ไม่พบผลการค้นหา
นายกฯแพทองธาร เปิดงาน 'Soft Power Food กับการพัฒนาประเทศไทย' สร้างเชฟอาหารไทย เป็นทูตวัฒนธรรม เผยแพร่สู่สากล

วันนี้ (19 ธันวาคม 2567) นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์สาขาอาหาร และกล่าวในหัวข้อ “Soft Power Food” กับการพัฒนาของประเทศไทย โดยมีนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ประธานคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ หน่วยงานภาคีเครือข่าย 8 หน่วยงาน คณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ผู้บริหารหน่วยงานภาครัฐ เจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และสื่อมวลชนเข้าร่วม

S__6717615_0.jpg

นายกรัฐมนตรีรับฟังภาพรวมแนวทางการขับเคลื่อน Soft Power ของประเทศไทย จากนายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ประธานคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ และนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม รายงานแนวทางการขับเคลื่อน Soft Power อาหารว่า รัฐบาลไทยตระหนักถึงความสำคัญของซอฟต์พาวเวอร์ในฐานะเครื่องมือที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านนโยบายหนึ่งครอบครัวหนึ่งซอฟต์พาวเวอร์ One Family One Soft Power : OFOS ด้วยการขับเคลื่อนนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ 14 สาขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารไทย เป็นหนึ่งในเอกลักษณ์ที่ทรงพลังที่สุด เพราะเป็นตัวแทนของวัฒนธรรม วิถีชีวิต และความคิดสร้างสรรค์ กระทรวงอุตสาหกรรมผลักดันโครงการดังกล่าวและมีเป้าหมายสร้างงานและอาชีพกว่า 75,000 ตำแหน่ง เพิ่มรายได้ให้กับเศรษฐกิจของประเทศ กว่า 3,500 ล้านบาท ซึ่งภายในงานยังได้จัดให้มีการบูรณาการความร่วมมือระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรมกับหน่วยงานภาคีเครือข่าย 8 หน่วยงาน เพื่อผลักดันซอฟต์พาวเวอร์อาหารไทยให้ก้าวไกลสู่ระดับโลก โดยเฉพาะในด้านการสร้างมาตรฐานคุณภาพอาหาร การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ และการสนับสนุนการส่งออกสินค้าอาหารไทย

S__6717630_0.jpg

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรี กล่าวเปิดโครงการและปาฐกถาในหัวข้อ “Soft Power Food กับการพัฒนาประเทศไทยว่า วันนี้เป็นวันสำคัญ เป็นจุดเริ่มต้นของการยกระดับอุตสาหกรรมอาหารของประเทศไทย อาหารไทยให้เป็นที่รู้จักดีทั่วโลก จึงต้องการจะยกระดับอุตสาหกรรมดังกล่าวให้มีหลักเกณฑ์ สามารถให้คนทุกพื้นที่พัฒนาตัวเองได้อย่างเป็นระเบียบ จากโครงการ 1 หมู่บ้าน 1 เชฟอาหารไทย สามารถพัฒนาศักยภาพของประชาชนที่มีความสามารถในด้านการทำอาหารให้มีโอกาสเรียนรู้เป็นเชฟมืออาชีพ เมื่อเข้าหลักสูตรในโครงการฯ จบแล้วจะเป็นเชฟมืออาชีพสามารถสร้างอาชีพสร้างรายได้ให้กับตัวเองได้ และยกระดับอาชีพของตัวเองไปอีกขั้นหนึ่ง โดยหวังให้เชฟทุกคนที่เข้าอบรม จะนำความรู้ไปเผยแพร่รสชาติของอาหารไทยในแบบที่เป็นต้นตำรับจริงๆ ซึ่งอาหารไทยมีหลายแบบที่อาจเคยชิมกันมาหมดแล้ว แต่บางทีก็ไม่ทราบเรียกว่าอะไร ทั้งนี้ เชฟที่ผ่านหลักสูตรจัดรูปแบบอาหารไทยได้จัดรูปแบบอาหารไว้หลากหลาย ทั้งอาหารโบราณ อาหารชาววัง อาหารประจำถิ่นพื้นที่ แต่ละภาคมีรสชาติที่แตกต่างกันออกไป เชื่อว่าคนไทยมีฝีมือในการทำอาหาร หลายคนทำอาหารที่บ้านอาศัยองค์ความรู้ที่สืบทอดต่อกันมาจากครอบครัวของตัวเอง พอได้เข้าเรียนหลักสูตรจะทำให้รู้วิธีที่ และหลักการทำอาหารที่ได้รับรองผ่านขั้นตอน ผ่านองค์ความรู้ที่เป็นระบบอันจะช่วยส่งเสริมให้หางานได้ง่ายขึ้น ซึ่งเมื่อผลิตเชฟอาหารไทยจะช่วยสนับสนุนให้ไปทำงานในต่างประเทศ หรือเปิดร้านอาหารไทยในต่างประเทศได้ นอกจากเป็นการสร้างงานสร้างรายได้ให้กับคนไทยแล้วยังเป็นการส่งทูตวัฒนธรรมไปยังประเทศต่าง ๆ

