เรม คูลฮาส สถาปนิกชื่อดังชาวดัตช์ที่ได้รับรางวัลพริตซเคอร์ นักเขียนและนักวิชาการ ระบุว่า เราจะต้องมาคิดใหม่จัดการใหม่และออกแบบพื้นที่สาธารณะหลายแห่งกันใหม่ในช่วงที่โควิด-19 ระบาด คูลฮาสมองว่าการออกแบบพื้นที่สาธารณะใหม่ควรทำมาตั้งแต่ก่อนหน้านี้แล้ว เพราะในช่วง 20 ถึง 30 ปีที่ผ่านมาเมืองต่างๆ ออกแบบพื้นที่สาธารณะโดยไม่มีจุดประสงค์อื่นใด นอกจากไว้ดึงดูดคนและนักท่องเที่ยว ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงเมืองไปอย่างมาก แต่ที่ผ่านมาเราไม่ได้ตั้งใจมองมัน
ก่อนหน้านี้ คูลฮาสเคยวิพากวิจารณ์การออกแบบสนามบินต่างๆ ว่าสร้างออกมาจนแทบไม่เหลือจุดประสงค์หลักของสนามบิน ทั้งที่สนามบินเคยเป็นพื้นที่ที่ถูกจัดสรรอย่างมีเหตุผลมาก คือ การนำผู้โดยสารจากที่หนึ่งไปยังเครื่องบินได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขั้นตอนต่างๆ เคยเป็นไปอย่างสมเหตุสมผล ทั้งฝั่งขาเข้าขาออก จุดรับกระเป๋า ตรวจคนเข้าเมือง และอื่นๆ ปัจจุบันสนามบินกลายเป็นพื้นที่ขยะ เพราะผู้โดยสารจะถูกบังคับให้เข้าไปเดินในเส้นทางที่เต็มไปด้วยร้านค้าเพื่อให้มีการ shopping ในปริมาณที่มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ จนทำให้พื้นที่อัดไปด้วยผู้คนแทบจะตลอดเวลา
คูลฮาสเป็นที่รู้จักมากจากหนังสือของเขาที่กล่าวถึงนิวยอร์กซิตี้ ซึ่งเป็นเมืองที่มีประชากรหนาแน่นแออัด คูลฮาสกล่าวว่าการที่ประชากรโลกมากกว่าร้อยละ 50 มาอัดกันในเมืองใหญ่ที่กินพื้นที่โลกเพียงร้อยละ 2 นั้นเป็นปัญหามานาน ก่อนที่คนจะเพิ่งรู้สึกตัวเมื่อมีมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม
คูลฮาสยังกล่าวกับเพื่อนร่วมอาชีพว่า อาชีพสถาปนิกจะต้องปรับไปสู่อุปสงค์และความต้องการของมนุษย์ แต่ปัจจุบันโลกเต็มไปด้วยเครื่องจักรขนาดใหญ่ที่มักมีทรงเหลี่ยมและทึบที่มาอยู่ร่วมกับมนุษย์ สถาปนิกจำเป็นต้องมีความคิดด้านสถาปัตยกรรม โดยคำนึงถึงการมีอยู่ของเครื่องยนต์และหุ่นยนต์เป็นอันดับต้นๆ และควรสำรวจว่าหุ่นยนต์และสิทธิมนุษยชนควรจะอยู่ร่วมกันในอาคารเดียวกันอย่างไร
ด้านเลย์ลา แมคเคย์ ผู้อำนวยการศูนย์การออกแบบเมืองและสุขภาพจิตกล่าวว่า ช่วงหลายปีที่ผ่านมา ก่อนที่จะมีโรคระบาด คนก็เริ่มหันมาเรียกร้องให้เมืองต่างๆ หันมามุ่งเน้นการวางผังเมืองโดยคำนึงถึงเรื่องสุขภาพมากขึ้น เพื่อให้เมืองมีความยั่งยืน เช่นปี 2559 คณะกรรมการอุทยานแห่งชาติสิงคโปร์ได้สร้างสวนบำบัดโรคในสวนสาธารณะเพื่อบำบัดคุณภาพชีวิตด้านจิตใจและอารมณ์
ส่วนกรุงโตเกียวของญี่ปุ่นก็มีคนร่วมมือกันกับนักออกแบบผังเมืองที่จะทำให้โตเกียวเป็นเมืองสีเขียวมากยิ่งขึ้น เพื่อให้สุขภาพของคนในพื้นที่ดีขึ้น ถือเป็นการทดแทนการไม่ได้อยู่ชานเมืองหรือในชนบท
ในช่วงที่มีโรคระบาด จุดศูนย์กลางเมืองที่มีคนพลุกพล่านเป็นส่วนสำคัญของปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส ยิ่งเมืองใหญ่เท่าไหร่และเชื่อมโยงกันมากเท่าไหร่ ไวรัสก็จะแพร่ระบาดไปเร็วขึ้นเท่านั้น แมคเคย์กล่าวว่า เมืองในอนาคต น่าจะต้องมีการวางผังเมืองให้มีทางเท้ากว้างขึ้น เพื่อให้คนเดินห่างกันได้มากขึ้น ส่วนสวนสาธารณะก็เป็นพื้นที่ที่ทำให้คนพักผ่อนโดยอยู่ห่างกันได้ แต่ควรเพิ่มจุดล้างมือในสวนให้มากขึ้นเพื่อสุขอนามัยที่ดีขึ้น
