ที่สถาบันพระปกเกล้า ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร แถลงภายหลังการหารือเพื่อออกแบบโครงสร้างและวิธีการทำงานของคณะกรรมการปรองดองสมานฉันท์ กับ วุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า
ชวน ระบุว่า จากที่ได้ให้ทางเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้าไปศึกษารูปแบบองค์ประกอบของงานที่จะต้องทำในการแก้ไขปัญหาบ้านเมือง โดยขอให้สถาบันติดตามงานจาก จุรินทร์ ลักษณะวิศิษฎ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายหรัฐมนตรี และวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานวิปรัฐบาลว่ารูปแบบที่เสนอมานั้นมีรายละเอียดเป็นอย่างไร ซึ่งทางเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้าก็ได้มีการเสนอรูปแบบการแก้ไขปัญหาเป็น 2 รูปแบบ โดยรูปแบบที่1 เป็นไปตามที่จุรินทร์ เสนอคือมีผู้แทนจากฝ่ายต่างๆ รวม 7 ฝ่าย เช่น ส.ส. ฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน ตัวแทนของฝ่ายรัฐบาล ตัวแทนของวุฒิสภา และตัวแทนขององค์กรอื่น แต่ก็มีจุดอ่อน คือหากฝ่ายใดปฏิเสธไม่ร่วมองค์ประชุมก็จะไม่ครบ หากคุยไม่รู้เรื่องก็ล่ม ไม่ประสบความสำเร็จ หรืออาจจะเสร็จเร็วได้ รวมทั้งถ้ามองผิวเผิน จะมีแค่ฝ่ายรัฐบาลกับวุฒิสภา ซึ่งเป็นเสียงส่วนใหญ่ถือว่าน่ากังวล
ชวน ระบุรูปแบบที่ 2 มีคนกลางที่มาจากการเสนอของฝ่ายต่างๆ หรือประธานรัฐสภาเป็นผู้สรรหา หรือแต่งตั้งคณะกรรมการ ซึ่งก็ยังไม่แน่ใจว่ากรรมการที่เราไปทาบทามจะรับหรือไม่ เพราะด้วยเป้าหมายของงานเขาก็ต้องดูปัญหาที่เขาจะเข้ามาดูนั้นมันคือเรื่องอะไร อย่างไรก็ตาม จะเอา 2รูปแบบนี้ไปประสานกับฝ่ายต่างๆ ตามรูปแบบที่ 1 ถ้าเป็นไปไม่ได้ก็จะมาในรูปแบบที่ 2 หรือดึงรูปแบบที่ 1 กับ 2 มาประสานกัน ในส่วนของตัวบุคคล โดยอาจต้องไปถามตัวแทนของฝ่ายต่างๆ ว่าจะเข้าร่วมหรือไม่ หรือคนนอกจะมาร่วมด้วยหรือไม่ เพราะต้องไปคัดคนให้ได้จำนวนไม่มาก แต่มีประสิทธิภาพ เข้าใจปัญหา มองเห็นอนาคตที่ของบ้านเมืองว่าจะมีส่วนลดปัญหาและแก้ปัญหาของบ้านเมืองอย่างไรซึ่งในวันที่ 3 พ.ย. เป็นไปได้ตนก็จะไปพูดคุยกับผู้นำฝ่ายค้านฯ และฝ่ายรัฐบาลเป็นการภายในด้วย
ชวนระบุว่า ได้ประสานกับอดีตผู้ใหญ่ของบ้านเมืองหลายคน เช่น อดีตนายกรัฐมนตรี 3 คน อดีตประธานรัฐสภา ซึ่งเสียงส่วนใหญ่ก็พร้อมจะร่วมด้วยถ้ามีโอกาส ไม่อยากให้สื่อไปตั้งเป้าหมายว่า อย่าไปคิดว่ามันจะมีประโยชน์หรือไม่สำเร็จทุกอย่างมันเริ่มต้นจากการที่คนส่วนใหญ่ในประเทศอยากเห็นบ้านเมืองสงบ วิธีไหนทำให้บ้านเมืองสงบได้เราก็จะพยายาม
