ ก็จะเสียชื่อ ‘หนู’ ช่วย ‘ราชสีห์’ ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ ก็รู้ตัวว่าหากขาด ‘อนุทิน’ ก็จะสั่นคลอน จึงต้องยอม ‘กลืนเลือด’ หรือ ‘เอาใจ’ ฝั่งพรรคภูมิใจไทย

โดยเฉพาะนโยบาย ‘กัญชาเสรี’ ที่กำลังเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์หลากหลาย ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ ก็ย้ำเสมอว่าต้องมีกฎหมายควบคุม รวมทั้งใช้ในทางการแพทย์เท่านั้น อีกทั้งอยู่ในช่วง ‘สุญญากาศ’ รอร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ ผ่านสภา ที่ต้องใช้เวลาอีกนาน แต่ในห้วงเวลานี้ทาง สธ. ได้ออกกฎกระทรวงมา ‘แก้ขัด’ ก่อน ซึ่งในเรื่องนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ก็โยนให้ ‘อนุทิน’ ชี้แจงเอง

ศุภชัย พรบ กัญชา LINE_ALBUM_220613_7.jpg

แต่ที่เป็น ‘ระเบิดเวลา’ รออยู่เบื้องหน้าคือการต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่ยังค้างคาอยู่ ระหว่าง 3 ฝ่าย นั่นคือ ผู้ว่าฯกทม. - รมว.คมนาคม และ ครม. ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ เป็น นายกฯ โดยมี ‘บิ๊กป๊อก’พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ในฐานะตัวกลาง จึงเปรียบเป็นเรื่องระหว่าง ‘ขั้วชัชชาติ-3ป.-ภูมิใจไทย’ ซึ่งเรื่องดังกล่าว พล.อ.ประยุทธ์ ก็ใช้วิธียื้อเวลามาตลอด ตั้งแต่ยุค ‘บิ๊กวิน’พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง เป็น ผู้ว่าฯกทม. ที่ถูกแรงต้านจากฝั่งพรรคภูมิใจไทย

อย่างไรก็ตามเริ่มมีการมอง ‘สูตรการเมือง’ ในการ ‘จัดตั้งรัฐบาล’ ในอนาคต ทุกสูตรล้วนมี ‘พรรคภูมิใจไทย’ เป็น ‘พรรคตัวแปร’ ทั้งสิ้น

แม้ที่ผ่านมา ‘อนุทิน’ ก็ไม่เคย ‘ปิดประตูตัวเอง’ ในการจับมือกับ ‘พรรคเพื่อไทย’ โดย ‘อนุทิน’ เคยโตมาจาก ‘พรรคไทยรักไทย’ เคยเป็น รมช.สาธารณสุข รมช.พาณิชย์ ยุครัฐบาลทักษิณ ชินวัตร จนมาถึงยุคหลังรัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ทางพรรคภูมิใจไทยได้ย้ายขั้วไปหนุน ‘อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ’ เป็น นายกฯ แทน จึงเป็นจุดแตกหักระหว่าง 2 ขั้ว กับตำนาน ‘มันจบแล้วครับนาย’ ทำให้ทั้ง 2 พรรคอยู่ตรงข้ามกันมา 10 ปีแล้ว

เนวิน บุรีรัมย์ ประยุทธ์ 065544.jpg

ซึ่งเรื่องนี้ ‘อนุทิน’ ได้ออกมาชี้แจงถึงสายสัมพันธ์ระหว่าง ‘เพื่อไทย-เนวิน’ เมื่อกลางมี.ค. 2565 ว่า “คนที่อยู่ในเวทีการเมือง ก็เขาบอกแล้วว่า ไม่มีมิตรแท้ ศัตรูถาวร เราขัดแย้งกันได้ เราเห็นไม่ตรงกันได้ เราเดินคนละแนวทาง คนละเส้นทางกันได้ แต่ว่าในทางส่วนตัว เราไม่ทำร้ายกัน เราไม่เกลียดกัน หลังๆมันมีแนวๆ นี้ เราต้องดึงกลับไปให้ได้”

“ผมว่าเวลา กาลเวลามันก็ คนก็อายุมากขึ้น อะไรมากขึ้น แต่ไม่มีอะไรกัน เท่าที่ผมทราบนะ ไม่ได้มีพบปะกันไม่ได้มีการพูดคุยกัน” อนุทิน กล่าว

