ภายหลังการอภิปรายงบประมาณแผ่นดิน 2565 เป็นที่ชัดเจนว่่า งบด้านความมั่นคงที่ผูกโยงกลาโหม-กองทัพนั้นมากกว่างบด้านสาธารณสุข-การศึกษา
ย่อมสะท้อนวิธีคิดของรัฐบาล-ราชการไทยที่เลือกจัดลำดับความสำคัญของวาระเร่งด่วนท่ามกลางวิกฤตโควิดและความเหลื่อมล้ำที่ถ่างขึ้นจนกลายเป็นหลุมดำ
รัฐบาลนี้ไม่รู้ว่าภัยคุกคามหลักของประเทศคืออะไร ในห้วงสถานการณ์อันใกล้และไประยะข้างหน้า โควิดนี้เราไม่รู้จะจบเมื่อไหร่ สะท้อนถึงความอ่อนด้อยในการประเมินสถานการณ์ว่าภัยคุกคามของประเทศคืออะไร
พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ และที่ปรึกษาพรรคเพื่อไทย วิพากษ์เข้าไปที่ใจกลางของวิธีคิดด้านความมั่นคงซึ่งแปรมาเป็นการจัดสรรงบประมาณแผ่นดิน
"เพราะโจทย์จะตั้งงบประมาณหรือทำอะไร มันจะมาจากภาพใหญ่ก่อน ประเทศกำลังเผชิญกับปัญหาอะไร จากนั้นก็มาจัดงบประมาณ แล้วก็จัดเจ้าภาพส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง"
พล.ท.ภราดร บอกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาของหน่วยอำนวยการที่เป็นฝ่ายความมั่นคง และฝ่ายสังคมเศรษฐกิจที่ต้องสัมพันธ์กันหมด ทั้งสภาความมั่นคงแแห่งชาติ และสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงฯ ในปี 2556 อธิบายภาพความมั่นคงที่อยู่ในงานของฝ่ายความมั่นคงว่า ถ้าพูดถึงเรื่องภัยคุกคาม ภัยคุกคามคือตัวที่ส่งผลกระทบก่อให้เกิดความไม่มั่นคง แต่ภัยคุกคามก็จะเปลี่ยนไป บริบทจะเปลี่ยนไปต่างจากในอดีต จากสงครามเย็นก็มีพัฒนาการมาเรื่อยๆ
แต่โจทย์วันนี้ไม่ได้อยู่ที่่สงคราม รบรากันด้วยอาวุธ แต่อยู่ที่ภัยธรรมชาติและโรคระบาดที่โลกกำลังถูกท้าทาย-โรคระบาดที่อู่ฮั่น น้ำท่วมใหญ่ทั่วโลก ไฟป่าออสเตรเลีย โควิดระบาดที่อินเดีย
"ระยะหลังมา ทุกประเทศในโลกยอมรับว่าไอ้ภัยคุกคามมิติใหม่ คือภัยคุกคามทางด้านโรคอุบัติใหม่ โรคอุบัติซ้ำถือเป็นภัยคุกคามมิติใหม่แล้ว ฝ่ายความมั่นคงต้องประเมินว่า เออ มันใช่ จะต้องเผชิญ เตรียมรับมือ แต่สภาความมั่นคงจะต้องเข้าใจอีกนะว่าภัยคุกคามมันมีเกิดขึ้น แต่หน่วยรับผิดชอบ เครื่องมือกลไก คุณก็ต้องอ่านให้ขาดสิ"
อดีตทหารวัย 66 บอกว่า ที่ผ่านมางานความมั่นคงของเราเป็นความท้าทายจากระบบสงครามเย็น เจอการก่อการร้าย
"เราก็มักจะใช้หน่วยงานความมั่นคงเป็นทั้งกองหน้า กองกลาง กองหลัง เป็นครบหมดในการไปรับมือ แต่ในสงครามมิติใหม่ๆ แบบนี้ ภัยคุกคามใหม่แบบนี้ กองหน้ามันไม่ใช่แล้ว"
เขาว่า ราชการผู้เชี่ยวชาญต้องกล้าเสนอแนะรัฐบาลว่า เรื่องโรคระบาด กองหน้าต้องเป็นกระทรวงสาธารณสุข แล้วฝ่ายความมั่นคงเป็นหน่วยที่สนับสนุนพอ ทำหน้าที่รองรับ ช่วยจัดระเบียบทำให้เขาทำงานได้ด้วยความราบรื่น
