ไม่พบผลการค้นหา
เทคโนโลยีพร้อมรองรับการนำ ‘บล็อกเชน’ มาปรับใช้เพื่อพัฒนาการซื้อขายไฟฟ้า ขณะกฎหมายที่เกี่ยวข้องยังไม่รองรับ

'บล็อกเชน' เป็นเทคโนโลยีที่มีการพูดถึงอย่างกว้างขวางในช่วง 2-3 ปี ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับวงการสกุลเงินดิจิทัลที่ถูกนำมาประยุกต์ใช้ในการตรวจสอบการทำธุรกรรม อย่างไรก็ตาม ระบบการเก็บข้อมูลด้วยการยืนยันจากทุกคนในเครือข่ายอย่างบล็อกเชนเป็นหนึ่งในวิธีกระจายอำนาจที่อยู่ในมือกลุ่มบุคคลเพียงกลุ่มหนึ่งได้ดีที่สุดและสามารถนำมาใช้ได้กับแทบทุกอุตสาหกรรม

สำหรับอุตสาหกรรมการผลิตไฟฟ้า คนไทยคุ้นชินกับการเป็นผู้บริโภคจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มาเป็นระยะเวลายาวนาน และแม้จะมีเทคโนโลยีพลังงานสะอาดที่เอื้อให้ประชาชนสามารถผลิตไฟฟ้าใช้เองได้ อาทิ แผงโซลาร์เซลล์ แต่การก้าวข้ามจากบทบาทผู้บริโภคไปเป็นผู้ผลิตและผู้ขาย หรือที่เรียกกันว่า 'โพรซูเมอร์' (Prosumer) ดูเป็นเรื่องไกลตัวและการให้ความรู้จากภาครัฐก็ยังไม่ทั่วถึง

อย่างไรก็ตาม โครงการ T77 ที่ได้รับการพัฒนาร่วมกันจาก 3 ภาคส่วนคือ (1) บริษัทบีซีพีจี (2) บริษัทพาวเวอร์ เรดเจอร์ และ (3) บริษัทแสนสิริ อาจะเป็นหนึ่งในตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมว่า ภาคประชาชนและภาคเอกชนสามารถขึ้นมาเป็น “โพรซูเมอร์” ในชีวิตจริงได้ไม่ยาก หากมีการร่วมมือจากภาครัฐอย่างจริงจัง

‘บล็อกเชนไฟฟ้า’ ในชีวิตจริง

‘กลอยตา ณ ถลาง' ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายสื่อสารองค์กรของบีซีพีจี กล่าวว่า การพัฒนาโครงการ T77 ซึ่งบริษัทต้องการสร้างเป็นชุมชนสีเขียวต้นแบบ เป็นการร่วมมือกันของ (1) โรงเรียนนานาชาติบางกอกเพรพ (2) ฮาบิโตะ คอมมูนิตี้ รีเทล (3) คอนโด พาร์ค คอร์ท และ (4) โรงพยาบาลเดนเทิล

ทั้ง 3 สถานที่แรกจะมีการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนดาดฟ้าเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าไว้ใช้และขายต่อหากมีการผลิตเหลือ ขณะที่โรงพยาบาลเดนเทิลไม่ได้มีการติดตั้งแผงโซลาร์เนื่องจากมี่พื้นที่ไม่เพียงพอ แต่มีความตั้งใจในการหันมาใช้พลังงานสะอาด โดยกระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้จากแผงโซลาร์ที่ติดตั้งในโครงการทั้งหมดอยู่ที่ 635 เมกะวัตต์ โดยมีโรงเรียนนานาชาติบางกอกเพรพเป็นผู้ผลิตหลัก

ฮาบิโตะ.jpg

โดยปกติแล้ว กระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้ภายในโครงการจะมีราคาถูกกว่ากระแสไฟฟ้าที่ซื้อจาก กฟผ. ราวร้อยละ 12 ส่วนการซื้อขายกันเองระหว่างองค์กรภายในชุมชนจะขึ้นอยู่บนระบบบล็อกเชนของบริษัทพาวเวอร์ เรดเจอร์ ที่สามารถเชื่อมต่อกันได้บนแอปพลิเคชันในโทรศัพท์มือถือ

ระบบดังกล่าวอนุญาตให้ผู้ขายสามารถขายได้ในราคาที่ดีที่สุดและผู้ซื้อสามารถซื้อได้ในราคาที่เหมาะสมที่สุดตามกำลังผ่านแอปพลิเคชัน โดยการซื้อขายในระบบนี้ยังเป็นการลดการใช้พลังงานในช่วงเวลาที่มีการใช้พลังงานสูงไปโดยอัตโนมัติเนื่องจากราคาขายพลังงานในช่วงนั้นจะสูงขึ้นกว่าปกติ นอกจากนี้ระบบบล็อกเชนจะช่วยสร้างความมั่นใจเรื่องความถูกต้องของการซื้อขายเนื่องจากจะมีการบันทึกลงในระบบที่ไม่สามารถแก้ไขได้ทุก 15 นาที

