นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 7 ม.ค.2563 ที่ผ่านมา เห็นชอบกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 โดยกำหนดกรอบรายจ่าย 3.3 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 100,000 ล้านบาท จากปี 2563 ที่มีวงเงิน 3.2 ล้านล้านบาท
โดยประมาณการรายได้วงเงิน 2.777 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 46,000 ล้านบาท จากกรอบวงเงิน 2.731 ล้านล้านบาท จัดทำงบประมาณแบบขาดดุล วงเงิน 523,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน ที่มีวงเงิน 469,000 ล้านบาท เพื่อต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจให้เดินหน้าในช่วงภาวะเศรษฐกิจผันผวน
ด้านงบลงทุนวงเงินอยู่ที่ 6.93 แสนล้านบาท มีสัดส่วนร้อยละ 21 ของงบประมาณทั้งหมด ส่วนงบรายจ่ายประจำวงเงิน 2.5 ล้านล้านบาท ภายใต้สมติฐานจีดีพีขยายตัวร้อยละ 3.1-4.1 เงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 0.7-1.7
นายเดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เปิดเผยว่า เตรียมเปิดให้ส่วนราชการเสนอคำของบประมาณในวันที่ 24 ม.ค. 2563 จากนั้นเสนอที่ประชุม ครม. 17 มี.ค. 2563 เพื่อพิจารณาแผนจัดทำงบประมาณ
สำหรับการจัดทำงบประมาณรายจ่ายปี 2563 เมื่อสภาผู้แทนราษฎรพิจาณาวาระ 2-3 ในวันที่ 8 ม.ค. 2563 จากนั้น ส.ว.ประชุมพิจารณาวันที่ 20 ม.ค.นี้ เพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ และคาดว่าช่วงต้นเดือน ก.พ. 2563 งบประมาณรายจ่ายปี 2563 จะออกสู่ระบบให้ส่วนราชการที่ยื่นของบใช้เงินได้ทันทีประมาณ 1.8 ล้านล้านบาท หลังจากที่ผ่านมาได้เบิกจ่ายงบพลางก่อนไปแล้ว 1.2 ล้านล้านบาท
ทั้งนี้ เมื่อ พ.ร.บ.งบประมาณปี 2563 บังคับใช้ สำนักงบประมาณจะประกาศมาตรการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ การจัดทำ TOR การเตรียมเพื่อให้ส่วนราชการต้องเร่งรัดจัดซื้อจัดจ้างปลายเดือน มี.ค.-พ.ค.นี้ จากนั้นหน่วยงานเจ้าของโครงการต้องเบิกจ่ายให้ได้ร้อยละ 50 ของวงเงินลงทุน หากเบิกจ่ายไม่ได้ตามข้อกำหนด จะส่งผลต่อการเสนอขอจัดสรรงบประมาณปี 2564 จึงขอให้ส่วนราชการยึดข้อเสนอข้อสังเกตุของกรรมาธิการงบประมาณ และต้องจัดอันดับความสำคัญของการใช้งบประมาณ โดยคาดว่าส่วนราชการทุกแห่งเสนอคำของบประมาณมากกว่า 5 ล้านล้านบาทมากกว่าปีที่ผ่านมา
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :