ไม่พบผลการค้นหา
กระทรวงพาณิชย์ ชี้ผลกระทบสหรัฐฯตัดสิทธิ GSP แค่ 1,800 ลบ. ยันไม่มีมาตรการตอบโต้ หวังแนวทางสันติคือเจราจา คาดอาเซียนซัมมิทต้น พ.ย.นี้ จะเป็นเวทีการเจรจาแรก

นายกีรติ รัชโน ผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ แถลงข่าวชี้แจงกรณีที่สหรัฐฯ ประกาศตัดสิทธิพิเศษทางภาษี (GSP) สำหรับสินค้านำเข้าจากไทยจำนวน 573 รายการ โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 25 เม.ย. 2563 ว่ากรณีดังกล่าวเกิดจากสหรัฐฯอ้างไทยไม่ได้คุ้มครองแรงงานตามมาตรฐานสากล ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการแบนสารเคมีตามที่ปรากฎเป็นข่าว หรือประเด็นการเมือง 

โดยตามกรอบสหรัฐฯจะต้องมีการทบทบสิทธิพิเศษดังกล่าวให้กับประเทศคู่ค้าอยู่แล้ว ซึ่งไทยได้สิทธิ GSP ตั้งแต่ปี 2519 เนื่องจาก GSP เป็นการให้สิทธิเพียงฝ่ายเดียว ดังนั้นสหรัฐฯสามารถทบทวนยกเลิกได้ทุกเมื่อ โดยมีการกำหนดไว้ 2 กรณี คือ มูลค่าค่านำเข้าสหรัฐฯเกินมูลค่าขั้นสูงที่สหรัฐฯกำหนดไว้ในแต่ละปีโดยในปี 2561 กำหนดไว้ที่ 185 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และส่วนแบ่งตลาดนำเข้าจากสหรัฐฯเกินร้อยละ 50 แต่มูลค่านำเข้าสหรัฐฯของสินค้าดังกล่าวต่ำกว่ามูลค่าขั้นต่ำที่สหรัฐฯกำหนด ซึ่งในปี 2561 เท่ากับ 24 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นอกจากนี้ยังรวมถึงประเด็นด้านการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา และด้านแรงงานที่เกิดขึ้นล่าสุด

นายกีรติ ยืนยันว่า ทางการไทยจะไม่มีแนวทางตอบโต้สหรัฐฯ หลังประกาศระงับสิทธิ์ GSP ดังกล่าว แต่จะใช้แนวทางในการเจรจาพูดคุยเพื่อให้สหรัฐฯ ทบทวนการให้สิทธิสินค้าทั้ง 573 รายการต่อไป ซึ่งที่ผ่านมาเคยมีประเทศที่ถูกระงับสิทธิชั่วคราวสามารถกลับมาได้รับสิทธิตามเดิม โดยคาดว่าจะใช้เวทีการประชุมอาเซียนซัมมิทเป็นเวทีแรกในการเจรจาก่อน และในสัปดาห์หน้าหรือภายในต้นเดือน พ.ย. 2562 จะมีการเรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

“เราคงไม่ตอบโต้อะไร คงใช้แนวทางสันติคือการเจรจา คิดว่าเวลา 6 เดือนเพียงพอที่จะสามารถเปิดการเจรจาและทำให้ไทยได้รับสิทธิ GSP ต่อ แต่หากเป็นไปไม่ได้ ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็มีการพูดคุยประเด็นนี้มาโดยตลอด ซึ่งแนวทางรองรับก็คือการหาตลาดใหม่ โดยเฉพาะประเทศตะวันออกกลาง” นายกีรติ กล่าว 

ทั้งนี้ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการถูกตัดสิทธิ GSP นายกีรติ ระบุว่า ในส่วนของสินค้าไทยทั้ง 573 รายการ มีประมาณร้อยละ 70 ใช้สิทธิ GSP คิดเป็นมูลค่าส่งออกไปสหรัฐฯประมาณ 40,000 ล้านบาทต่อปี แต่ยืนยันว่าการถูกระงับสิทธิจะไม่ได้ทำให้สินค้ากลุ่มนี้ไม่สามารถส่งออกไปสหรัฐฯได้ เพียงแต่สินค้าของไทยจะแพงขึ้นอีกจากที่ต้องจ่ายภาษีเพิ่มประมาณร้อยละ 4 หรือ ประมาณ 1,500-1,800 ล้านบาทต่อปี 

อย่างไรก็ตาม นายกีรติ ระบุว่า ก่อนหน้านี้สหภาพยุโรป (EU) และญี่ปุ่นได้มีการตัดสิทธิพิเศษทางภาษีของไทยไปก่อนสหรัฐฯ ซึ่งก็ไม่ได้มีผลกระทบมากต่อการส่งออกของไทยมากนัก โดยปัจจุบันสิทธิ GSP ที่ไทยได้รับจะเหลือแค่ สวิตเซอร์แลนด์ รัสเซีย และนอร์เวย์


ข่าวที่เกี่ยวข้อง