ความเป็นไปได้ที่ยังเป็นไปไม่ได้

โครงการตัวอย่างจากภาคเอกชนอาจสร้างความหวังถึงความเป็นไปได้ที่ประชาชนจะผันตัวขึ้นมาเป็น ‘โพรซูเมอร์’ รวมทั้งยังเป็นการกระจายอำนาจด้านพลังงานที่อยู่ในมือของรัฐวิสาหกิจเพียงแห่งเดียวมาเป็นเวลานานถ้าสามารถดำเนินการได้จริง

สิ่งที่เกิดขึ้นภายในโครงการ T77 ที่มีการดำเนินการมาตั้งแต่เดือนสิงหาคม ปี 2561 แท้จริงแล้วเป็นเพียงการทดลองใช้ระบบเท่านั้น ยังไม่สามารถมีการซื้อขายโดยใช่เงินจริงได้เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายออกมารองรับอย่างเป็นทางการ

พลังงานแสงอาทิตย์-ฮาบิโตะ มอลล์-แสนสิริ-บีซีพีจี

ความหวังในการผลักดันการพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานสะอาดจึงตกไปอยู่บนการตัดสินใจของภาครัฐ ซึ่ง 'ฐิติพร สังข์เพชร' หัวหน้ากองวางแผนพัฒนาระบบไฟฟ้ารูปแบบใหม่จาก กฟผ. กล่าวว่า กฟผ. แม้จะเป็นรัฐวิสาหกิจแต่ก็ทราบดีถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในวงการพลังงานและพร้อมที่จะร่วมมือพัฒนากับภาคเอกชน

เธอชี้ให้เห็นภาพว่า กฟผ. เห็นถึงการเข้ามาแทรกแซงจากทั้ง 'โพรซูเมอร์' และ พลังงานสะอาด ซึ่งเป็นภัยต่อระบบของ กฟผ. แต่ก็ไม่สามารถห้ามไม่ให้มีการพัฒนาดังกล่าวได้เนื่องจากไทยเป็นประเทศเสรี เพราะฉะนั้นจึงต้องหาทางออกก่อนที่ตัวระบบจะโดนแทรกแซงอย่างที่เคยเกิดขึ้นกับวงการโทรทัศน์

"เราไม่จำเป็นต้องรอนโยบายจากภาครัฐ เราเห็นการเปลี่ยนแปลง และเราต้องเตรียมพร้อม" ฐิติพร กล่าว

นอกจากความไม่ชัดเจนด้านกฎหมาย โครงสร้างพื้นฐานด้านสมาร์ทกริดหรือระบบบริหารการใช้ไฟฟ้าด้วยเทคโนโลยีด้านการสื่อสารของไทยก็ยังไม่สมบูรณ์ และยังต้องใช้การพัฒนาอีกมากเพื่อให้สามารถเกิดการซื้อขายได้จริง

สมาร์ทกริด.jpg

'อิซาเบล เดอ โลฟวิงฟอซ' ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายพลังงานและสภาพภูมิอากาศ กล่าวว่า ระบบการจัดการไฟฟ้าที่ฉลาดจะช่วยดูแลการซื้อขายไฟฟ้าได้ตามเวลาจริง ส่งผลให้มีไฟฟ้าเหลือทิ้งน้อยลง พร้อมยกตัวอย่างการซื้อขายไฟฟ้าของประชาชนผ่านสมาร์ทกริดในประเทศเยอรมนีและสหราชอาณาจักร ซึ่งเมื่อนำตัวระบบมาเปรียบเทียบกับไทยแล้วยังมีช่องว่างด้านการพัฒนาอีกมาก

ในการพัฒนาอุตสาหกรรมใดๆ ในประเทศ จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน อย่างไรก็ตาม สำหรับการผลิตไฟฟ้าในประเทศไทย แม้เอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศล้วนตื่นตัวเตรียมพร้อม แต่มีประชาชนเพียงบางส่วนเท่านั้นที่มีความรู้และความเข้าใจ อีกทั้งรัฐบาลยังเดินหน้าผลักดันอย่างเชื่องช้า จึงเป็นเหตุผลให้ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยียังไม่สามารถนำมาใช้ได้จริงกับการผลิตไฟฟ้าของไทย