"พอส่งสัญญาณไป การจัดงบประมาณมันจะรู้เองว่าต้องอะไรนำ อะไรรอง มันก็ชัดว่าสาธารณสุขต้องนำ กลาโหมต้องรอง"
แต่่ท่ามกลางโรคระบาดที่เป็นวิกฤตพร้อมกันทั้งโลก ไทยยังเจอความท้าทายแห่งยุคสมัยด้วย นั่นคือข้อเรียกร้องจากคนหนุ่มสาวที่ต่างเปล่่งเสียงอยากเห็นอนาคตที่ดีกว่าเดิม และไม่ยำเกรงที่จะเจาะเข้าไปใน "ภูเขาน้ำแข็ง"
ในทัศนะของทหารที่ยืนข้างประชาธิปไตย เขามองว่าความเห็นต่างเป็นเรื่องปกติ แต่ฝ่ายความมั่นคงเองนั่นแหละที่ไปขยายให้เกิดความไม่เรียบร้อยในบ้านเมือง คิดว่าต้องไปจัดการ
ทั้งที่จริงๆ เป็นเรื่องความเห็นต่างเท่านั้นเอง
"รัฐบาลบริหารสถานการณ์ไม่ดี ไอ้ความขัดแย้ง ความเห็นต่าง ก็เลยไปยกระดับเป็นความแตกแยกเลย แล้วก็ต้องมาเสียงบประมาณจัดการในเรื่องความแตกแยก เห็นไหมว่ารัฐบาลต้องใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง ต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไปเรื่อย เพราะแก้ปัญหาไม่เป็น" พล.ท.ภราดร ฉายภาพงูกินหางไม่รู้จบ
เพราะฉะนั้นคำถามว่าความเป็นธรรมจะเกิดขึ้นได้ยังไง จึงเป็นโจทย์ที่ผู้มีอำนาจต้องทำการบ้าน
เขาบอกว่ามันคือความคาดหวังจากกระบวนการยุติธรรม ถ้าเราสร้างความมั่นใจว่าเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง เจ้าหน้าที่กระบวนการยุติธรรมทั้งหลาย ประชาชนเชื่อว่าให้เขาได้จริง รับรองไม่เกิดปัญหาอะไรเลย
"ตำรวจก็ต้องเป็นตำรวจอาชีพ ทหารเป็นทหารอาชีพ ตรงนั้นล่ะ พี่น้องประชาชนจะเชื่อมั่น อัยการเป็นอัยการโดยอุดมการณ์ โดยอาชีพ เข้าไปสู่กระบวนการตุลาการนั่นชัดเจน จะเกิดปัญหายังไง สุดท้ายมันหาความลงตัวได้ตลอด"
เขาเปรียบเทียบความเป็นมืออาชีพของกระบวนการยุติธรรมก็เหมือนเสาหลัก เป็นต้นไม่ใหญ่ แม้กิ่งก้านใบจะหลุดร่วงเหี่ยวเฉา ถ้ารากแก้วยังอยู่ กิ่งก้านใบก็งอกใหม่ได้ แต่วันนี้เหมือนรากแก้วจะหายไป
ที่จริงเรากำลังเป็นพัฒนาการเพื่อจะไปสู่ประชาธิปไตย แล้วเราก็ย่ำอยู่กับที่มันไม่ไปสักที เพราะอะไร ที่จริงแล้วมันอยู่ที่สำนึก แล้วก็สะท้อนให้เห็นว่าการให้ความรู้ความเข้าใจ การสร้างพัฒนาการของโรงเรียนทหารมันต้องมีปัญหา
พล.ท.ภราดร บอกว่า การปฏิวัติรัฐประหารมันไม่ควรจะเกิด การกล่าวอ้างทางการเมือง มีทุจริต คอรัปชั่น มีปัญหากับการไม่เคารพสถาบันฯ มีอื่นๆ อะไรก็ตามแล้วแต่จะอ้างนั้น แต่ขอยืนยันว่าจริงๆ แล้ว ไม่ได้มีเงื่อนไขอะไรหรอก มันมีเงื่อนไขว่าไอ้คนปฏิวัตินั่นแหละ มันไม่มีสำนึกประชาธิปไตย
