ไม่พบผลการค้นหา
คปน.อีสาน แถลงชี้ เวทีรับฟังความเห็นตั้ง 29 โรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลจากโครงการสานพลังประชารัฐ ครั้งที่ 1 อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น ไม่ครบกระบวนการ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำกำลังเข้ากีดขวางชาวบ้านที่พยายามจะเข้าไปรับฟัง

เมื่อวานนี้(10ก.ย.) บริเวณโรงเรียนบ้านไผ่ศึกษา คณะกรรมการประชาชนคัดค้านโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลภาคอีสาน แถลงข่าวยืนยันกระบวนการเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 กรณีโรงงานน้ำตาลขนาด 20,000 ตันอ้อย/วัน และโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาด 32 เมกะวัตต์ ของบริษัทน้ำตาลแห่งหนึ่งไม่ครบขั้นตอนและไม่มีความชอบธรรม

โดยนายสิริศักดิ์ สะดวก ผู้ประสานงานคณะกรรมการประชาชนคัดค้านโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล หรือ คปน.อีสาน กล่าวว่า ทาง คปน. ภาคอีสาน เห็นว่ากระบวนการมีส่วนร่วมโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลที่กำลังจะเกิดขึ้น 29 โรงทั่วภาคอีสานมาจากโครงการสานพลังประชารัฐโดยรัฐบาลชุดก่อนนั้น และวันนี้การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 ของบริษัทฯ พบว่า 1.เป็นกระบวนการจัดเวที่รับฟังความคิดเห็นที่ชาวบ้านถูกกีดกัน โดยเ��้าหน้าที่ตำรวจ และมีรถขวาง 2.กระบวนการจัดเวที่รับฟังความคิดเห็นในวันนี้เรามองว่าไม่ครบกระบวนทุกขั้นตอน เนื่องจากชาวบ้านยังรับรู้ข้อมูลไม่ครบถ้วน รอบด้าน ดังนั้นทางคณะกรรมประชาชนคัค้านโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลภาค คปน.อีสาน มีข้อเสนอคือ 

1.คปน. ยังยืนยันให้มีการตรวจสอบโครงการสานพลังประชารัฐ กรณีโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล รายจังหวัด

2.ให้มีการยุติกระบวนการเวทีไม่รับฟังความคิดเห็น ชาวบ้านในพื้นที่ขาดการมีส่วนร่วมและข้อมูล

3.ให้มีการประเมินยุทธศาสตร์สิ่งแวดล้อมก่อน

ทั้งนี้ตัวแทน คปน.ภาคอีสานและกลุ่มฮักบ้านเกิดบ้านเมืองเพีย จะยังคงคัดค้านการะบวนการรับฟังความคิดเห็นอีกใน 2 เวที คือ อ.ชนบท อ.ศิลา จ.ขอนแก่น และหลังจากนั้นเตรียมที่จะเดินทางไปยื่นหนังสือกับ 7 พรรคฝ่ายค้านที่รัฐสภา เพื่อให้ทำหน้าที่ตรวจสอบโครงการสานพลังประชารัฐกรณีโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลภาคอีสาน

S__15605770.jpg

ด้าน สุดารัตน์ ธินายอม อายุ 30 ปี กลุ่มฮักบ้านเกิด ต.เมืองเพีย อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น กล่าวว่า ในช่วงเช้า กลุ่มฮักบ้านเกิดรวมตัวกันเพื่อจะแสดงความคิดเห็นหรือรับฟังข้อมูล มาให้ข้อมูลเรื่องผลกระทบแต่ยังไม่ถึงจุดหมายก็มีเจ้าหน้าที่กีดกันจอดรถขวางไม่ให้กลุ่มฮักบ้านเกิดได้เข้าไปร่วมแสดงความคิดเห็น ก่อนหน้าก็ได้มีการประชาสัมพันธ์ว่าให้พี่น้องเข้าร่วมรับฟังความคิดเห็นแต่พอกลุ่มฮักบ้านเกิดมาทำไมถูกกีดกัน

โดยตอนแรกมีการจอดรถขวาง หลังจากนั้นก็โดนเจ้าหน้าที่กีดขวาง กลุ่มฮักบ้านเกิดตั้งใจมาถามก็ไม่ได้ถาม ถ้าผลกระทบเกิดขึ้นใครจะรับผิดชอบ เราอยู่ในรัศมี 5 กม. ที่โรงงานเขาจะมาตั้ง ก่อนหน้านี้ชาวบ้านอยู่กันอย่างสันติ ไม่มีมลพิษ แต่พอโรงงานมาก็สร้างความแตกแยกในชุมชนที่คิดเห็นต่างกัน ขณะที่ชาวบ้านกังวลเรื่องฝุ่น มลพิษ การจราจร เพราะถ้าโรงงานได้สร้างคงมองไม่เห็นประชาชนกลุ่มล่าง เห็นในหลายพื้นที่ ที่เกิดมลพิษแล้วก็ไม่ได้รับการแก้ไขจากโรงงาน เพราะฉะนั้นพวกเราจึงไม่เอาโรงงาน

ขณที่ กรชนก แสนประเสริฐ อายุ 34 ปี ศูนย์กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม กล่าวว่า ซึ่งกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนไม่ได้มีมาตั้งแต่แรกเริ่ม ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้รับข้อมูลข่าวสารที่เพียงพอถึงกระทั่งการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น บ้านเมืองเพีย อ.บ้านไผ่ ก็มีการกีดกันตั้งแต่นโยบายสานพลังประชารัฐจนถึงเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 ที่กลุ่มฮักบ้านเกิดจะเข้าไปแสดงความคิดเห็นเรื่องข้อกังวลสิ่งแวดล้อม รถสิบล้อ 2,000คัน/วัน น้ำที่จะใช้เป็นหมื่นๆ คิว โดยใช้น้ำ 14 เท่าของอำเภอบ้านไผ่

ดังนั้นจึงเป็นข้อกังวลของกลุ่มฮักบ้านเกิด แต่ในข้อเท็จจริงวันนี้คือการกีดกันของบริษัทเช่นการเอารถมาขวาง การใช้เจ้าหน้าที่ตำรวจมาป้องกันไม่ให้กลุ่มฮักบ้านเกิดเข้าไปมีส่วนร่วมในเวทีนี้ เพราะฉะนั้นเราจึงขอปฏิเสธเวทีนี้เพราะเป็นเวทีที่ไม่ชอบธรรมตามกฎหมาย ไม่ครบกระบวนการ 1.มีการกีดกัน และ 2.ไม่ได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นอย่างทั่วถึง