ที่ผ่านมา ‘เสี่ยหนู’ พยายามสร้างภาพลักษณ์ให้พรรคฯ สามารถเข้าได้กับ ‘ทุกขั้ว’ พยายามทอดไมตรีหาทุกฝ่าย รวมทั้งบริหารงานพรรคแบบ ‘บริษัทเอกชน’ ผสมผสาน ‘สโมสรฟุตบอล’ ที่พยายามดึง ‘ผู้เล่น’ ที่เป็น ‘แม่เหล็กการเมือง’ มาเข้าพรรคมากขึ้น 

อย่างไรก็ตาม ‘อนุทิน’ กลับมีท่าทีเปลี่ยนไปช่วงเดือน มิ.ย.นี้. รวมทั้งเกิดปรากฏการณ์ ‘งูเห่า’ แปรพักตร์ขึ้นมา ทำให้ฝั่งพรรคเพื่อไทยต้องกอบกู้พรรค เปิดแคมเปญ ‘ไล่หนู ตีงู’ ที่ จ.ศรีสะเกษ ขึ้นมาเมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 2565

กลายเป็นศึกระหว่าง 2 พรรค ในการยึดภาคอีสานตอนใต้ กลายเป็นชนวนขัดแย้งครั้งใหม่ระหว่าง ‘พรรคเพื่อไทย-ภูมิใจไทย’

แพทองธาร เพื่อไทย ศรีสะเกษ -B434-4B46-9B5B-27A104D95558.jpeg

เมื่อย้อนไปช่วงต้นเดือน มิ.ย. 2565 ‘อนุทิน’ ได้ตอบสื่อถึงกระแสข่าวโอกาสของพรรคภูมิใจไทยจับมือทำงานกับ ‘อุ๊งอิ๊งค์-แพทองธาร ชินวัตร’ หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย

ซึ่ง ‘อนุทิน’ มีท่าทีแปลกใจกับคำถามว่า “ไม่มี อย่างที่ผมเคยบอก ของบางอย่างมันไม่ต้องแทง เพราะมันคอนโทรลเป้าหมายไม่ได้ การเลือกตั้ง ผมกล้าพูดจะมาไหม 10 หรือ 20 คน มันก็ต้องรอผลของการเลือกตั้งให้เรียบร้อย อย่างที่ผมบอก 3-4 ทุ่มของวันอาทิตย์ที่เลือกตั้งค่อยคิด จริงๆ เป็นแบบนี้มาตลอด คิดอะไรมากก็ไม่ได้ เพราะคิดก่อนถึงเวลาไม่เป็นไปตามนั้น ก็ต้องถูกเทอยู่ดี มีใครถูกเทเท่ากับพรรคภูมิใจไทย พรรคภูมิใจไทยถูกเท 2-3 รอบเข็ดจนตาย ตอนนี้เทคนอื่นบ้างสิ”

สถานการณ์ผ่านมาเกือบ 3 เดือน คำพูดของ ‘อนุทิน’ เปลี่ยนไป พร้อมกับท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ชัดเจนยิ่งขึ้นว่ายังไม่ถอยง่ายๆ

ทำให้ภาพการเมืองอีก 8 เดือนชัดเจนยิ่งขึ้น

ประยุทธ์ อนุทิน สุชาติ S__41558085.jpg

ว่ากันว่า พล.อ.ประยุทธ์ อาจ ‘ยุบสภา’ ช่วงหลังปีใหม่ 2566 ไปแล้ว นั่นคือช่วง ม.ค.-ก.พ. 2566 ซึ่งก็เกือบครบวาระ 4 ปี ในเดือน มี.ค. 2566

ดังนั้นระยะเวลาอีก 8 เดือน ย่อมมีปรากฏการณ์ต่างๆเกิดขึ้น ที่เป็นทั้งเหตุ ‘สุดวิสัย’ หรือ ‘จัดตั้ง’ ขึ้นมา เพราะบางเหตุการณ์ก็เคยมาแบบ ‘ไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย’

การช่วงชิงโอกาสจากสถานการณ์ต่างๆ การชิงไหวชิงพริบทางการเมือง ‘นอกสภา’ จากนี้ไปจะยิ่งเข้มข้น แต่การเมืองไทยก็ยังไม่หลุดพ้นจาก ‘ระบอบลุง’ เว้นแต่จะเกิดเหตุการณ์ ‘พลิกขั้ว’ เท่านั้น