วันนี้ 12 มิ.ย. 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เปิดเผยผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง ‘ความนิยม ผู้นำรัฐบาล กับ ประชาธิปไตย’ กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ โดยดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) จำนวน 1,400
โดยดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 1 – 12 มิ.ย. 2564 ที่ผ่านมา
พบว่า เกินครึ่งหรือร้อยละ 55.4 มีระดับความวางใจในระบอบประชาธิปไตยว่า ช่วยลดความเดือดร้อนทุกข์ยากของประชาชนได้ค่อนข้างมากถึงมากที่สุด ในขณะที่ร้อยละ 28.4 วางใจปานกลางและร้อยละ 16.2 วางใจค่อนข้างน้อยถึงไม่วางใจเลย
“ที่น่าสนใจคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 93.4 ระบุผู้นำที่เด็ดขาด สั่งการและควบคุมแก้ปัญหาชาติและประชาชนมีประโยชน์ ช่วยได้ ในขณะที่ร้อยละ 6.6 ระบุไม่มีประโยชน์ ช่วยไม่ได้เลย” รายงานระบุ
อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 98.5 ระบุสิ่งที่เห็นและเป็นไปในประชาธิปไตยบ้านเราคือ ในการแก้ปัญหาวิกฤตชาติ มีคนมือไม่พาย เอาเท้าราน้ำ คอยแต่ตำหนิคนทำงาน ในขณะที่ร้อยละ 95.9 ระบุ ประชาชนผู้มีรายได้น้อยยังมีสิทธิเข้าถึงความจำเป็นพื้นฐาน เช่น สวัสดิการแห่งรัฐ และร้อยละ 95.8 ระบุ รัฐบาล ถูกวิพากษ์ วิจารณ์ได้จาก สื่อมวลชน นักการเมืองและประชาชนทั่วไป เป็นต้น
“ที่น่าพิจารณาคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 88.4 ระบุประเทศไทยวันนี้มีความเป็นประชาธิปไตย ในขณะที่ร้อยละ 10.6 ระบุไม่มี อย่างไรก็ตาม เมื่อถามถึงอีก 20 ปีข้างหน้า พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 96.0 ระบุประเทศไทยจะยังคงมีความเป็นประชาธิปไตยอยู่ ในขณะที่ร้อยละ 4.0 มองว่าจะไม่มี” รายงานระบุ
เมื่อถามถึงความนิยมต่อนักการเมืองบุคคลสำคัญต่างๆ ถ้าวันนี้เลือกได้จะเลือกใครเป็นนายกรัฐมนตรี พบว่า
อันดับแรกหรือร้อยละ 30.8 ระบุ เลือก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
รองลงมาคือ ร้อยละ 14.9 ระบุ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์
อันดับสามหรือร้อยละ 5.3 ระบุ อนุทิน ชาญวีรกูล
ร้อยละ 4.8 ระบุ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์
ร้อยละ 3.1 เช่นกันระบุ จุรินทร์ ลักษณ์วิศิษฏ์
ร้อยละ 2.1 ระบุ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา
ในขณะที่ร้อยละ 13.4 ระบุคนอื่น ๆ
และร้อยละ 25.6 ระบุไม่ทราบ ไม่มี
นพดลกล่าวว่า ผลโพลชิ้นนี้ชี้ให้เห็นว่า ในระบอบประชาธิปไตยของประเทศไทย ประชาชนที่ถูกศึกษาส่วนใหญ่ต้องการได้ผู้นำประเทศที่เด็ดขาด สั่งการและควบคุมแก้ปัญหาวิกฤตชาติและประชาชน โดยเชื่อว่าเป็นประโยชน์ช่วยลดความเดือดร้อนทุกข์ยากของประชาชนได้ดี แต่ในสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 และเศรษฐกิจขณะนี้
“สิ่งที่ประชาชนเห็นและเป็นไปคือกลุ่มคนจำนวนมากที่เอาแต่ตำหนิคนทำงาน มือไม่พายเอาเท้าราน้ำ ทั้งๆ ที่ประชาชนผู้มีรายได้น้อยก็มีสิทธิได้รับสิทธิเข้าถึงสวัสดิการแห่งรัฐ และรัฐบาลก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้ ประชาชนทั่วไปก็สามารถเข้าร่วมกลุ่มต่างๆ แสดงความคิดเห็นและจุดยืนที่แตกต่างไปจากรัฐบาลได้” นพดล กล่าว
ดูรายงานสรุปฉบับเต็ม https://bit.ly/3zncGqr