"เรื่องจิตสำนึก เราต้องกลับมาทบทวนเเหมือนกัน เมื่อก่อนเรามองคนที่จบโรงเรียนนายร้อย จปร. มันต้องมีอุดมการณ์ มีจิตสำนึกที่ชัดเจนนะ แต่ตอนหลังเรามีความรู้สึกว่า มันเหมือนมีอะไรบังตา หรือผลประโยชน์บังตา แล้วทำให้จิตสำนึกอุดมการณ์จางลง"
ในฐานะนักเรียนนายร้อย เขาบอกว่าคนที่จบจากโรงเรียนนายทหารทุกประเทศในโลกส่วนใหญ่ จะต้องมีจุดยืนเข้มแข็ง
ขณะเดียวกัน ก็ไม่ปฏิเสธว่ามีโอกาสเปลี่ยนแปลง ถ้าพี่น้องประชาชนโชคดี กองทัพโชคดี เราได้คนที่มีจุดยืนเป็นผู้บังคับบัญชา มันก็จะผ่านพ้นไปด้วยดี แต่ถ้าเราไปเจอผู้บังคับบัญชาที่ตอนหลังมีจุดยืนที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งตอนนี้พี่น้องประชาชนทั้งประเทศกำลังสงสัยเช่นนี้อยู่เหมือนกัน
"ตรงนี้แหละที่เป็นอันตราย แล้วก็ทำให้บทบาทของกองทัพและศักดิ์ศรีถดถอยลง"
ย้อนไปปี 2516 ขณะที่เขาเป็นนักเรียนนายร้อย "โอ้โห มันมีศักดิ์ศรี มีเกียรติ เพราะเราเพิ่งเดินทางจากโรงเรียนเตรียมทหาร เข้าสู่เป็นนักเรียนนายร้อยชั้นปีที่ 1 ก็คาดหวังจะได้แต่งเครื่องแบบ มีเกียรติ ศักดิ์ศรี เดินถนนราชดำเนิน"
"แต่ปรากฏว่าสิ่งที่เราประสบ สุดท้าย เครื่องแบบก็ได้แต่งอยู่แค่ในโรงเรียน เดินออกมาไม่ได้ พอวันเสาร์อาทิตย์ ได้รับการให้ออกจากโรงเรียน จะกลับบ้าน ก็แต่งเครื่องแบบในโรงเรียน แล้วก็เปลี่ยนเป็นชุดพลเรือน สุดท้ายมันมีสิ่งบอกเหตุที่คนรู้ว่าเป็นทหาร เพราะผมมันสั้น ฉะนั้นพอออกจากประตูโรงเรียน ทุกคนก็แห่ขึ้นแท็กซี่ หรือรถที่บ้านมารับ แล้วก็รีบไป กลับไปอยู่ที่บ้าน ไม่ได้ไปไหน พอวันอาทิตย์ก็นั่งแท็กซี่หรือรถบ้านมาส่งที่ประตูโรงเรียน
"โอ้โห เกียรติยศ ศักดิ์ศรีทางทหารมันหมดสิ้นจริงๆ เป็นภาพที่ติดตามาตลอดจนทุกวันนี้ เราไม่อยากให้เกิดภาพเหล่านั้นกับเพื่อนพ้องน้องพี่เราที่เป็นนายทหาร ไม่ว่าจะเป็นชั้นไหนก็ตาม ชั้นประทวน ชั้นนายทหารสัญญาบัตรก็ตาม
"มันเป็นภาพที่น่าหดหู่ใจ ประชาชนเห็นเราเป็นแบบ ไม่ใช่เลยนะ ถ้าเห็นเป็นเครื่องแบบนี่โดนไล่ตีเลย ถึงขั้นอย่างนั้นเเลย มันเป็นวิกฤตการณ์ที่เราไม่อยากให้ภาพนั้นมาเกิดขึ้นอีกในชีวิตเรา ขอให้มันมีแค่ครั้งเดียว แต่ทุกวันนี้มันมีความรู้สึกว่าเอ๊ะ มันจะตามมาหลอนเราอีกหรือเปล่า"
พล.ท.ภราดร ทิ้งท้ายว่า ไม่ว่าผู้นำในทางของประเทศ หรือผู้นำในทางของทหาร โดยเฉพาะผู้นำทางทหาร วันไหนที่คุณไม่ทำตามสัจจะวาจาก็จบ
"ตอนนี้มันก็เกิดสิ่งเหล่านี้ตามมาหลอน แล้วประชาชนเชื่อด้วยนะ ฉะนั้นพอเราจะไปขอร้อง ขอความร่วมมือ สังเกตไหม มันเลยไม่เกิดความร่วมมือ เพราะมันไม่เชื่อกัน"
เรื่อง : ธิติ มีแต้ม / ภาพ : ฉัทดนัย ทิพยวรรณ์