ขณะที่รีเบกคา แคตซ์ ผู้อำนวยการร่วมศูนย์สำหรับวิทยาศาสตร์และความมั่นคงด้านสุขภาพสากล และโรเบิร์ต มุกกาห์ ผู้อำนวยการสถาบันอิการาเปของบราซิล ได้เขียนแสดงความเห็นว่า เมืองที่เป็นฮับด้านการเดินทางและการค้า มีประชากรอยู่หนาแน่นและมีความเชื่อมต่อกันระหว่างเมืองต่างๆ ยิ่งทำให้ความเสี่ยงที่จะเกิดโรคระบาดเพิ่มขึ้น โดยมีการประเมินว่าประชากรโลกประมาณร้อยละ 68 อาศัยจะอยู่ในมืองใหญ่ภายในปี 2593 ดังนั้น การออกแบบเมืองโดยคำนึงถึงสุขภาพและโรคระบาดเป็นเรื่องที่สำคัญมากขึ้น
ไม่ใช่ว่าเมืองใหญ่ทั้งหมดมีความเสี่ยงต่อโรคระบาดเท่าๆ กัน เมืองใหญ่ๆ ที่มีความร่ำรวย เช่น โคเปนเฮเกนมีพื้นที่สีเขียวจำนวนมากและมีทางจักรยาน ถือเป็นเมืองที่มีชื่อเสียงว่าคำนึงถึงสุขภาพมากที่สุดในโลก แต่ในหลายเมืองใหญ่เป็นการอพยพเข้าเมืองที่กำลังพัฒนา เช่น ไนโรบีของเคนย่า หรือกรุงธากาของบังกลาเทศ
เอลวิส การ์เซีย ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขและอาจารย์จากคณะการออกแบบของฮาร์วาร์ดกล่าวว่า การไม่มีสุขอนามัยที่ดีหรือไม่สามารถเข้าถึงน้ำสะอาดก็ทำให้มีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคและระบาดไปทั่ว และในอีก 20 ปีข้างหน้ามีการประเมินว่าประชากรโลกประมาณร้อยละ 20 จะอยู่ในสิ่งแวดล้อมเมืองแต่เข้าถึงน้ำสะอาดโครงสร้างพื้นฐานด้านสุขภาพและสุขอนามัยที่จำกัด
เมืองที่มีประชากรสะอาดมากเกินไปก็มักจะเป็นศูนย์กลางของการแพร่ระบาด แม้นิวยอร์กจะมีพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ เช่น เซ็นทรัลพาร์กในแมนฮัตตันหรือพรอสเปกต์พาร์กในบรุ๊กลิน แต่ประชากรก็ยังไม่สามารถจะเว้นระยะห่างจากการได้มากเพียงพอที่จะหลีกเลี่ยงการแพร่ระบาดของเชื้อเพราะในเมืองมีประชากรมากเกินไป
อีกหนึ่งเรื่องที่จำเป็นต้องคำนึงถึงในการวางผังเมืองในอนาคต คือ การสร้างความยั่งยืนด้านอาหาร ที่ผ่านมา อาหารถูกส่งมาจากทั่วทุกมุมโลกไปยังศูนย์กลางเมืองใหญ่ภายในวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมงหรือไม่กี่วัน และไวรัสก็สามารถเกาะมากับสินค้าเหล่านี้ได้ กรณีโควิด-19 ก็เชื่อว่ามาจากค้างคาวที่ขายในเมืองอู่ฮั่นของจีน ซึ่งเป็นศูนย์กลางคมนาคม
ดังนั้น เมืองต่างๆ ควรพึ่งพาตัวเองได้มีอาหารในท้องถิ่นเลี้ยงคนในพื้นที่ได้ ควรมีการทำฟาร์มในเมืองมากขึ้น คล้ายกับช่วง Great Depression และสงครามโลกครั้งที่ 2 ชาวอเมริกันจำนวนมากก็มีแปลงผักอยู่ในบ้าน คิดเป็นร้อยละ 44 ของการเพาะปลูกในสหรัฐฯ ในขณะนั้น
การ์เซียมองว่า เมืองในอนาคตควรจะเลี้ยงตัวเองได้ ไม่ใช่แค่เรื่องอาหาร แต่เมืองในอนาคตควรสามารถเข้าถึงทรัพยากรและสถานที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นห้างสรรพสินค้า สาธารณสุข หรือการออกกำลังกาย ได้ภายในเวลา 20 นาที ด้วยการเดินหรือการขี่จักรยาน ควรมีการทำงานจักรยานและทางเดินเพิ่มขึ้น เพื่อให้คนไม่ต้องไปแออัดในระบบขนส่งสาธารณะ