เมื่อถามว่า จะเป็นประธานคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นเองหรือไม่ นายชวน กล่าวว่า จะหารือกับอดีตนายและประธานสภารวมถึงบุคคลต่างๆ เพื่อดูว่าจะมีใครสนใจในเรื่องนี้บ้าง และจะเชิญมาร่วม ซึ่งอดีตนายก 3 คนที่ได้พูดคุยต่างก็ห่วงบ้านเมือง และพร้อมให้ความเห็น และอย่าเพิ่งกำหนดเวลา เพราะต้องใช้เวลาในการประสานในแต่ละคน ซึ่งตนจะพยายามไปคุยส่วนตัว และหลายท่านก็ยังบอกว่าไม่สะดวก ส่วนตัวแทนของผู้ชุมนุมถ้าเข้าร่วมด้วยก็จะเป็นประโยชน์มาก จึงได้ให้ทางเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้าไปประสาน ซึ่งไม่อยากให้สื่อตั้งเงื่อนไขว่า ผู้ชุมุนมจะเข้าร่วมหรือไม่เอาเป็นว่า เราเป็นฝ่ายยื่นมือเข้าไปเชิญชวนให้เขามาร่วมแก้ไขปัญหาส่วนรวม โดยการหารือวันนี้ พูดคุยกันเฉพาะเรื่องของโครงสร้างคณะกรรมการฯ ไม่ได้มีการพูดคุยถึงข้อเรียกร้องต่างๆรวมถึงข้อเรียกร้อง 3 ข้อของผู้ชุมนุม
ชวน ระบุว่าเมื่อมีสัญญาณจากนายกรัฐมนตรีในการประชุมรัฐสภาฯครั้งล่าสุด ถือเป็นครั้งแรกที่นายกฯให้การสนับสนุน ถือเป็นสัญญาณแรกที่จะลดความรู้สึกกังวลของผู้ที่อยากจะแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ และมีแนวโน้มว่าจะมีการแก้ไข ส่วนการอภิปรายที่จะมีขึ้นนั้นได้วางแนวว่าไม่อยากให้นำเรื่องสถาบันขึ้นมาเป็นเงื่อนไขโดยถือหลักตามรัฐธรรมนูญว่าพระมหากษัตริย์ทรงเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะล่วงละเมิดมิได้ ฉะนั้นเราพยายามจะหลีกเลี่ยงไม่ให้เป็นเงื่อนไขที่ 2 ฝ่ายทะเลาะหรือเผชิญหน้ากัน ส่วนเรื่องการชุมนุม แม้เป็นภารกิจที่รัฐบาลดูแลอยู่ แต่ถ้ามีส่วนใดที่สภาฯสามารถช่วยบรรเทาปัญหาได้บ้างก็ยินดีและเต็มใจ ซึ่งได้มอบภารกิจให้เลขาสถาบันพระปกเกล้าที่มีหน่วยงาน มีบุคลากรเรื่องความปรองดองที่มีความเชี่ยวชาญให้มาร่วมในการทำงานด้วยโดยไม่ได้กำหนดเรื่องระยะเวลาแต่คิดว่าวิธีการที่เราพยายามแก้ปัญหาส่วนรวมก็คือพยายามคุยกัน อย่างน้อยที่สุดก็จะลดความขัดแย้ง รุนแรง ในลักษณะการคุกคามเพื่อนำไปสู่ความปรองดอง
“ทุกฝ่ายมีส่วนสำคัญ ทุกอย่างมันเริ่มต้น และต้องพยายามร่วมมือกัน เชื่อว่าคนส่วนใหญ่ในประเทศอยากเห็นบ้านเมืองสงบ วิธีใดที่จะช่วยทำให้สงบได้ เราก็พยายาม แม้ภารกิจบางอย่างไม่ใช่ภารกิจที่สภาจะเข้าไปทำ แต่เมื่อได้รับมอบหมายไว้วางใจให้ทำ ต้องพยายามทำออกมาให้ดีที่สุด เท่าที่จะทำได้ ”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถาบันพระปกเกล้า ได้เผยแพร่เอกสารระบุถึงองค์ประกอบของคณะกรรมการสมานฉันท์ โดยมีรายละเอียดว่า จำนวนกรรมการที่เหมาะสมอยู่ระหว่าง 7-9 คน โดยรูปแบบที่ 1 ผู้แทนจากฝ่ายต่าง ๆ ซึ่งในรูปแบบนี้มีข้อห่วงกังวล คือ 1.ตัวแทน 7 ฝ่าย อาจมีองค์ประกอบที่ไม่สมดุล น้ำหนักเอนเอียงเข้าข้างรัฐบาล ทำให้มีกรรมการจะไม่ได้รับความไว้วางใจ 2.ต้องระมัดระวังในการจัดหาผู้เอื้อกระบวนการ ซึ่งควรเป็นคณะทำงานจากหลายหน่วยงานและหลายภาคส่วน ไม่ควรผูกขาด การจัดวาระการประชุมและการยอมรับในตัวประธานคณะกรรมการ 3.โอกาสที่พรรคฝ่ายค้านไม่ร่วมมีสูง และ 4.การหาตัวแทนฝ่ายผู้ชุมนุมเป็นไปได้ยาก ส่วนรูปแบบที่ 2 การมีคนกลางนั้น มีข้อดีคือ ทำให้รัฐสภาเป็นพื้นที่ของการแก้ไขปัญหาสำคัญของชาติ ส่วนข้อห่วงกังวลคือการยอมรับในตัวประธานคณะกรรมการและกรรมการ