“ตนเชื่อว่าหลายประเทศบอกว่าอาหารไทย คือ อาหารโปรดของคนต่างชาติหลายคน เมื่อมีหลักสูตรไปเผยแพร่วัฒนธรรมไทยอย่างถูกต้อง ก็เหมือนเป็นตัวแทนของคนไทย ที่ส่งวัฒนธรรมไป เช่น การจัดสำรับ รูปแบบ อาหารสูตรการปรุงการทานแบบคนไทย ทำอย่างไรเป็นอย่างไร ฉะนั้นการที่เราทำเชฟอาหารไทยที่มีคุณภาพส่งไปเมืองนอก เพื่อเผยแพร่สิ่งที่เป็นประโยชน์ ทั้งอาหาร และวัฒนธรรม” นายกรัฐมนตรี ระบุ

S__6717632_0.jpg

นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อไปว่า นอกจากเริ่มทำเชฟอาหารไทย สิ่งที่ต้องทำต่อไปคือการส่งออกอาหารไทย ไม่ว่าจะเป็นวัตถุดิบ พืชผลทางการเกษตร จะต้องมีการพัฒนาเรื่องเทคโนโลยีไม่ว่าจะเป็นการแช่แข็ง กับการถนอมอาหาร เพื่อให้วัตถุดิบเหล่านั้นหรือเครื่องปรุงต่าง ๆ ของไทยมีอายุนานขึ้น โดยรสชาติเหมือนเดิมเหมือนในวันแรกที่ทานในเมืองไทย ถ้าหากพัฒนาตรงนี้ทุกเมนูทุกสูตร จะสามารถส่งออกให้คนต่างชาติได้ลิ้มลองลิ้มรสอาหารไทยจริงๆ จากประเทศไทย ตรงนี้จะพัฒนาทั้งคนทั้งอุตสาหกรรม พัฒนาเกษตรกรไปถึงภาคอุตสาหกรรม ที่จะต้องทำงานอย่างต่อเนื่องแบบบูรณาการเพื่อส่งออกคุณภาพอาหารและเชฟที่ดีให้ต่างชาติได้รับรู้ และให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางหรือเป็นครัวของโลก ซึ่งจากการที่ตนเองได้เดินทางไปต่างประเทศ พูดเรื่องอาหารไทยได้อย่างภาคภูมิใจว่าประเทศไทย พร้อมที่จะเป็นความมั่นคงทางอาหารให้ทั่วโลก บางประเทศที่มีความไม่สงบภายในประเทศหรือการเกษตรไม่เพียงพอ แต่ประเทศไทยสามารถเป็นแหล่งเก็บอาหารของทุกประเทศได้ ถ้านวัตกรรมของไทยสามารถถนอมอาหารได้นานขึ้น ได้อาหารจากต้นฉบับคนไทย คุณภาพเหมือนเดิม ที่สำคัญประเทศไทยพร้อมส่งออกตลอดทั้งปี นี่คือข้อดีที่ประเทศไทยเราได้เปรียบ ฉะนั้นการทำทุกอย่างเหล่านี้ เป็นการส่งเสริมอย่างต่อเนื่องทั้งระบบ และตรงนี้คือยุทธศาสตร์ที่รัฐบาลมองเห็นว่าเราจะผลักดันต่อเนื่องอย่างไร

“Soft Power ในเรื่องอาหาร เป็นสิ่งที่เหมือนกับการพูดแล้วทุกคนรู้จักได้ง่าย แต่จริง ๆ รายละเอียดในการพัฒนามีอีกมาก และอุตสาหกรรมอาหารสามารถเติบโตอย่างเต็มรูปแบบได้อีกมาก รัฐบาลพร้อมสนับสนุนอย่างเต็มที่ และต้องขอบคุณกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน สถาบันพัฒนาคุณวุฒิวิชาชีพ และสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ ที่ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงรวมถึงหน่วยงานของภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ที่ร่วมกันยกระดับอุตสาหกรรมของอาหารไปด้วยกัน ผลักดันอุตสาหกรรมอาหารไปให้ไกลกว่านี้ ให้ดังทั่วโลกให้เขารู้จักคนไทย อาหารไทย เรามีดีอย่างไรบ้าง” นายกรัฐมนตรี กล่าว

S__6717613_0.jpg

จากนั้น นายกรัฐมนตรีเดินชมกิจกรรมในงานโซน Food Station ที่นำเสนอ 16 เมนูพิเศษ โดยเชฟชื่อดัง โซนศูนย์อัจฉริยะด้านอาหาร นำเสนอผลิตภัณฑ์อาหารและวัตถุดิบแปรรูปจากชุมชน แสดงนวัตกรรมและศักยภาพของอาหารท้องถิ่น โซนร้านอาหารเชฟชุมชนอาหารถิ่นอาหารไทย เสิร์ฟจริง ชิมจริง กับ 4 เมนูเด็ด จาก 4 ภาค และโซนนวัตกรรมอาหารและเครื่องดื่มไทยสู่ตลาดโลก โดยนายกรัฐมนตรีได้แวะชิมน้ำกระเจี๊ยบผสมมะนาว พร้อมสอบถามว่า ผสมน้ำตาล หรือไม่ เพราะรสไม่หวานแหลมเกินไป พร้อมชมว่า “รสชาติอร่อย” นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้ชวนคณะผู้จัดงานรับประทานทองม้วนกรอบ รสทุเรียนและได้นำหม้อแกงชีสเค้ก รสทุเรียน ขนมหวานขึ้นชื่อใน จ.เพชรบุรี ของโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารไทยเชิงสร้างสรรค์กลับไปรับประทานอีกด้วย

S__6717616_0.jpg