สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดงาน วันอนามัยสิ่งแวดล้อมไทย ปี 2564 ภายใต้หัวข้อ “อนามัยสิ่งแวดล้อมปลอดภัย มิติใหม่สู่ความท้าทายในอนาคต” การจัดงานวันอนามัยสิ่งแวดล้อมไทยในปีนี้ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับหน่วยงานภาคี 6 หน่วยงาน ได้แก่ สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ กรมควบคุมมลพิษ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น สมาคมอนามัยสิ่งแวดล้อมไทย และสมาคมอนามัยแห่งประเทศไทย ร่วมจัดงานวันอนามัยสิ่งแวดล้อมไทย
กิจกรรมสำคัญประกอบด้วย กิจกรรมรณรงค์ด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม และการจัดงานวันอนามัยสิ่งแวดล้อมไทย ภายในงาน มีการเสวนาวิชาการ เรื่อง “อนามัยสิ่งแวดล้อมไทย มิติใหม่สู่ความท้าทายในอนาคต” และ “เปิดมิติเทคโนโลยี นวัตกรรมอนามัยสิ่งแวดล้อม เตรียมพร้อมสู่ทศวรรษการเปลี่ยนแปลง” ณ กรมอนามัย โดยมี นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย นายแพทย์บัญชา ค้าของ รองอธิบดีกรมอนามัย เถลิงศักดิ์ เพ็ชรสุวรรณ รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กิตติพงษ์ เกิดฤทธิ์ ผู้อำนวยการกองสาธารณสุขท้องถิ่น กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เอกชัย วารินศิริรักษ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ ประพัทธ์ พงษ์เกียรติกุล นายกสมาคมส่งเสริมคุณภาพอากาศในอาคาร (IAQ) ร่วมเสวนา
สาธิต กล่าวว่า วันที่ 4 ก.ค. ของทุกปี เป็น “วันอนามัยสิ่งแวดล้อมไทย” โดยในปีนี้ กระทรวงสาธารณสุข รณรงค์ภายใต้หัวข้อ “อนามัยสิ่งแวดล้อมไทย มิติใหม่สู่ความท้าทายในอนาคต” (New Era of Thai Environmental Health towards Future Challenges) เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ทั่วโลกที่กำลังเผชิญกับการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ส่งผลกระทบในวงกว้างทั้งด้านสุขภาพอนามัยและปัญหาอนามัยสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะปริมาณมูลฝอยทางการแพทย์เพิ่มขึ้นทั่วโลก สำหรับประเทศไทยพบปริมาณมูลฝอยติดเชื้อ ซึ่งเกิดจากการตรวจวินิจฉัย รักษาพยาบาล การกักกันผู้ติดเชื้อ รวมถึงมูลฝอยจากการให้บริการฉีดวัคซีน ในช่วงเดือน ม.ค. ถึง เม.ย 2564 พบปริมาณมูลฝอยติดเชื้อเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 40.9 ตันต่อวัน หรือเพิ่มขึ้น ร้อยละ 29.7 โดยเฉพาะในเดือน เม.ย. เพียงเดือนเดียวพบปริมาณมูลฝอยติดเชื้อสูงที่สุดเฉลี่ย 178 ตันต่อวัน นอกจากนี้ยังมีปัญหามลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะ ฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ซึ่งในปี 2563 มีประชากรกลุ่มเสี่ยงถึง 15 ล้านคน หรือ 1 ใน 5 ของประชากรทั้งหมด มีโอกาสได้รับผลกระทบต่อสุขภาพทั้งระยะสั้นและระยะยาว การเฝ้าระวังป้องกันความเสี่ยงสุขภาพของประชาชนจึงต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ด้วยการสร้างความร่วมมือและบูรณาการทำงานกับทุกภาคส่วนในการจัดการ ด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
ทางด้าน นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า แนวทางการจัดการมูลฝอยติดเชื้อ ในครัวเรือนหรือชุมชน กรณีพบผู้ติดเชื้อหรือกลุ่มเสี่ยง เพื่อลดการเกิดมูลฝอยติดเชื้อและลดการแพร่กระจายของเชื้อ โควิด–19 นั้น หากในพื้นที่ที่ระบบการเก็บขนส่งมูลฝอยติดเชื้อไม่สามารถเข้าถึงได้ให้ใช้วิธีการดังนี้
1) เก็บรวบรวมและ ทำลายเชื้อ โดยใส่ถุงขยะ 2 ชั้น ถุงใบแรกที่บรรจุมูลฝอยติดเชื้อ ให้ราดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อหรือน้ำยาฟอกขาว จากนั้นมัดปากถุงให้แน่น แล้วฉีดพ่นด้วยสารฆ่าเชื้อ (สารโซเดียมไฮโปรคลอไรท์ 5,000 ppm หรือแอลกอฮอล์ 70 เปอร์เซ็นต์) บริเวณปากถุงแล้วซ้อนด้วยถุงขยะอีก 1 ชั้น แล้วมัดปากถุงชั้นนอกให้แน่น และฉีดพ่นด้วยสารฆ่าเชื้ออีกครั้ง
2) เคลื่อนย้ายไปพักยังที่พัก ที่จัดไว้เฉพาะ เพื่อรอประสานให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมาเก็บขนไปกำจัดอย่างถูกต้อง
3) ภายหลังจัดการมูลฝอยแล้วล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ทันที
สำหรับประชาชนทั่วไปหากต้องทิ้งหน้ากากอนามัย ควรปฏิบัติตามขั้นตอนดังต่อไปนี้ เริ่มจากถอดหน้ากาก โดยจับสายรัดและถอดหน้ากากอนามัยจากด้านหลัง จากนั้นให้พับหรือม้วนหน้ากากส่วนที่สัมผัสกับใบหน้าเข้าหากัน จนมีขนาดเล็กแล้วมัดด้วยสายรัดให้แน่น โดยหากสถานที่นั้นมีจุดทิ้งหน้ากากไว้เป็นการเฉพาะ ให้ทิ้งลงในถังหรือภาชนะนั้น กรณีสถานที่นั้นไม่มีจุดสำหรับทิ้งหน้ากากอนามัย ให้นำหน้ากากอนามัยที่พับแล้วใส่ถุงพลาสติก จากนั้นมัดหรือปิดปากถุงให้แน่นก่อนทิ้งลงในถังหรือภาชนะรองรับขยะทั่วไปที่มีฝาปิดมิดชิด เพื่อนำไปกำจัดอย่างถูกต้อง และต้องล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่และน้ำทุกครั้งหลังการทิ้ง