ไม่พบผลการค้นหา
ครม.ถกวาระลับออก พ.ร.ก.กู้เงิน 7 แสนล้าน แก้วิกฤตโควิดรอบ 3 ทำหนี้สาธารณะพุ่งทะยาน 9 ล้านล้าน ด้าน 'คลัง' ชี้มีวัคซีนยังหวั่นไวรัสกลายพันธุ์ หากรองบฯปี 65 อาจไม่ทัน

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) วันที่ 18 พ.ค. 2564 ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เป็นประธาน มีการพิจารณาวาระลับ เห็นชอบร่างพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดระลอกใหม่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยมีกรอบวงเงินกู้ไม่เกิน 700,000 ล้านบาท

มีแผนงานโครงการ ประกอบด้วย

1)แผนงานหรือโครงการเพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดระลอกใหม่ วงเงิน 30,000 ล้านบาท โดยเป็นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัดหาเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ ยารักษาโรค วัคซีน และการวิจัยพัฒนาวัคซีนภายในประเทศ รวมทั้งการปรับปรุงสถานพยาบาลสำหรับ การบำบัดรักษาผู้ติดเชื้อ

2)แผนงานหรือโครงการช่วยเหลือ เยียวยา หรือชดเชยให้แก่ประชาชนและผู้ประกอบการซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดระลอกใหม่ วงเงิน 400,000 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน และช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลาง และขนาดย่อมให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อเนื่องได้

3)แผนงานหรือโครงการเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับ ผลกระทบจากการระบาดระลอกใหม่ วงเงิน 270,000 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับ แผนงาน/โครงการเพื่อรักษาระดับการจ้างงานของผู้ประกอบการและกระตุ้นการลงทุน และการบริโภค ในระบบเศรษฐกิจของประเทศ

กู้เงิน.JPG


กระทรวงการคลัง รายงานว่า สถานะหนี้สาธารณะคงค้างปัจจุบัน (ณ สิ้นเดือน มี.ค. 2564) มีจำนวน 8,472,186.98 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 54.28 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ซึ่งการกู้เงิน 700,000 ล้านบาท และเมื่อรวมกับประมาณการการกู้เงินอื่นตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะแล้ว จะส่งผลให้ สถานะหนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือน ก.ย. 2564 คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นเป็น 9,381,428 ล้านบาท หรือ คิดเป็นร้อยละ 58.56 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ซึ่งยังอยู่ภายใต้กรอบการบริหารหนี้สาธารณะ ตาม พ.ร.บ. วินัยฯ ที่ได้กำหนด สัดส่วนหนี้สาธารณะคงค้างต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศไว้ไม่เกินร้อยละ 60

กู้เงิน 1.JPG


กระทรวงการคลัง รายงานเหตุผลความจำเป็นว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ในหลายประเทศทั่วโลกยังมีความยืดเยื้อ อีกทั้งการแพร่ระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ในประเทศไทยตั้งแต่ช่วงเดือน ม.ค. - พ.ค.2564 มีลักษณะการระบาดเป็นกลุ่มก้อน (Cluster) หลายจุด ทั้งในแหล่งที่พักอาศัย สถานที่ท่องเที่ยว สถานที่ สาธารณะ และในชุมชนอย่างต่อเนื่องและมีความเสี่ยงที่จะเกิดการแพร่กระจายเป็นวงกว้างและมีความรุนแรง มากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ดี แม้ว่าปัจจุบันรัฐบาลพยายามจัดหาและกระจายวัคซีนให้ครอบคลุมประชากรมากที่สุดเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ แต่ยังมีความเสี่ยงของการกลายพันธุ์ของไวรัส จึงไม่สามารถใช้เป็นหลักประกันว่าจะสามารถควบคุมการระบาดให้อยู่ในวงจำกัด และยังคงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ความไม่แน่นอนของการกระจายวัคซีนของหลายประเทศ เป็นอีกปัจจัยสาคัญที่ส่งผลต่อรายได้หลักของประเทศซึ่งมาจากภาคการท่องเที่ยวและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย

ทั้งนี้ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้คาดการณ์เมื่อเดือน ก.พ. 2564 ว่า จำนวน นักท่องเที่ยวต่างชาติ ปี 2564 จะอยู่ที่ 3.2 ล้านคน ลดลงจากที่ประมาณการไว้เดิมที่ 5 ล้านคน หรือลดลง ประมาณร้อยละ 53 จากปี 2563 และคาดว่ารายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติจะลดลงประมาณ 440,000 ล้านบาท จากปี 2563

กู้เงิน11.JPG


นอกจากนี้ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้คาดการณ์ผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ในหลายประเทศรวมถึงประเทศไทยว่า จะทำให้เศรษฐกิจไทยปี 2564 ขยายตัว ร้อยละ 2.3 ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 2.8 ซึ่งสอดคล้องกับประมาณการของสำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่คาดว่าเศรษฐกิจไทยปี 2564 จะขยายตัวร้อยละ 1.5 – 2.5 เนื่องจากการระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทย

รัฐบาลมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องใช้งบประมาณเพิ่มเติมเพื่อแก้ไขปัญหา จำกัดการแพร่ระบาดให้อยู่ในวงจำกัด และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดระลอกใหม่ ของ COVID-19 แต่เนื่องจากแหล่งเงินงบประมาณที่สามารถนำมาใช้เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของ COVID-19 มีข้อจากัด อาทิ การจัดทำงบประมาณรายจ่ายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 มีกระบวนการและใช้เวลา การดำเนินงาน ซึ่งอาจไม่ทันต่อสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ประกอบกับวงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล งบประมาณในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ตามพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ใกล้เต็มกรอบวงเงินแล้ว

ดังนั้น เพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม และเพื่อให้รัฐบาลสามารถบริหารสภาพคล่องทางการคลังในกรณีที่การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลได้รับ รัฐบาลจำเป็นต้องมีมาตรการบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจ และสังคมที่ได้รับความเสียหาย และเตรียมการรองรับความเสียหายใหม่ที่ไม่อาจคาดการณ์ได้ โดยการเตรียม ความพร้อมด้านการเงินล่วงหน้า เพื่อให้ทันต่อการป้องกันและแก้ไขปัญหาที่อาจทวีความรุนแรงและส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจในระยะยาวและยากต่อการแก้ไข

ข่าวที่เกี่ยวข้อง