นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) กล่าวว่า เมื่อวานนี้ (16 ก.พ. 2563) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) ได้จัดการประมูลคลื่นความถี่ ในย่าน 700 MHz 2600 MHz และ 26 GHz โดยมีผู้เข้าร่วมประมูล 5 ราย ได้แก่ บริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด หรือ TUC, บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน), บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด หรือ DTN, บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด หรือ AWN ซึ่งการประมูลได้เริ่มต้นในเวลา 09.30 น. และเสร็จสิ้นลงในเวลา 15.05 น. ใช้เวลาประมูลทั้งสิ้น 5 ชั่วโมง 35 นาที
โดยผลการประมูลรวม 3 คลื่นความถี่ รวมเป็นเงินประมูลทั้งสิ้น 100,521 ล้านบาท แบ่งเป็น
สำหรับผลการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 700 MHz ซึ่งเป็นคลื่นแรกที่มีการประมูลครั้งนี้ จำนวน 3 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 2x5 MHz ผลปรากฏว่ามีผู้ประมูล 3 ใบอนุญาต ได้แก่ CAT ได้ 2 ชุดคลื่นความถี่ เงินประมูลรวม 34,306 ล้านบาท และ AWN ได้ 1 ชุดคลื่นความถี่ เงินประมูลรวม 17,154 ล้านบาท
จากนั้นได้ประมูลคลื่นความถี่ย่าน 2600 MHz เป็นคลื่นที่สองจำนวน 19 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 10 MHz ผลปรากฏว่ามีผู้ประมูล 19 ใบอนุญาต ได้แก่ AWN ได้ 10 ชุดคลื่นความถี่ เงินประมูลรวม 19,561 ล้านบาท และ TUC ได้ 9 ชุดคลื่นความถี่ เงินประมูลรวม 17,873 ล้านบาท
ส่วนคลื่นความถี่ย่าน 26 GHz เป็นคลื่นสุดท้ายที่นำมาประมูลทั้งสิ้น 27 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 100 MHz แต่มีการประมูลออก 26 ใบอนุญาต ได้แก่ AWN ได้ 12 ชุดคลื่นความถี่ เงินประมูลรวม 5,345 ล้านบาท TUC ได้ 8 ชุดคลื่นความถี่ เงินประมูลรวม 3,577 ล้านบาท ทีโอที ได้ 4 ชุดคลื่นความถี่ เงินประมูลรวม 1,795 ล้านบาท และ DTN ได้ 2 ชุดคลื่นความถี่ เงินประมูลรวม 910 ล้านบาท
"วันนี้ถือเป็นนิมิตรหมายที่ดีสำหรับประเทศไทยที่จะก้าวเข้าสู่เทคโนโลยี 5จี ซึ่งจะนำไทยก้าวล้ำนำอาเซียนและสำนักงาน กสทช. พร้อมสนับสนุนทุกภาคส่วนเต็มที่ ผมเชื่อว่าเทคโนโลยี 5จี จะช่วยขับเคลื่อนภาคการผลิต และภาคบริการให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนและประเทศได้ โดยในวันที่ 19 ก.พ. นี้ จะมีการประชุม กสทช. วาระพิเศษเพื่อรับรองผลการประมูล" นายฐากร กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :